การแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัย ครั้งที่ 44 “สุรนารีเกมส์” ที่ ม.เทคโนโลยีสุรนารี จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 27 ก.พ. ไฮไลต์อยู่ที่ ว่ายน้ำ ชิง 6 ทอง ในประเภท กบ 200 เมตรหญิง “หมอนอิง” เพียงขวัญ ปะวะโพตะโก เงือกสาวทีมชาติไทย จากจุฬาฯ ล้มแชมป์เก่าและเจ้าของสถิติเดิมอย่าง พรสุดา ไวนิยมพงศ์ จากจุฬาฯ แตะขอบสระเป็นคนแรกด้วยเวลา 2.32.06 นาที ทำลายสถิติของพรสุดา ที่ทำไว้เมื่อ “กันเกราเกมส์” 2.38.47 ลงได้สำเร็จ ทำให้เพียงขวัญ คว้าเหรียญทองที่ 3 และทำลายสถิติในทุกรายการที่ตัวเองลงแข่งได้สำเร็จ ส่วนเหรียญเงินเป็นของ ชะวัลนุช สลับลึก จากม.ธุรกิจบัณฑิตย์ 2.37.33 นาที และเหรียญทองแดง พรสุดา 2.44.03 นาที
หมอนอิง กล่าวว่า พอใจกับผลการแข่งขันของตัวเองมาก เนื่องจากเพิ่งกลับมาซ้อมได้เดือนครึ่ง แต่ทำสถิติได้เกือบเท่ากับที่ตัวเองเคยทำเอาไว้ เชื่อว่าจะช่วยสร้างความมั่นใจก่อนไปแข่งขันซีเกมส์ กลางปีนี้ที่ประเทศมาเลเซียอย่างแน่นอน
ส่วนผลรายการอื่นๆ ฟรีสไตล์ 100 เมตรหญิง ทอง เบญจพร ศรีพนมธร(จุฬาฯ) 59.19 วินาที, ฟรีสไตล์ 100 เมตรชาย ทอง กิตติพัฒน์ ภิพิมพ์นันท์(สพล.) 52.28 วินาที, ฟรีสไตล์ 1,500 เมตร ชาย ทอง พีระพัฒน์ เลิศสถาพรสุข(จุฬาฯ) 16.01.44 นาที, เดี่ยวผสม 200 เมตรชาย ทอง ธนกร อุดมธนกุลชัย(ม.บูรพา) 2.10.41 นาที, กรรเชียง 100 เมตรหญิง ทอง อารยา วงษ์วาท(จุฬาฯ) 1.04.82 นาที สรุปทีมเงือกสาวฉลามหนุ่มจุฬาฯ เก็บเพิ่มอีก 4 เหรียญทอง ทำให้ผ่านไปแล้ว 5 วันจาก กวาดไปแล้วรวม 24 เหรียญทอง
มวยไทยสมัครเล่น ชิง 5 ทอง รุ่น 48 กก.หญิง พัชรา อุ่นกลม (ม.นครพนม) ชนะ ทักษพร อินทะชัย (ม.กรุงเทพธนบุรี), รุ่น 51 กก.หญิง วรรัตน์ ชาวพงษ์ (ม.มหาสารคาม) ชนะ พรรณลักษณ์ คงแสงมหา (มรภ.หมู่บ้านจอมบึง), รุ่น 54 กก.หญิง ปานเนตร แก้วภมร (ม.มหาสารคาม) ชนะ อารียา สาโหด (ม.กรุงเทพธนบุรี), รุ่น 57 กก. หญิง ประกายรัตน์ วงสุธา (สพล.) ชนะ นภาพร เรืองสุวรรณ (ม.รัตนบัณฑิต), รุ่น 59 กก.หญิง เกศินี ทับไทร (สพล.) ชนะ ขวัญกมล ทองกลาง (มรภ.บ้านสมเด็จเจ้าพระยา)
เซปักตะกร้อ ชิง 2 ทอง ประเภทคู่หญิง ศศิวิมล จันทสิทธิ์ นักเซปักตระกร้อทีมชาติไทย คู่กับ ปวีณา จัดจอหอ จาก ม.กรุงเทพธนบุรี ล้มแชมป์เก่า สพล. ที่มี ปริยาภัทร สาโถน และ สุภาวดี วงศ์คำจันทร์ คู่นักหวดลูกพลาสติกทีมชาติไทย ไปแบบสบายๆ 2-0 เซ็ต 21-9, 21-10 คว้าเหรียญทองตะกร้อเหรียญแรกให้กับ ม.กรุงเทพธนบุรี ส่วนที่ 3 เป็นของ ม.รามคำแหง และ ม.มหาสารคาม
หลังการแข่งขัน ศศิวิมล กล่าวว่า ดีใจมากที่สามารถช่วยคว้าเหรียญทองได้สำเร็จ เพราะมาเล่นให้กับ ม.กรุงเทพธนบุรี เป็นครั้งแรก และถือเป็นการปลดล็อคคว้าเหรียญทองให้ ม.กรุงเทพธนบุรี หลังจากไม่ได้เหรียญทองมากว่า 2 ปีแล้ว
ด้านประเภทคู่ชาย “แชมป์เก่า” ม.กรุงเทพ ที่มีคู่นักหวดทีมชาติไทยอย่าง กรกฎ กมลภพ และ จุฑาวัฒน์ ศรีทอง โชว์ฟอร์มได้สมราคา เอาชนะคู่ของ ประสิทธิ์พงษ์ โพธิ์เศษ และ จำเนียร รักษาเมือง จาก มรภ.อุดรธานี 21-5, 21-13 โดย ม.กรุงเทพ คว้าเหรียญทองไปครองได้อีกสมัย ส่วนที่ 3 เป็นของ ม.รัตนบัณฑิต และ สพล.
รักบี้ฟุตบอล ประเภททีม 7 คน ชาย รอบรองชนะเลิศ ม.ธรรมศาสตร์ ที่ขนผู้เล่นระดับดาวรุ่งทีมชาติไทยมาลงแข่ง เอาชนะม.กรุงเทพไปได้ 21-12 จุด ผ่านเข้าไปชิงชนะเลิศกับม.รัตนบัณฑิต ที่เอาชนะจุฬาฯ ไปได้ 17-12 จุด ก่อนที่ในรอบชิงชนะเลิศ จะเป็นม.ธรรมศาสตร์ที่เฉือนเอาชนะ ม.รัตนบัณฑิต ไปได้ 7-5 จุด คว้าเหรียญทองไปครอง
หลังเกม รศ.ดร.รุธิร์ พนมยงค์ ผู้จัดการทีมรักบี้ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ก่อนมาแข่งขันตั้งเป้าเอาไว้เพียงการผ่านเข้าถึงรอบตัดเชือกให้ได้ในทุกประเภท ซึ่งการที่ทีม 7 คนชาย สามารถทะลุขึ้นมาคว้าเหรียญทองได้นั้นก็ถือว่าเกินเป้าหมายแล้ว ส่วนประเภททีม 15 คนนั้น ก็เข้าถึงรอบรองชนะเลิศเช่นกัน ส่วนจะได้เหรียญหรือไม่ คิดว่าคงอยู่ที่ใครผิดพลาดน้อยกว่ากันมากกว่า เพราะที่หลุดเข้ามาทั้งจุฬาฯ หรือม.กรุงเทพ ก็ฝีมือเท่ากันหมด
ขณะที่ประเภททีม 7 คนหญิง รอบชิงชนะเลิศ สพล. ชนะ มรภ.นครราชสีมา 43-7 จุด คว้าเหรียญทองไปครอง ส่วนเหรียญทองแดงเป็นของจุฬาฯ และม.กรุงเทพ
ยูยิตสู ชิง 6 ทอง ประเภทต่อสู้ บุคคลชาย 77 กก. บรรพต เลิศไธสง (สพล.) ชนะ จตุพล ลือพัฒนสุข (ม.รามคำแหง) 50-0, บุคคลชาย 85 กก. สุขณธี สุนทรา (ม.เกษมบัณฑิต) ชนะ ทัศพล พระสว่าง (สพล.) 50-0, บุคคลชาย 94 กก.ขึ้นไป ณัฐดนัย เนตรทิพย์ (ม.กรุงเทพธนบุรี) ชนะ ศักดิ์สิทธิ์ แก้วจุลศรี (สพล.) 19-4, ประเภทจับล็อค บุคคลหญิง 70 กก. พิสินี อาทโรประยูร (ม.ธรรมศาสตร์) ชนะ เบญญาภา อ่ำศรี (มรภ.เพชรบูรณ์) 16-2, บุคคลหญิง 70 กก.ขึ้นไป อารีวรรณ จันทร์ศรี (ม.เกษมบัณฑิต) ชนะ ธันยพร มังคละคีรี (ม.สวนดุสิต) 7-0, ศิลปะการต่อสู้ หญิง ม.เกษมบัณฑิต ชนะ ม.สวนดุสิต 46-38
ส่วน “หน่อง” ปลื้มจิตร์ ถินขาว นักวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย ซึ่งผันตัวมาเป็นโค้ชให้กับทีมวอลเลย์บอลม.กรุงเทพ ร่วมกับ “กิ๊ฟ” วิลาวัณย์ อภิญญาพงศ์ นักตบสาวเพื่อนร่วมทีมชาติ เปิดเผยว่า สำหรับเป้าหมายของทีมตบลูกยางม.กรุงเทพ คือการผ่านเข้ามาถึงรอบมหกรรมให้ได้เท่านั้น เนื่องจากในรอบคัดเลือกที่ผ่านมาต้องเจอศึกหนักอย่าง จุฬาฯ แต่ก็สามารถเอาชนะมาได้และมาถึงรอบมหกรรมได้ ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว ทั้งนี้สมัยก่อนตอนที่ยังเล่นอยู่ ทีมม.กรุงเทพสามารถคว้าแชมป์มาได้หลายครั้ง แต่ตอนนี้ทีมถือว่าอยู่ในช่วงกำลังสร้างทีมขึ้นมาใหม่ ตนก็พยายามดึงน้องๆ ที่อยู่ในทีมชาติมาเข้าร่วมทีมหลายคน ครั้งนี้อาจจะยังไม่ถึงกับคว้าแชมป์ได้ แต่ก็หวังว่าสักวันหนึ่งจะพาทีมวอลเลย์บอลของม.กรุงเทพกับมาคว้าแชมป์ให้ได้อีกครั้ง
ขณที่ ศ.ดร.ประสาท สืบค้า อธิการบดีม.เทคโนโลยีสุรนารี กล่าวว่า จนถึงตอนนี้ผ่านมาเกินครึ่งทาง มทส. ยังเก็บได้เพียง 4 เหรียญทองเท่านั้น ความหวังที่จะทำให้ได้ถึง 16 ทองคงเป็นไปไม่ได้แล้ว อย่างไรก็ตามช่วงเวลาที่เหลือยังหวังว่า มทส. จะเก็บเหรียญเพิ่มได้อีกไม่มากก็น้อย
ศ.ดร.ประสาท เผยอีกว่า จากการเป็นเจ้าภาพจัดกีฬามหาวิทยาลัยแห่งชาติ ทำให้จังหวัดนครราชสีมาคึกคักขึ้นมาก เพราะมีนักกีฬา เจ้าหน้าที่ และญาติพี่น้อง หลั่งไหลเข้ามาร่วม 2 หมื่นคน โดยเฉพาะที่พัก โรงแรมต่างๆถูกจับจองจนเต็มในช่วงเวลานี้ อย่างไรก็ตามจังหวัดนครราชสีมา ไม่ได้เป็นจังหวัดท่องเที่ยวอย่างเชียงใหม่ หรือภูเก็ต รวมถึงกลุ่มคนที่มาส่วนใหญ่ก็เป็นเพียงนักศึกษา จึงไม่ค่อยมีกำลังจับจ่ายใช้สอยมากนัก ตัวเลขเงินหมุนเวียนในจังหวัดจึงขยับค่อนข้างน้อย
ส่วนตารางเหรียญ สพล.เก็บเหรียญเพิ่มอย่างต่อเนื่อง ขยับขึ้นมามีเหรียญทองเท่าจุฬา แต่แซงนำด้วยเหรียญเงินที่มากกว่า สรุปตารางเหรียญ (ทอง-เงิน-ทองแดง) 1.สพล. (41-40-39) 2.จุฬาฯ (41-39-50) 3.ม.กรุงเทพธนบุรี (29-12-8) 4.ม.รัตนบัณฑิต (28-11-13) 5.ม.เกษตรศาสตร์ (22-20-20) 6.ม.ธรรมศาสตร์ (20-12-27) 7.ม.เกษมบัณฑิต (7-11-20) 8.ม.กรุงเทพ (6-6-15) 9.ม.ขอนแก่น (5-4-12) 10.ม.รังสิต (5-1-3)

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน