รัชนก อินทนนท์ พ่ายให้กับ โนโซมิ โอคุฮาระ มือวางอันดับ 1 รายการ และมืออันดับ 3 ของโลกจากญี่ปุ่น ตกรอบแบดมินตัน รายการ “คราวน์กรุ๊ป ออสเตรเลียน โอเพ่น 2019”

เกาะติดข่าวกีฬา แค่กดติดตาม ไลน์@ข่าวสดกีฬา ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

การแข่งขันแบดมินตัน รายการ “คราวน์กรุ๊ป ออสเตรเลียน โอเพ่น 2019” ทัวร์นาเมนต์ระดับเวิลด์ทัวร์ 300 ชิงเงินรางวัลรวม 150,000 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 4,800,000 บาท

ล่าสุด เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 62 เป็นการแข่งขันรอบรองชนะเลิศ ประเภทหญิงเดี่ยว “น้องเมย์” รัชนก อินทนนท์ มือวางอันดับ 4 ของรายการ มืออันดับ 7 ของโลก ลงสนามพบ โนโซมิ โอคุฮาระ มือวางอันดับ 1 รายการ และมืออันดับ 3 ของโลกจากญี่ปุ่น ปรากฎว่า โอคุฮาระ เล่นได้อย่างเหนียวแน่น ก่อนเอาชนะน้องเมย์ไป 2 -0 เกม 21-17, 21-15 ใช้เวลาในการแข่งขัน 46 นาที

ขณะที่ “น้องแน็ต” ณิชชาอร จินดาพล มืออันดับ 29 ของโลก พบ เฉิน ยู่เฟย มืออันดับ 2 ของโลกจากจีน ปรากฎว่า ในแมตช์นี้ แน็ต ณิชชาอร ต้านความแข็งแกร่งของ เฉิน ยู่เฟยไม่ไหว พ่ายไปแบบน่าเสียดาย 1-2 เกม 10-21 , 25-23 , 6-21 ใช้เวลาแข่งขัน 57 นาที

สำหรับเกณฑ์ของสหพันธ์แบดมินตันโลก (บีดับเบิลยูเอฟ) ในการพิจารณาโควต้านักแบดมินตันเข้ารอบสุดท้ายโอลิมปิกเกมส์ 2020 ระหว่างวันที่ 24 ก.ค.-9 ส.ค.ปีหน้า ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ได้กำหนดจำนวนโควต้าในโอลิมปิกครั้งนี้ทั้ง 5 ประเภท ไว้รวมทั้งสิ้น 172 โควต้า โดยใช้อันดับโลกที่รับรองโดยสหพันธ์แบดมินตันโลก เริ่มพิจารณาอันดับตั้งแต่วันที่ 29 เม.ย. 2019 สิ้นสุดวันที่ 26 เม.ย. 2020 และจะมีการประกาศนักกีฬาที่ได้โควต้าไปแข่งขันอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 30 เม.ย.ปีหน้า

การคัดเลือกประเภทเดี่ยว(ชายเดี่ยว-หญิงเดี่ยว) ประเภทละ 38 คน ใน 1 ชาติจะมีนักกีฬาได้ไม่เกิน 2 คนต่อ 1 ประเภท ในกรณีที่อันดับ 1-16 มีนักกีฬาชาติเดียวกันมากกว่า 1 คน จะได้สิทธิ์แข่งขันไม่เกิน 2 คน (ให้สิทธิ์คนที่อันดับดีที่สุด 2 อันดับแรก) แต่ถ้าอันดับตั้งแต่ 17 ของโลกเป็นต้นไป จะได้โควต้าเพียงชาติละ 1 คนเท่านั้น ส่วนการคัดเลือกประเภทคู่(ชายคู่, หญิงคู่, คู่ผสม) ประเภทละ 16 คู่ ใน 1 ชาติจะมีนักกีฬาได้โควต้าไม่เกิน 2 คู่ ต่อ 1 ประเภท ในกรณีที่นักกีฬาชาติเดียวกันอยู่ในอันดับ 1-8 มากกว่า 1 คู่ จะได้โควต้าเพียง 2 คู่ (ให้สิทธิ์คู่ที่อันดับดีที่สุด 2 คู่) ส่วนคู่อันดับ 9 เป็นต้นไป จะได้โควต้าชาติละ 1 คู่เท่านั้น
ในแต่ละประเภทจะต้องมีนักกีฬาจาก 5 ทวีปร่วมแข่งขัน อย่างน้อยทวีปละ 1 คนหรือ 1 คู่ ในกรณีที่เมื่อพิจารณาจากอันดับโลกแล้ว ไม่มีนักกีฬาจากทวีปใดได้โควต้า ก็จะยกโควต้าให้กับคู่มืออันดับสูงสุดของทวีปนั้น ๆ ในประเภทนั้น ๆ ได้โควต้าทันที อย่างไรก็ตามใน 1 ชาติที่ได้สิทธิ์จากการเป็นมือดีที่สุดของทวีป จะได้โควต้าในรูปแบบนี้ไม่เกินชาติละ 2 ประเภทเท่านั้น

ในส่วนของ ญี่ปุ่น ในฐานะเจ้าภาพจะได้โควต้าอัตโนมัติ 1 คน ในประเภทหญิงเดี่ยวและชายเดี่ยวอยู่แล้ว ในกรณีที่มีนักกีฬาญี่ปุ่นอยู่ในอันดับ 1-16 ของโลก 3 คนหรือมากกว่า ก็สามารถส่งแข่งขัน 3 คนได้
สำหรับนักกีฬาที่ได้โควต้าทั้งในประเภทเดี่ยวและคู่ในคนเดียวกัน จะไม่นับเป็น 1 โควต้าในประเภทเดี่ยว และ จะเพิ่มจำนวนนักกีฬาเข้ามา โดยเลือกจากอันดับรองลงไปที่ยังไม่ได้สิทธิ์ เพื่อให้มีจำนวนนักกีฬาครบ 172 คน แบ่งเป็นชาย 86 คน หญิง 86 คน

ทั้งนี้ ในโอลิมปิกเกมส์ 2016 ที่นครริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล นักแบดมินตันไทยคว้าโควต้าได้ทั้งหมด 4 ประเภท ได้แก่ หญิงเดี่ยว รัชนก อินทนนท์, พรทิพย์ บูรณะประเสริฐสุข ชายเดี่ยว บุญศักดิ์ พลสนะ หญิงคู่ ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย กับ พุธิตา สุภจิรกุล และคู่ผสม บดินทร์ อิสสระ กับ สาวิตรี อมิตรพ่าย

ภาพ : Badminton photo

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน