วงการมวยโลก พากันยกย่อง ยอมรับว่า เวทีมวยเมดิสัน สแควร์ การ์เด้น ใน มหานครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เป็นเวทีมวยเก่าแก่ ถือเป็น เมกกะ มวยโลก เปรียบเป็นตำนานอันเก่าแก่ ของวงการมวยจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ขณะที่ เรื่องมวยไทย เวทีมวยราชดำเนิน ปัจจุบัน ก็มีศักดิ์ศรีไม่ด้อยไปกว่ากัน

จู่ๆให้นึกถึง เวทีมวยไทย เราเคยสูญเสีย “เวทีมวยลุมพินี” ที่เปรียบเสมือน “เมกกะ ของมวยไทย” อันถือเป็น “โบราณสถาน ตำนานมวยไทย” ของโลกไปแล้ว ซึ่งปัจจุบันคงเหลือ เพียง เวทีมวย “ราชดำเนิน” ที่ยังคงความขลัง ไว้ให้ลูกหลานได้เล่าขานถึงความภูมิใจ ในเอกลักษณ์ของความเป็นไทมาจนถึงปัจจุบัน

ขออนุญาต ลอกประวัติเก่าๆ ที่มาของเวที ราชดำเนิน แต่ไม่ทราบที่มาของผู้เขียน ซึ่งจะให้เครดิต จึงต้องขออภัย ไว้ ณ ที่นี่ เนื้อหาบทความ มีดังนี้

“…….อดีตนายกรัฐมนตรี จอมพล ป. พิบูลย์สงคราม มีคำสั่งให้สร้างสนามมวยบนถนนราชดำเนินในปี พ.ศ. 2484 คำสั่งดังกล่าว มีขึ้นหลังจากที่ รัฐบาลได้ออกกฎหมายเวนคืนที่ดิน และแจ้งไปยังบรรดาเจ้าของที่ดินตามแนวถนนราชดำเนิน เพื่อรัฐบาลสามารถก่อสร้างอาคารต่างๆ ให้เป็นไปตามผังเมืองที่กำหนดไว้ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้รับการมอบหมายให้รับผิดชอบโครงการนี้ ในเบื้องต้นได้มีการกำหนดให้สร้างสนามมวย ณ บริเวณสวนมิสกวัน มุมถนนพิษณุโลกและราชดำเนินนอก ต่อมาได้มีการพิจารณาให้เปลี่ยนจากสถานที่ที่กำหนดไว้เดิม มาเป็นสถานที่ตั้งในปัจจุบัน เนื่องจากสถานที่เดิมมีขนาดเล็กเกินไปสำหรับสนามมวย ปัจจุบันสนามมวยยังคงตั้งอยู่บนถนนราชดำเนินนอกตัดกับถนนพะเนียง ตรงข้ามกับโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า

บริษัท อิมเพรซี อิตาเลียน ออล เฮ็สเตโร-โอเรียนเต เป็นผู้ทำสัญญาก่อสร้างสนามมวยในปี พ.ศ. 2484 โครงการได้เริ่มขึ้นโดยมีการประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ในวันที่ 1 มีนาคม โครงการต้องหยุดชะงักในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เนื่องจากขาดแคลนวัสดุก่อสร้าง ต่อมาในปี พ.ศ. 2487 นายปราโมทย์ พึงสุนทร ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินฯ ในขณะนั้นได้นำโครงการก่อสร้างสนามมวยเข้าสู่วงการพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ท่านได้นำเสนอแผนงานต่อท่านผู้อำนวยการฯ พ.อ.สุวรรณ เพ็ญจันทร์ ซึ่งเห็นชอบและมีคำสั่งให้ดำเนินการก่อสร้างสนามมวยให้แล้วเสร็จต่อไป

เกาะติดข่าวกีฬา แค่กดติดตาม ไลน์@ข่าวสดกีฬา ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง การก่อสร้างที่ค้างอยู่ก็เริ่มขึ้นอีกครั้งในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2488 และกินเวลาสี่เดือนจึงแล้วเสร็จ และในที่สุดสนามมวยแห่งชาติก็พร้อมสำหรับการแข่งขันนัดแรกใน วันที่ 23 ธันวาคม โดยมีนายปราโมทย์ พึงสุนทร เป็นผู้จัดการสนามมวยหรือนายสนามมวย และท่านได้ดำรงตำแหน่งนี้จนกระทั่งเกษียรจากตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินฯ ในปี พ.ศ. 2490

นายประหลาด อิศรางกูร ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินฯ ในขณะนั้นเข้ารับหน้าที่แทนนายปราโมทย์ และดำรงตำแหน่งผู้จัดการสนามมวยอยู่นานสองปี จากนั้นนายเฉลิม เชี่ยวสกุล ได้เข้ามารับหน้าที่แทน

นายเฉลิม เล็งเห็นถึงปัญหาและความไม่สะดวกนานาประการในการจัดการแข่งขันมวยในที่แจ้ง จึงเสนอให้สร้างหลังคาคลุมพื้นที่ทั้งหมด ม.ล. ทวีวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานสำนักงานทรัพย์สินฯ ในขณะนั้นเห็นชอบและมอบให้บริษัท คริสตินี นีลสัน (ประเทศไทย) เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างหลังคาพร้อมทั้งต่อเติมที่นั่งให้มากขั้น ทำให้สนามมวยแห่งนี้แล้วเสร็จสมบูรณ์เป็นสนามมวยได้มาตรฐานในปี พ.ศ. 2494

ตลอดระยะเวลาเจ็ดปีภายใต้การดำเนินงานของสำนักงานทรัพย์สินฯ สนามมวยราชดำเนินประสพการขาดทุนมาตลอด สำนักงานทรัพย์สินฯ จึงมีแผนที่จะวางมือและเสนอให้องค์กรเอกชนเช่าสถานที่และดำเนินกิจการกันเอง (โดยมีเงื่อนไขว่าองค์กรดังกล่าว ต้องมีคนไทยเป็นเจ้าของ) นายเฉลิม ซึ่งยังคงดำรงตำแหน่งผู้จัดการสนามมวยอยู่ ในขณะนั้นเห็นว่าไม่เหมาะสม ที่จะให้องค์กรหรือบุคคลนอกจากวงการมวยมาบริหารและดำเนินกิจการสนามมวย จึงขออนุมัติจากสำนักงานทรัพย์สินฯ ให้ตนเป็นผู้ดำเนินกิจการสนามมวย และได้ก่อตั้งบริษัท ราชดำเนิน จำกัด ขึ้น เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2496

ตั้งแต่เริ่มดำเนินกิจการ บริษัท ราชดำเนินจำกัด ได้จัดการแข่งขันมวย ณ เวทีสนามมวยราชดำเนินมาตลอด และได้ทำการขยายและปรับปรุงระบบสาธารณูปโภค ตลอดจนพัฒนาสนามมวยอย่างต่อเนื่อง จนเป็นที่ยอมรับว่าเป็นสนามมวยที่มีชื่อเสียงในระดับสากล และเป็นสถาบันมวยไทยแห่งหนึ่งในประเทศไทย…..”

จากบทความคัดลอกดังกล่าว ขออนุญาตเพิ่มเติมต่อให้ช่วงท้ายว่า

“วันหนึ่งข้างหน้า หรือแม้ว่าเวลานี้ เวทีมวยแห่งนี้ ถือเป็นโบราณสถานอันเก่าแก่ และเป็นจุดกำเนิดของ “มวยไทย” ที่ผลิตบุคคลากร ยอดนักสู้ ยอดมวย ทั้งยังเป็นที่ชื่นชมศรัทธาของผู้เลื่อมใสมวยไทยจากทั่วโลก นี่คือความภาคภูมิใจของคนไทย อย่างแท้จริง…”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน