‘ดร.ก้อง’ ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการ กกท. เปิดเผยถึงผลการติดตามการดำเนินงานและวิเคราะห์มูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคมของจังหวัดที่ได้รับการประกาศเป็นเมืองกีฬา (Sports City) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562

เกาะติดข่าวกีฬา แค่กดติดตาม ไลน์@ข่าวสดกีฬา ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

‘ดร.ก้อง’ ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการ กกท. เปิดเผยถึงผลการติดตามการดำเนินงานและวิเคราะห์มูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคมของจังหวัดที่ได้รับการประกาศเป็นเมืองกีฬา (Sports City) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ว่า การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้มอบหมายให้ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย โดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ดำเนินการติดตามผลการดำเนินงานและวิเคราะห์ข้อมูล “การติดตามผล ดำเนินงานและวิเคราะห์มูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคมของจังหวัดที่ได้รับการประกาศเป็นเมืองกีฬา (Sports City) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562” ระหว่างวันที่ 1 ต.ค.61 – 30 ก.ย.62 รวม 6 จังหวัด ประกอบด้วย กระบี่ ชลบุรี สุพรรณบุรี ศรีสะเกษ อุดรธานี และบุรีรัมย์ เพื่อติดตามและประเมินผลการดำเนินงานของจังหวัดที่ได้รับการประกาศเป็นเมืองกีฬา และวิเคราะห์มูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคมของจังหวัดที่ ได้รับการประกาศเป็นเมืองกีฬา ที่ส่งผลกระทบทั้งในด้านสังคมและพาณิชย์ ปรากฏว่า

ด้านผลการดำเนินงาน พิจารณาจากองค์ประกอบ 4 ด้าน ประกอบด้วย ด้านที่ 1 การส่งเสริมการเล่นกีฬาและการออกกำลังกาย, ด้านที่ 2 การพัฒนากีฬาระดับจังหวัด, ด้านที่ 3 การจัดการแข่งขันกีฬาระดับชาติและระดับนานาชาติ และด้านที่ 4 การส่งเสริมอุตสาหกรรมกีฬาและธุรกิจด้านกีฬาพบว่าอยู่ในระดับดี ทั้ง 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดบุรีรัมย์ 83.50 คะแนน, จังหวัดอุดรธานี 82.50 คะแนน, จังหวัดศรีสะเกษ 82.25 คะแนน, จังหวัดชลบุรี 82.15 คะแนน, จังหวัดกระบี่ 82.10 คะแนน และจังหวัดสุพรรณบุรี 80.75 คะแนน

ด้านมูลค่าทางเศรษฐกิจ ผลการวิเคราะห์ พบว่า จังหวัดบุรีรัมย์ เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจของจังหวัด จำนวน 4,108,682,347 บาท, จังหวัดชลบุรี จำนวน 3,821,323,729 บาท , จังหวัดอุดรธานี จำนวน 303,170,129 บาท, จังหวัดศรีสะเกษ จำนวน 208,891,775 บาท, จังหวัดกระบี่ จำนวน 92,285,540 บาท และจังหวัดสุพรรณบุรี จำนวน 46,425,390 บาท โดยก่อให้เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ รวม 6 จังหวัด จำนวนทั้งสิ้น 8,580,778,910 บาท

ด้านสังคมของจังหวัดที่ได้รับการประกาศเป็นเมืองกีฬา ได้ทำการประเมินผลกระทบทางสังคม (ประโยชน์ที่ได้) จากการจัดการแข่งขันกีฬาแห่งชาติ ทั้งหมด 9 ประเด็น ประกอบด้วย 1. กระตุ้นและส่งเสริมให้เยาวชนและประชาชนสนใจออกกำลังกายและเล่นกีฬาเพิ่มขึ้น 2. ทำให้เยาวชนและประชาชนในจังหวัดใช้เวลาให้เกิดประโยชน์มากขึ้น 3. เศรษฐกิจดีขึ้น ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น สภาพความเป็นอยู่ดีขึ้น 4. ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยว 5. สถานที่ต่างๆ ได้รับการปรับปรุง และพัฒนาสวยสะอาดตา 6. การจ้างงานในช่วงการจัดการแข่งขันกีฬาเพิ่มสูงขึ้น 7. เป็นการช่วยสร้างชื่อเสียงภาพลักษณ์ให้กับจังหวัด และประเทศ 8. เกิดความภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการเป็นเมืองกีฬา (Sports City) และ 9. เกิดการพัฒนาและสร้างบุคลากรทางกีฬาของจังหวัด

ผู้ว่าการ กกท. เปิดเผยเพิ่มเติมว่า “สำหรับแนวทางการพัฒนาผลการดำเนินงานให้ดีขึ้นในปีต่อๆ ไป นั้น สามารถสรุปได้ ดังนี้ 1. แผนงานการดำเนินงานของจังหวัดที่ได้รับประกาศเป็นเมืองกีฬา (Sports City) ควรมีการกำหนดเป้าหมายของการดำเนินงาน และมีผู้รับผิดชอบที่ชัดเจน รวมทั้งทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือกันในการดำเนินงาน, 2. พัฒนาระบบจัดเก็บข้อมูลและจัดทำระบบฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับตัวชี้วัดและเป้าหมายต่างๆ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการติดตาม วางแผน หรือปรับปรุงแผนการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ, 3. ควรดำเนินการประชาสัมพันธ์ของการเป็นเมืองกีฬา (Sports City) ให้ประชาชนทราบอย่างทั่วถึง เพราะข้อมูลข่าวสารยังไม่ครอบคลุมทุกหมู่บ้าน/ท้องถิ่น, 4. การดำเนินกิจกรรมทางการกีฬาต่างๆ ควรมีการประชาสัมพันธ์เพื่อให้ประชาชนรับรู้เพิ่มมากขึ้นเพื่อกระตุ้นและดึงดูดให้ให้ประชาชนเข้ามาร่วมกิจกรรมการแข่งขันเพิ่มมากขึ้น, 5. ดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาบุคลากรการกีฬาอย่างเป็นระบบ และเป็นไปตามมาตรฐานสากล เพื่อรองรับการพัฒนากีฬาเพื่อความเป็นเลิศและการอาชีพต่อไป และ 6. ดำเนินการสร้าง พัฒนา และปรับปรุงซ่อมแซมสถานที่และอุปกรณ์กีฬา ให้มีความเพียงพอ และตรงกับความต้องการของประชาชนในแต่ละพื้นที่ ทั้งนี้ ควรมีการสนับสนุนงบประมาณให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องความเป็นเมืองกีฬา (Sports City) ของแต่ละจังหวัด เพื่อให้สามารถนำเงินงบประมาณจากหน่วยงานต่างๆ ในจังหวัดไปใช้ได้ตรงกับความต้องการและแผนงานการดำเนินงานในการพัฒนาเมืองกีฬาต่อไป”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน