หลังจากที่ รัฐบาล ไฟเขียวปลดล็อกในหลายๆกิจกรรมกีฬา ทำให้เริ่มมีคำถามเกี่ยวกับการกลับมาจัดการแข่งขัน วิ่งระยะไกล มาราธอน ต่างๆ ซึ่งเป็นกีฬามวลชนที่ได้รับความนิยม

 

เรื่องนี้ ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย เผยว่า เรื่องของการกลับมาจัดการแข่งขันวิ่งมาราธอนนั้น คงจะต้องรออีกสักระยะ เพราะเป็นการจัดกิจกรรมที่มีการรวมตัวของคนจำนวนมาก ซึ่งเราต้องทำงานร่วมกับ สหพันธ์กีฬาที่จะมีมาตรฐานใหม่ในภาวะโควิด-19 อย่างไร นอกจากนี้จะต้องทำงานร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุขอย่างใกล้ชิด ในการหารือเนื่องจากประเทศไทย ก็ได้รับการยกย่องว่าสามารถรับมือกับวิกฤตนี้ได้ดีในอันดับต้นๆของโลก ประกอบกับ พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ก็ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ให้ดูแลให้ดี เพราะ กกท. ยืนยันว่าจะไม่เปิดอะไรที่เป็นความเสี่ยง เมื่อเปิดกีฬาแล้วจะเป็นปัญหาสังคม

 

“เวลานี้แผนงานจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก สำหรับ มาราธอน อาจจะต้องรอถึง ส.ค. หรือ ก.ย. เป็นอย่างน้อย ถึงจะกลับมาจัดได้ เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน มีนักวิ่งเข้าร่วมจำนวนมาก หากเร่งรัดจะทำให้เกิดปัญหาได้ เราต้องมีแผนที่ชัดเจนเพื่อให้รัฐบาลพิจารณา เบื้องต้นอาจจะต้องประสานกับภาคเอกชนในการทดสอบระบบจัดในสเกลเล็ก ไม่เกิน 200 คนเพื่อดูว่าจะสามารถเดินหน้าได้หรือไม่”
ด้าน นพ.เกษม ใช้คล่องกิจ ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์การกีฬา การกีฬาแห่งประเทศไทย เสริมว่า การคลายมาตรการต่างๆของภาครัฐมีมากขึ้น การวิ่งจะมีการปรับโฉมใหม่ บริบทของการวิ่งคือ ไม่ได้สัมผัส ประชิด เหมือนกีฬาอื่น แต่มาตรฐานมาราธอนนั้น ฝ่ายจัดการแข่งขันต้องใช้คนมาก การให้มีพื้นที่ระยะห่างระหว่างวิ่ง 3-5 เมตร ทำได้ยาก หรือ การใส่หน้ากากนั้นก็กระทบต่อเรื่องการส่งผ่านอากาศ ซึ่งทำได้เพียงการออกกำลังกายเดินเบาๆเท่านั้น

 

“เรื่องวัคซีน วันนี้ทุกค่ายพยายามเร่งดำเนินการ บางรายถึงขั้นทดสอบกับมนุษย์แล้ว สิ้นปี้ ต้นปีหน้า จะเกิดขึ้นในทางสาธารณะ แต่จะถึงประชาชนทั่วไปหรือไม่ต้องรอดู ในมุมมองทางการแพทย์ วัคซีนมี จะเปลี่นกระบวนการจัดวิ่งก็จะง่ายขึ้น คือ ขอใบรับรองว่า ฉีดวัคซีนหรือยัง แต่เวลานี้โฟกัสที่ เรื่องที่ไม่มีวัคซีน การจัดงานวิ่ง ในทางวิชาการ พอจะมีทางออก ต้องมีการคัดกรองสาธารณะ ต้องไม่ยุ่งยาก ง่ายสะดวกราคาถูก อาจจะใช้ชุดทดสอบของคณะแพทย์โรงพยาบาลรามาธิบดี ในการคัดกรองด้วยน้ำลาย บ้วนน้ำลายเข้าพาชนะ ถ้าผ่านก็ร่วมการแข่งขันได้ เป็นทางแก้ที่เป็นไปได้ในกรณีวัคซีนมาไม่ทัน”

“ขณะที่รูปแบบนั้นของการดูแล เราจะไม่ลดมาตรฐานลงจะมีการดูแลที่ซับซ้อนขึ้น บริการทางการแพทย์ต่างๆ ในการปฐมพยาบาลก็จะเข้มงวดขึ้น ลดการปนเปื้อน การนวดอาจจะลดน้อยถอยลง เหงื่อ การหายใจรดหน้า อันตราย การแช่น้ำเย็นหลังการวิ่งก็คงทำไม่ได้ อาจจะเป็นการลดความร้อนส่วนบุคคล”

ขณะที่ รัฐ จิโรจน์วณิชชากร ผู้จัดการแข่งขัน บางแสน 21 ฮาล์ฟมาราธอน เปิดเผยว่า เราได้เข้าร่วมประชุมกับเวิลด์แอตเลติก หรือ สหพันธ์กรีฑานานาชาติแล้ว ในการจัดการแข่งขันในระดับมวลชนเป็นไปได้ แต่ อาจจะต้องปรับเปลี่ยนเยอะ ซึ่งสหพันธ์จะประกาศมาตรการออกมาเดือนหน้า เช่น การปล่อยตัวต้องเป็นระลอกๆ ละน้อยคน ระหว่างเส้นทาง จากเดิมให้น้ำดื่มทุก 2 กม. เปลี่ยนเป็น 10 กม. ครั้ง เพื่อลดการสัมผัส หรือ ให้พกน้ำดื่มไปเอง เช่นเดียวกับการเข้าเส้นชัย แบบโซเชียลดิสแทนซิ่ง พื้นที่ต้องกว้าง และลดการอยู่กันเป็นกลุ่ม เน่องจาก การจัดกีฬาคือการสู้โควิดอย่างหนึ่ง แต่ก็ต้องไม่รีบร้อน ต้องมั่นใจ มีหน่วยงานสาธารณสุขแนะนำ

“เวิลด์ แอธเลติก จะผ่อนคลายกฏบ้าง เช่นไม่ต้องเชิญนักกีฬาระดับ อีลิต จากต่างประเทศ ในส่วนของจีนจะจัดงานวิ่งใหญ่ขึ้นในเดือน ส.ค. โดยจะมีแค่ชาวจีนเท่านั้น เราก็รอดูโมเดลของจีนเป็นต้นแบบ และหากจีนจัดไม่ได้ ประเทศถัดไปที่หลายๆชาติยกตัวอย่างคือไทย เนื่องจากเราต่อสู้เรื่องโควิดได้ดี”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน