โรจน์ พุทธคุณ ผู้บริหารของ MS Chonburi อีกหนึ่งสโมสรอีสปอร์ตชื่อดังของไทย ออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับบางส่วนของร่างกฎหมายควบคุมเกม ที่ก่อนหน้านี้มีกระแสวิจารณ์กันในวงการเกมและอีสปอร์ตไทย โดยเฉพาะประเด็นการจัดแข่งเกมต้องขออนุญาติก่อน, ห้ามแข่งเกม FPS หรืออาจแบนเกมที่มีความรุนแรง และสำคัญคือ ห้ามสตรีมเมอร์สตรีมเกมเกิน 2 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งจะมีการประชุมกันในวันที่ 13 กรกฎาคม

ล่าสุดผู้บริหารของ MS Chonburi ออกมาแสดงความเห็นในประเด็นนี้ ว่า “การห้ามสตรีมเกมติดต่อเกิน 2 ชั่วโมงต่อวันนั้น สำหรับผม มันเป็นเรื่องที่ไม่ควรถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นด้วยซ้ำ เกมเป็น Entertainment (ความบันเทิง) รูปแบบหนึ่ง การสตรีมเกม ก็เป็นเรื่องของการทำเพื่อความบันเทิงส่วนบุคคล การหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมา เท่ากับว่าผู้เรียกร้อง ไม่ได้มีความเข้าใจในเรื่องเกม และ อีสปอร์ต เลย การสตรีมเกม เป็นเรื่องของการทำเพื่อความบันเทิงส่วนบุคคล”

“เพราะการสตรีมเกม มีคนที่ทำเป็นอาชีพ แบบ Full-Time จำนวนชั่วโมงยังแปรผันตามจำนวนเงินค่าตอบแทนอีกด้วย คนที่ทำอาชีพ สตรีมเมอร์ ย่อมต้องรู้จักกำหนดตารางการทำงานของตัวเอง และเข้าใจในวิธีการทำแบบของงานนั้นๆ ดีอยู่แล้ว”

“โดยหลักการการออกกฎหมายที่เกี่ยวกับการประกอบอาชีพ ควรเน้นที่การส่งเสริมเพื่อให้อุตสาหกรรมนั้นเติบโต ไม่ใช่ เป็นการออกกฎหมายเพื่อให้อุตสาหกรรมนั้นตาย”

ส่วนประเด็นการแบนเกมที่มีเนื้อหารุนแรงออกจากอุตสาหกรรมกีฬาอีสปอร์ต เจ้าตัวมองเรื่องนี้ ว่า “การแบนเกมรุนแรง ออกจากการแข่งขันอีสปอร์ตนั้น มันไม่สมเหตุสมผล ที่ผ่านมาเกมมักถูกมองเป็นผู้ร้ายก่อนเสมอ เมื่อมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น หลายครั้งที่ข้อกล่าวหาเหล่านั้น ไม่เป็นความจริง สิ่งที่มีผลต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้น มักเกิดจากเหตุส่วนบุคคลมากกว่า”

“ผมจึงมองว่า มันเป็นเรื่องที่ไม่ได้มีข้อพิสูจน์ที่แน่ชัดว่า เกมที่มีเนื้อหารุนแรงจะสัมพันธ์กับความรุนแรงด้านอาชญากรรม อย่างที่กล่าวหากัน มันเป็นเพียงแค่ข้ออ้างของผู้ใหญ่บางคนเท่านั้นเอง ในทางกลับกัน ผมมองว่า สภาพบริบทของสังคมคือตัวแปรสำคัญมากกว่า เช่น ผู้ปกครองดูแล ให้ความรู้ ความเข้าใจ เวลา กับ เด็กๆ น้องๆ เยาวชน มากน้อยแค่ไหน การแบนเกมจึงไม่ใช่คำตอบอย่างแน่นอน”

“ผมอยากให้มีการชั่งน้ำหนัก ทำการศึกษา ร่างกฎหมายอีสปอร์ตนี้ และทำความเข้าใจกับ อุตสาหกรรมอีสปอร์ตให้มากกว่านี้ เพราะยังมีข้อเรียกร้อง ที่ไม่สะท้อนถึงความเป็นจริงของอุตสาหกรรม และบางข้อเรียกร้องที่อยู่บนพื้นฐานของความไม่เข้าใจ บวกกับสมมติฐานของทฤษฎีที่ยังไม่สมบูรณ์”

“การที่ใครสักคนจะเรียกร้อง หรือออกกฎหมายอะไร เขาควรต้องถามผู้ที่ได้รับผลกระทบหรือไม่? ผมเชื่อว่ามีคนที่มีประสบการณ์ องค์ความรู้ และมีความเข้าใจ ในอุตสาหกรรมนี้ อีกเป็นจำนวนมาก พร้อมจะเข้ามาช่วยทำงานร่วมกัน และผลักดันให้เกิดการกฎหมายที่ตอบโจทย์กับทุกคนอย่างแท้จริง” กล่าวทิ้งท้าย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน