โอลิมปิก2020 เปิดฉากอย่างเป็นทางการแล้ว สมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตะ เสด็จเป็นองค์ประธาน “เอิน-แซม” ร่วมกันถือธงชาติเดินนำหน้าขบวนพาเหรด

โอลิมปิก2020 มหกรรมกีฬาโอลิมปิกเกมส์ โตเกียว 2020 มีพิธีเปิดการแข่งขันอย่างเป็นทางการ เมื่อค่ำวันที่ 23 ก.ค. โดยสมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตะ เสด็จเป็นองค์ประธาน ที่โอลิมปิก สเตเดียม ในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ภายใต้มาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 อย่างเข้มข้น ไม่เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมพิธีการในสนาม

มีเพียงผู้บริหารระดับสูงของคณะกรรมการโอลิมปิคสากล (ไอโอซี), คณะกรรมการโอลิมปิคและคณะกรรมการจัดการแข่งขันของเจ้าภาพญี่ปุ่น รวมถึงแขกพิเศษจากประเทศต่างๆ ตัวแทนของแต่ละชาติที่ส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขัน รวมถึงผู้นำประเทศต่างๆ เข้าร่วมกว่า 15 ประเทศ และ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬาเป็นผู้แทนจากประเทศไทยเข้าร่วมพิธีด้วย

พิธีเปิดครั้งนี้เจ้าภาพ ญี่ปุ่นได้วางแนวคิดจัดภายใต้ชื่อ การรวมใจเป็นหนึ่งเดียวของมวลมนุษยชาติ ซึ่งกำลังต่อสู้กับการระบาดของโรคโควิด-19 พิธีเริ่มในเวลา 20.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น โดยสมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตะ เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดการแข่งขัน มีพิธีการกล่าวรายงานการจัดการแข่งขันโดย เซอิโกะ ฮาชิโมโตะ ประธานคณะกรรมการจัดการแข่งขัน โอลิมปิกเกมส์ โตเกียว 2020 และ โธมัส บาค ประธานไอโอซี กล่าวสุนทรพจน์ถึงการจัดการแข่งขัน

โอลิมปิกเกมส์ โตเกียว 2020 ถือเป็นมหกรรมกีฬาที่ให้ความสำคัญในด้านสิทธิมนุษยชนเป็นอย่างมาก นอกจากการคัดเลือกตัวแทนแต่ละทวีปมาร่วมถือธงเพื่อใช้ในการกล่าวคำปฏิญาณตน โดย ผู้ทำหน้าที่ถือธงในแต่ละทวีปมีดังนี้ เอเชีย เคนตะ โมโมตะ นักแบดมินตัน อดีตแชมป์โลก 2 สมัย และมือ 1 ของโลกชาวญี่ปุ่น, แอฟริกาใต้ เมห์ดี เอสซาดิค คุณหมอนักไตรกีฬาชาวโมร็อกโก

อเมริกา พอลา ปาเรโต นักยูโดสาวชาวอาร์เจนตินา เจ้าของเหรียญทอง โอลิมปิกเกมส์ ที่ ริโอ เดอจาเนโร 2016 และแชมป์โลกเมื่อปี 2015, โอเชียเนีย อีเลนา กาเลียโบวิทช์ คุณหมอนักแม่นปืนสาวชาวออสเตรเลีย แชมป์โลกยิงปืน ปี 2018

ยุโรป เปาลา โอเกชี อีโกนู นักวอลเลย์บอลชาวอิตาลี เจ้าของเหรียญเงิน เวิลด์ แชมเปี้ยนชิพ 2018 และกลุ่มประเทศผู้ลี้ภัย ไซรีลล์ ฟากัต ชัตเชต ที่ 2 นักยกน้ำหนัก ที่ลี้ภัยมาจากประเทศแคเมอรูน มาอยู่ที่สหราชอาณาจักร ก่อนจะคว้าแชมป์ยกน้ำหนักของ อังกฤษ ถึง 3 สมัย ตั้งแต่ปี 2017-19

การเดินขบวนพาเหรดของนักกีฬาจาก 205 ประเทศยึดหลักความเสมอภาคทางเพศ ด้วยการให้นักกีฬาชาย-หญิงเป็นผู้ถือธงชาติของตนเองนำหน้าขบวนพาเหรดเข้าสู่สนามซึ่งทัพนักกีฬาไทยเดินพาเหรดเข้าสู่สนามในลำดับที่ 102 ตามตัวอักษรของญี่ปุ่น โดย “เอิน”ณภัสวรรณ หย่างไพบูลย์ นักยิงปืนหญิง และ “แซม”เศวต เศรษฐาภรณ์ นักกีฬายิงปืนเป้าบินชาย เป็นผู้ถือธงชาติไทยเข้าสู่สนาม

มีเพียง 9 คนร่วมขบวน ตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด ประกอบด้วย กชกร วรสีหะ นักกีฬายูโด, สุธาสินี เสวตรบุตร นักกีฬาเทเบิ้ลเทนนิส, เจนจิรา ศรีสอาด นวพรรษ วงค์เจริญ นักว่ายน้ำ, ศิวกร วงศ์พิณ และ นวมินทร์ ดีน้อย นักกีฬาเรือกรรเชียง และ อาริย์ณัฎฐา ชวตานนท์, วีรภัฏ ปิฏกานนท์, กรธวัช สำราญ นักกีฬาขี่ม้า รวมกับเจ้าหน้าที่อีกจำนวน 6 คน ขณะที่ทัพนักกีฬาญี่ปุ่น เจ้าภาพเดินพาเหรดปิดท้ายขบวน

ด้านการแสดงต่างๆ เจ้าภาพพยายามจัดอย่างเรียบง่าย แต่เต็มไปความหมายที่น่าประทับใจ โดยมุ่งเน้นไปที่การเผชิญกับวิกฤติโควิด-19 ที่มีผลกระทบทำให้ชาวโลกต้องมีการปรับตัวให้เข้ากับสภาวะการณ์ใหม่ ซึ่งบรรดานักกีฬาต้องซ้อม และแข่งขันท่ามกลางสถานการณ์ด้วยหัวใจที่เด็ดเดี่ยว และมุ่งมั่น การแสดงแสงสี จินตลีลา ไม่ว่าจะเป็นเพลงประกอบจากเกมดังอย่าง ดรากอน เควสต์ (โรโตะ โน เดมุ), ไฟนอล แฟนตาซี, มอนสเตอร์ ฮันเตอร์, คิงออฟ ฮาร์ต, เอซ คอมแบต, โปรอีโวลูชั่น ซอกเกอร์, แฟนตาซี สตาร์ ยูนิเวิร์ส, โซล คาลิเบอร์, โซนิค เดอะ เฮดฮอดจ์

พร้อมสอดแทรกด้านศิลปวัฒนธรรมญี่ปุ่นเข้าไปในชุดการแสดงที่ชื่อ A LASTING LEGACY ซึ่งจะพาย้อนรำลึกถึงการเป็นเจ้าภาพการแข่งขันโอลิมปิกปี 1964 ของญี่ปุ่น ด้วยการสร้างวงแหวนโอลิมปิก โดยนำไม้จาก 47 จังหวัดทั่วญี่ปุ่นมาใช้สร้างสัญลักษณ์ของการแข่งขันในพิธีเปิด และปิดการแข่งขัน เพื่อสะท้อนความเป็นชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์ด้านป่าไม้ รวมถึงเทคนิคด้านงานไม้ที่มีมาตั้งแต่สมัย เอโดะ รวมทั้งยังมีการจุดพลุไฟ 324 ลูก

ก่อนจะเข้าสู่การแสดงชุด Welcome to Neo-Tokyo ซึ่งจะมีนักเต้นชื่อดังอย่าง ไดอิจิ มิอูระ และ โคฮารุ ซูกาวาระ ร่วมแสดง

จากนั้นจะมีการย้อนภาพความทรงจำเมื่อครั้งที่กรุงโตเกียวได้เป็นเจ้าภาพโอลิมปิกเกมส์ 1964 ตามด้วยการแสดงจาก นาโอมิ วาตานาเบ นักแสดงตลกและดีไซน์เนอร์สาวชื่อดัง ซึ่งนำไปสู่การเดินเข้าสู่สนามของนักกีฬาจากชาติต่าง ๆ ในชื่อชุดการแสดงว่า The Last Mission

การแสดง TIME TO SHINE เป็นโชว์ที่แสดงออกถึงเมืองโตเกียว และความพร้อมของเมืองโตเกียว ก่อนที่จะมีการแสดงคาบูกิ ซึ่งถือเป็นศิลปะการแสดงชั้นสูงของ ญี่ปุ่น ที่จะมาร่วมแสดงกับยอดนักเปียโนระดับโลก ฮิโรมิ เจ้าของรางวัล แกรมมี่ในปี 2011 และเป็นเจ้าของเพลงแจ๊สระดับท็อปชาร์จที่บิลบอร์ดของสหรัฐ

ด้านไฮไลต์ที่หลายคนให้ความสนใจคือการวิ่งคบเพลิงของเหล่านักกีฬาญี่ปุ่นทั้งอดีตและปัจจุบันเข้าสู่สนามในพิธีเปิด ซึ่งถูกจัดไว้ทั้งหมด 6 กลุ่ม โดยใช้นักกีฬาทั้งสิ้น 15 คน โดย นาโอมิ โอซากะ นักเทนนิสเจ้าของแชมป์ 4 แกรนด์สแลม และอดีตมือ 1 ของโลกเป็นผู้จุดไฟคบเพลิงเปิดการแข่งขันอย่างเป็นทางการ

สำหรับกระถางคบเพลิงถูกวางอยู่บนขั้นบันไดเปรียบเสมือนภูเขาไฟฟูจิ โดย โอซากะ จะต้องเดินขึ้นขึ้นไปจุดเปรียบให้เห็นถึงการพยายามเดินขึ้นภูเขาไฟฟูจิสัญลักษณ์ของประเทศญี่ปุ่น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน