พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระปรีชาสามารถในศาสตร์หลายแขนง รวมถึงกีฬาที่ทรงฉายแววพระอัจฉริยภาพหลายประเภทตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ไม่ว่าจะเป็น เรือใบ เรือกรรเชียง เรือพาย สกี แบดมินตัน ว่ายน้ำ ยิงปืน รถเล็ก เครื่องร่อน ฯลฯ

นอกจากทรงชอบเล่นกีฬาแล้ว พระองค์ยังทรงเป็นแบบอย่างให้พสกนิกรหันมาใส่ใจสุขภาพ ใส่พระทัยออกกำลังพระวรกาย ทั้งการวิ่ง และเดินเร็ว อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการอย่างสม่ำเสมอ มีการบันทึกพระชีพจร ความดันพระโลหิตทั้งก่อนและหลังทรงออกกำลังพระวรกาย ทั้งยังทรงกระตุ้นพระวรกายให้เกิดความอบอุ่นก่อนเริ่มเล่นกีฬา และผ่อนคลายความตึงเครียดของกล้ามเนื้อหลังจากออกกำลังพระวรกาย ทรงปฏิบัติเช่นนี้เป็นกิจวัตรตามแบบของนักกีฬาที่ดี
10
จากความสนพระทัยการกีฬาผนวกกับวิทยา ศาสตร์ด้วยการออกกำลังพระวรกายอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ ในปี พ.ศ.2510 ศาสตราจารย์ นายแพทย์อวย เกตุสิงห์ ผู้ก่อตั้งและ ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬาขององค์การส่งเสริมกีฬาแห่งประเทศไทยในขณะนั้น (การกีฬาแห่งประเทศไทยในปัจจุบัน) นำศาสตราจารย์ นายแพทย์ฮาราลด์ เมลเลโรวิตช์ ผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์ประสิทธิภาพ มหาวิทยาลัยเสรี นครเบอร์ลิน ของเยอรมนี เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน

ศาสตราจารย์นายแพทย์อวย เกตุสิงห์ เผยว่า “ทรงสนพระทัยในวิชาวิทยาศาสตร์การกีฬาเป็นอย่างยิ่ง รับสั่งถามให้ความเห็นและคำแนะนำมากมายเป็นเวลาเกือบ 2 ชั่วโมง”
8
ผลจากการเข้าเฝ้าฯ ครั้งนั้น ช่วยให้กิจการด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาของไทยดำเนินไปด้วยดีมาเป็นลำดับด้วยการช่วยเหลืออย่าง เต็มที่จาก ศาสตราจารย์ นายแพทย์ฮาราลด์ เมลเลโรวิตช์ ซึ่งความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทมาโดยตลอด จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นทวิตริยาภรณ์ช้างเผือก อันเป็นเครื่องอิสริยาภรณ์ชั้นสูงที่พระราชทานสำหรับชาวต่างประเทศที่ทำคุณประโยชน์แก่ประเทศไทย เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2522

ขณะที่ศาสตราจารย์ นายแพทย์รุ่งธรรม ลัดพลี แพทย์ประจำพระองค์ เคยกล่าวถึงพระจริยวัตรในการอภิปรายหัวข้อเรื่อง “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับการกีฬา” ทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2530 ว่า

“พระองค์ทรงสนพระทัยในกีฬาเกือบทุกชนิด ตลอดจนออกกำลังพระวรกายด้วยการทรงพระดำเนินเร็ว หรือจ๊อกกิ้ง อาจจะเป็นเพราะทรงมีพระราชกรณียกิจต่างๆ มากมาย จึงไม่ได้ทรงกีฬาได้บ่อยๆ อย่างไรก็ตาม ก็ยังทรงจ๊อกกิ้งเป็นประจำ แม้ในช่วงแปรพระราชฐานไปในสถานที่ต่างๆ ในเวลากลางวันพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงอุทิศเวลาเพื่อราษฎรกว่าจะเสร็จสิ้นพระราชกรณียกิจ แม้จะเป็นเวลามืดค่ำก็ยังทรงออกกำลังพระวรกายของพระองค์ให้แข็งแรง พร้อมที่จะเสด็จพระราชดำเนินไปในที่ต่างๆ”
a1-8
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา พระองค์ทรงให้ความสำคัญกับการออกกำลังพระวรกาย แม้กระทั่งตอนประชวร พระองค์ยังฟื้นฟูพระวรกายด้วยการออกกำลังอยู่เสมอ พร้อมยังทรงพระกรุณาพระราชทานพระราชดำรัสให้แง่คิดเกี่ยวกับการออกกำลังกายแก่ข้าราชบริพาร เมื่อปี พ.ศ.2525 ว่า “การออกกำลังกายนั้น ถ้าทำน้อยเกินไป ร่างกายและจิตใจก็จะเฉา ถ้าทำมากเกินไปร่างกายและจิตใจก็จะช้ำ”

พระองค์ทรงเป็นต้นแบบของวงการวิทยาศาสตร์การกีฬาของไทย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน