วันที่ 21 ต.ค. เฟซบุ๊กเพจ คลังประวัติศาสตร์ไทย เผยข้อมูลน่าสนใจ เกี่ยวกับการถวายพระเพลิงพระบรมศพจริงของราชสำนัก ที่ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย รวบรวมได้ 4 รูปแบบ
1.การสุมเพลิงพระบรมศพบนพระจิตกาธาน กรณีพระบรมศพอยู่ในพระบรมโกศ เป็นการถวายพระเพลิงแบบโบราณราชประเพณีที่สืบทอดมาตั้งแต่ครั้งกรุงเก่า ที่มีการประดิษฐานพระบรมศพอยู่ในพระบรมโกศ แต่ปัจจุบันไม่มีการใช้วิธีนี้แล้ว เพราะคุมเพลิงได้ยาก ต้องคอยฉีดน้ำเลี้ยงแล้วคอยดูทิศทางลมตลอดเวลา โดยในปัจจุบันได้นำเตาเผาสมัยใหม่มาใช้แทน
2.การสุมเพลิงพระบรมศพบนพระจิตกาธาน ในกรณีที่พระบรมศพอยู่ในหีบพระบรมศพ เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อครั้งงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในปี 2539 เนื่องจากพระบรมศพของพระองค์ประดิษฐานในหีบ สำนักพระราชวังจึงตั้งหีบพระบรมศพบนพระจิตกาธานแล้วนำพระบรมโกศวางทับอีกชั้นหนึ่ง ก่อนถวายพระเพลิงบนพระจิตกาธานนั้น
3.การสุมเพลิงในเตาไฟฟ้า กรณีพระศพอยู่ในหีบ เกิดขึ้นเมื่อครั้งพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนคริทร์ ในปี 2551 ที่ประดิษฐานพระศพในหีบ ไม่ได้พระราชทานเพลิงบนพระจิตกาธาน แต่ได้อัญเชิญหีบพระศพลงจากพระจิตกาธาน แล้วนำเข้าไปพระราชทานเพลิงในเตาไฟฟ้าทางฝั่งตะวันตกของพระเมรุแทน
4.การสุมเพลิงพระศพในเตาไฟฟ้า กรณีพระศพอยู่ในพระโกศ เกิดขึ้นในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ในปี 2555 เนื่องจากมีการประดิษฐานพระศพในพระโกศตามโบราณราชประเพณี แต่ในช่วงการพระราชทานเพลิงจริง ได้นำพระโกศลงจากพระจิตกาธาน อัญเชิญไปเข้าเตาไฟฟ้าด้านตะวันตกของพระเมรุเพื่อพระราชทานเพลิง โดยครั้งนั้นเป็นเตาแบบพิเศษที่มีขนาดใหญ่กว่าปกติ เพื่อให้พระโกศเข้าไปข้างในเตาได้
ขอขอบคุณที่มา คลังประวัติศาสตร์ไทย