ในขบวนพระบรมราชพระอิสริยยศ มีการใช้บทเพลง เพลงพญาโศกลอยลม เพลงสรรเสริญเสือป่า เพลงสรรเสริญพระนาราย์ และยังมีการใช้บทเพลงพระราชนิพนธ์ ประกอบ การเคลื่อนขบวน คือ มาร์ชธงไชยเฉลิมพล มาร์ชราชวัลลภ ใกล้รุ่ง ยามเย็น สลับกันไป โดยบรรยากาศเมื่อเคลื่อนขบวนผ่าน ประชาชนต่างก้มลงกราบอย่างพร้อมเพียง และสะอื้นร่ำไห้อยู่ตลอดเวลา

สำหรับพญาโศกลอยลม สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นว่า สมัยนั้นไทยยังใช้เพลงต่างชาติในการเคลื่อนพระบรมศพหรือพระศพพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูง จึงทรงพระนิพนธ์เพลงพญาโศกสำหรับวงดุริยางค์ใช้บรรเลงถวายในงานพระศพของพระบรมวงศานุวงศ์ โดยทรงดัดแปลงเพลงพญาโศกที่เป็นดนตรีไทยให้เป็นตัวโน้ตดุริยางค์สากล


เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงฟังแล้ว โปรดเป็นอย่างมาก เพราะเป็นเพลงที่มีลีลาสง่า ยิ่งใหญ่ อารมณ์เศร้า และที่สำคัญมีความหนักแน่นในตัวเอง จึงเหมาะสมแก่การอวมงคลเป็นอย่างยิ่ง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ครั้งแรกในการพระราชพิธีพระบรมศพสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

ทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกาศให้เป็น “เพลงโศกประจำชาติ” ตั้งแต่นั้นมา และยังทรงให้ใช้ได้ตั้งแต่การพระราชพิธีพระบรมศพ พระศพเจ้านาย แม้กระทั่งงานศพสามัญชน

สำหรับเพลงพระราชนิพนธ์ มาร์ชราชวัลลภ หรือ Royal Guards March เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 7 ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นใน พ.ศ. 2491 ชื่อ ราชวัลลภ และพระราชทานให้เป็นเพลงประจำกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์เพื่อไว้ใช้ในพิธีสวนสนาม หลังจากนั้น ผบ.กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ได้มอบหมายให้ พ.ต.ศรีโพธิ์ ทศนุศ แต่งคำร้องภาษาไทยถวาย มีห้องเพลงยาวกว่าเดิม จึงขอพระราชทานทำนองเพิ่มเติมเพื่อให้เข้ากับคำร้อง ในการแก้ไขทำนองให้เข้ากับคำร้องนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยกร) ช่วยตรวจทาน และได้พระราชทานนามเพลงพระราชนิพนธ์นี้ว่า มาร์ชราชวัลลภ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน