ยล‘พูนาคาซอง’ กรุงเก่า‘ภูฏาน’ : ข่าวสดหรรษา

ข่าวสดหรรษา – “ภูฏาน” ประเทศเล็กๆ ที่มีภูเขาเป็นจำนวนมาก ตั้งอยู่ในเทือกเขาหิมาลัย ระหว่างอินเดียกับจีน เป็นดินแดนที่หลายคนใฝ่ฝันจะเดินทางไป เป็นจุดหมายปลายทางอันดับต้นๆ ของนักท่องเที่ยว

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมประชุมคณะทำงานกับสภาการท่องเที่ยวภูฏาน ภายใต้บันทึกความเข้าใจ หรือเอ็มโอยู เพื่อขยายช่องทางสร้างรายได้ท่องเที่ยวเพิ่มของทั้ง 2 ประเทศ

สะพานเดินเข้าด้านใน

กำหนดเส้นทางการท่องเที่ยวที่สอดคล้องกัน เพื่อดึงกลุ่มนักท่องเที่ยวเฉพาะ เช่น การท่องเที่ยวในเชิงศาสนา ให้มาท่องเที่ยวและใช้จ่ายในประเทศทุกเมืองในดินแดนแห่งนี้มีสถานที่ท่องเที่ยวมากมาย หากใครได้มาเยือนแล้ว ต้องไม่พลาดมาเที่ยวชม “พูนาคาซอง” เป็นป้อมปราการที่งดงามที่สุด รายรอบไปด้วยธรรมชาติที่บริสุทธิ์

ทางเข้าพูนาคาซอง

ตัวป้อมตั้งตระหง่านอยู่ระหว่างแม่น้ำสองสาย คือแม่น้ำโพ และแม่น้ำโม ไหลมาบรรจบกัน เหมือนโอบกอดพูนาคาซองเอาไว้อย่างแนบแน่น

ครั้งหนึ่งป้อมปราการนี้เคยเป็นพระราชวัง ไกด์เล่าประวัติให้ฟังว่า พูนาคาเป็นเมืองเล็กๆ แต่มีบทบาทสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ของภูฏาน เพราะที่นี่เคยเป็นเมืองหลวงในช่วงฤดูหนาวมานานถึง 300 ปี (ปัจจุบันเมืองหลวงย้ายไปที่ “ทิมพู”)

สถานที่แห่งนี้จึงกลายเป็นที่ประทับของพระสังฆราชในฤดูหนาว เนื่องจากมีสภาพอากาศที่อบอุ่นกว่าเมืองอื่นๆ

ศาสนสถาน

หลังจากเดินข้ามสะพานเพื่อเข้าสู่ตัวป้อม พบกับสถาปัตยกรรมที่มีความวิจิตรสวยงามตามแบบฉบับภูฏานดั้งเดิม เต็มไปด้วยจิตวิญญาณทางศาสนา และร่องรอยทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เล่าขานถึงผู้พิทักษ์ สี่ทิศ

ความสำคัญของ “ซอง” หรือป้อมปราการ ในสมัยก่อน สร้างขึ้นในปี ค.ศ.1637 เพื่อป้องกันศัตรู แต่ปัจจุบันเป็นสถานที่บริหารราชการแผ่นดิน สถานที่ราชการ และวัด

ลวดลายสถาปัตยกรรม สถานที่สำหรับลามะสวดมนต์และศึกษาธรรม

เมืองพูนาคายังถูกขนานนามว่าเป็นเมืองโรแมนติกที่สุดของภูฏาน โดยเฉพาะในฤดูใบไม้ผลิ และยังเป็นสถานที่ใช้จัดพระราชพิธีอภิเษกสมรสของสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมีเคเซอร์ นัมเกล วังชุก ในปีค.ศ.2011

ภายในตัวอาคารมีขนาดกว้าง 180 เมตร ยาว 72 เมตร หอกลางสูง 6 ชั้น รูปทรงคล้ายเรือยักษ์ มีศาสนสถานทั้งหมด 21 หลัง องค์ประกอบต่างๆ สะท้อนถึงฝีมือเชิงช่างอันเป็นเลิศของชาวภูฏาน ทั้งพระตำหนัก โบสถ์ วิหาร เสา ภาพจิตรกรรม พระพุทธรูปดินเหนียว และรูปปั้นท่านซับดรุง

อีกมุมหนึ่งพูนาคาซอง

ตำนานของที่นี่ถูกเล่าขานความเป็นมาว่า “ซับดรุง งาวัง นัมเกล” เป็นพระลามะแห่งสำนักมังกรในทิเบต หลังเหตุการณ์แย่งชิง เจ้าสำนัก ท่านหนีการปองร้ายมายังแผ่นดินภูฏาน และแกล้งทิ้งอัฐิศักดิ์สิทธิ์ของพระอาจารย์ใหญ่ที่ทุกคนปรารถนา

ทหารฝ่ายศัตรูจึงพากันงมหาในแม่น้ำ แต่ต้องล้มตาย และถูกทหารของซับดรุงฆ่า ส่วนคนที่เหลือรอดชีวิตก็หนีกลับทิเบตกันหมด ชัยชนะครั้งนั้น ท่านจึงสร้างพูนาคาซอง ที่จุดบรรจบกันของทั้งสองแม่น้ำ

เมืองพูนาคาจึงเป็นราชธานีแห่งแรก และเป็นสัญลักษณ์แห่งการสร้างชาติของชาวภูฏาน

ระบำหน้ากาก

ปัจจุบันยังเป็นสถานที่ จัดงานฉลองเทศกาลพูนาคาเซชู ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในภูฏาน เป็นเทศกาลระบำหน้ากาก ร่ายรำด้วยท่วงท่าที่แข็งแรง ประกอบกับดนตรีบรรเลงท่วงทำนองที่มีมนต์ขลัง จัดขึ้นในช่วงเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ

นอกจากนี้ ยังถือว่าเป็นการรำลึกถึงวีรกรรมของท่านซับดรุง และถวายเครื่องบูชาพระแม่คงคาในงานเทศกาลนี้ด้วย

ไกด์เล่าว่าจุดไฮไลต์ของเทศกาลนี้ คือช่วงสุดท้ายของพิธีกรรมจะมีผ้าทังกา หรือผ้าพระบฏเป็นผ้าศักดิ์สิทธิ์ ผืนใหญ่โตขนาดเท่าตึก 4 ชั้น นำมาแสดงต่อหน้าทุกคนใน พูนาคาซอง

ลานจัดงานฉลองเทศกาลพูนาคาเซชู

ชาวภูฏานเชื่อว่าถ้าได้อยู่ต่อหน้าผ้าศักดิ์สิทธิ์ ถือว่าชำระล้างบาปได้ ทันทีที่ผ้ากางออก ชาวบ้านผู้มาเข้าร่วมในเทศกาลจะนั่งลงกับพื้น กราบไหว้แบบอัษฎางคประดิษฐ์ เป็นสิบๆ ครั้ง

พลังความศรัทธาแห่งพุทธศาสนาค่อนข้างมีบทบาทในการดำเนินชีวิตของผู้คนที่นี่ นับตั้งแต่เกิดจนลมหายใจสุดท้ายของชีวิต

เมืองพูนาคาเป็นอีกสถานที่สำคัญ ที่ใครมาเยือนภูฏานควรมาเที่ยวชมสักครั้ง

สุพันนิกา พรหมมา

อ่านข่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน