“วราวุธ” รมว.ทส. ลงพื้นที่ติดตามตรวจเยี่ยมความก้าวหน้าโครงการ คทช. พื้นที่อ.นาแห้ว จ.เลย แก้ปัญหาทรัพยากรที่ดินและป่าไม้ หนุนปลูกป่า กว่า 7 หมื่นไร่ เน้นปลูกฟื้นฟูรูปแบบแนวทางใหม่ พร้อมนำร่องขยายผลสู่ 13 จังหวัด และทั่วประเทศ

 

ที่อ.นาแห้ว จ.เลย – นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) พร้อมด้วยนายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ว่าที่ปลัดกระทรวงทส. นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ และนายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผวจ.เลย ลงพื้นที่ติดตามและตรวจเยี่ยมความก้าวหน้าโครงการจัดที่ดินทำกินให้กับชุมชน (คทช.) ในพื้นที่อ.นาแห้ว จ.เลย ตามนโยบายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาทรัพยากรที่ดินและป่าไม้

นายวราวุธ กล่าวว่า ทส.ได้เดินหน้าตามนโยบายของรัฐบาลในการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยทำกินของประชาชนในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ และกำชับให้หน่วยงานภายในสังกัดทส. ที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ปัญหาให้ประชาชนสามารถอยู่อาศัยและทำกินอยู่ในพื้นที่ป่าตามกรอบมาตรการและแนวทางที่หน่วยงานภาครัฐเป็นผู้กำหนด

โดยยึดถือให้คนกับป่าสามารถอยู่ร่วมกันได้ภายใต้นิยาม “รัฐได้ป่า ประชาได้ที่ทำกิน บนผืนแผ่นดินเดียวกัน” ส่งเสริมให้มีการสร้างความรู้ ความเข้าใจ พร้อมทั้งปลูกจิตสำนึกให้กับประชาชน ให้เกิดความรักและหวงแหนทรัพยากรป่าไม้ของชาติ

พร้อมทั้งมุ่งเน้นส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบังคับใช้กฎหมายกับกลุ่มนายทุนที่เข้าไปบุกรุกป่า และแอบลักลอบตัดไม้มีค่า ทั้งนี้เพื่อจะรักษาและป้องกันพื้นที่ป่าที่ยังเหลืออยู่ ควบคู่กับการฟื้นฟูพื้นที่ป่าที่ถูกบุกรุกให้กลับคืนความอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่เพิ่มเพื่อน

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวเสริมว่า กรมป่าไม้ได้ดำเนินงานตามกรอบมาตรการแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ตามมติครม. 26 พ.ย. 61 โดยแบ่งตามระดับชั้นลุ่มน้ำ และระยะเวลาในการเข้าอยู่อาศัยทำกินในพื้นที่ป่า

กำหนดแนวทางการฟื้นฟูพื้นที่ คทช. ในลุ่มน้ำชั้น 1,2 ที่มีการอยู่อาศัยทำกินมาก่อนมติ ครม. 30 มิ.ย. 41 เป็นพื้นที่ที่ประชาชนจะได้รับการจัดระเบียบการใช้ที่ดินเพื่อรับรองสิทธิ์ให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินได้อย่างถูกต้อง โดยต้องอยู่ภายใต้กรอบมาตรการที่กรมป่าไม้กำหนด

นายอรรถพล กล่าวอีกว่า ทั้งนี้กรมป่าไม้จะนำร่องการปลูกฟื้นฟูป่าในพื้นที่ 13 จังหวัด ได้แก่ จ.เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน พะเยา ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ ตาก พิษณุโลก เพชรบูรณ์ และเลย เนื้อที่รวม 1.5 ล้านไร่ ซึ่งจะส่งเสริมให้ปลูกป่า 3 อย่าง ร้อยละ 20 ของพื้นที่ เป็นเนื้อที่ปลูกป่า 306,017 ไร่

โดยให้ประชาชนปลูกไม้โครงสร้างเป็นไม้ประจำถิ่นและเป็นไม้ยืนต้น เช่น ต้นสัก ประดู่ยางนาฯลฯ มีสัดส่วนพื้นที่ 1 ไร่ ต้องปลูกต้นไม้ 200 ต้น แบ่งเป็นไม้โครงสร้างหลักไม้ประจำถิ่นไม้ยืนต้น อาทิ ยางนาสัก ประดู่ พะยูง ฯลฯ 100 ต้น

ไม้โครงสร้างรองซึ่งเป็นไม้ปลูกไว้สำหรับทานใบ ทานผล เช่น ขี้เหล็ก สะตอ ฯลฯ 50 ต้น และปลูกพืชคลุมดินพืชผลทางการเกษตร และเป็นพืชที่ไม่ต้องการแสงมากให้ผลผลิตเร็ว จำพวก กาแฟ หัวข่า ชา ฯลฯ อีก 50 ต้น

โดยให้ประชาชนเป็นผู้ปลูกและดูแลรักษาตามแนวเขตพื้นที่แปลงของตนเองโดยรอบ และห้ามตัดฟันเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ ป้องกันการชะล้าง ป้องกันการพังทลายของหน้าดิน และประชาชนต้องช่วยดูแลหากพบต้นไม้ต้นใดตายต้องมีการปลูกไม้ต้นใหม่ทดแทนต้นเดิม

“สำหรับการปลูกฟื้นฟูป่าในพื้นที่ คทช. จ.เลย ตามโครงการจัดระเบียบการใช้ที่ดินในพื้นที่ลุ่มน้ำ 1,2 มีพื้นที่เป้าหมาย 75,734 ไร่ มีราษฎรที่ร่วมโครงการที่จะได้รับการรับรองสิทธิ์จำนวนประมาณ 26,705 ราย โดยพื้นที่แห่งนี้จะใช้การปลูกฟื้นฟูรูปแบบแนวทางใหม่ที่กล่าวมาข้างต้น และจะนำมาใช้นำร่องก่อนใน 13 จังหวัดภายในปีนี้ และจะใช้เพื่อเป็นต้นแบบสำหรับขยายผลในการดำเนินการฟื้นฟูพื้นที่อื่น ๆ ต่อไปในอนาคต” อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน