ไปงานยางพาราบึงกาฬ-แนะเที่ยวชม‘หินสามวาฬ’

งานวันยางพาราบึงกาฬ 2563 : บึงกาฬโมเดล 2020

ได้ฤกษ์เริ่มงานวันนี้ “งานวันยางพาราบึงกาฬ 2563 : บึงกาฬโมเดล 2020” วันที่ 12-18 ธ.ค.2562 ที่สนามหน้าที่ว่าการ อ.เมือง จ.บึงกาฬ ภายใต้แนวคิด “บึงกาฬโมเดล 2020” งานที่นำเสนอต้นแบบการแก้ไขปัญหายางพารา นำไปสู่การพัฒนาเมือง เศรษฐกิจ การท่องเที่ยว วัฒนธรรม

ไปงานยางพาราบึงกาฬ

หินสามวาฬ-บึงกาฬ

วันยางพาราบึงกาฬปีนี้จัดเป็นปีที่ 8 ด้วยจุดประสงค์ที่ชัดเจนว่าต้องการส่งเสริมจังหวัดบึงกาฬให้เป็นศูนย์กลาง อุตสาหกรรมยางพาราและอุตสาหกรรมต่อเนื่องของภูมิภาคและประเทศไทย ผลักดันให้เกิดการค้าขายและการลงทุนของอุตสาหกรรมยางพาราและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เพื่อให้เศรษฐกิจของบึงกาฬเติบโต พร้อมประชาสัมพันธ์นโยบายประกันรายได้ยางพารา ข้าว และพืชเศรษฐกิจอื่นๆ ของรัฐบาล เพื่อยกระดับรายได้ของเกษตรกร

ไปงานยางพาราบึงกาฬ

หินสามวาฬ-บึงกาฬ-ชมแสงอาทิตย์

อีกทั้งเสริมสร้างกระบวนการเรียนรู้ของ เยาวชนและคนในพื้นที่ผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย ทั้งการอบรม การให้ความรู้ ตลอดจนการแข่งขันด้านต่างๆ เพื่อเป็นการตอกย้ำว่าจ.บึงกาฬ เป็นเมืองศูนย์กลางยางพาราของประเทศที่มีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ

ขาดไม่ได้คือประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดบึงกาฬ

ไปงานยางพาราบึงกาฬ

หินสามวาฬ-บึงกาฬ ชม‘หินสามวาฬ’

ดังนั้นใครที่มีโอกาสไปเที่ยวงานนี้ ก็ไม่ควรพลาดท่องเที่ยวสถานที่สำคัญของจังหวัดบึงกาฬด้วย ยิ่งอากาศเย็นๆ ในช่วงนี้ยิ่งทำให้การท่องเที่ยวน่ารื่นรมย์ยิ่งขึ้น

แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติที่น่าทึ่งและอยาก แนะนำก็คือ “หินสามวาฬ” หินทรายที่ตั้งอยู่บนภูสิงห์ในเขตพื้นที่ ต.โคกก่อง ต.ชัยพร อ.เมืองบึงกาฬ และเขต ต.นาสิงห์ ต.นาสะแบง และ ต.นาแสง อ.ศรีวิไล จ.บึงกาฬ

ไปงานยางพาราบึงกาฬ

รูปทรงของหินคล้ายวาฬสามตัว พ่อ แม่ ลูก ตั้งอยู่บนเนื้อที่ของป่าสงวนแห่งชาติป่าดงดิบกะลา ป่าภูสิงห์และ ป่าดงสีชมพู มีพื้นที่ประมาณ 12,000 ไร่

ภูสิงห์มีความสูงห่างจากน้ำทะเล 420 เมตร เป็นภูเขาหินทราย ช่วงเช้าตรู่ประมาณ ตี 5 ครึ่งถึง 6 โมงเช้า จะมองเห็นพระอาทิตย์โผล่ขึ้นขอบฟ้าสีเหลืองอร่ามงามตาบนหินสามวาฬ ส่วนช่วงเย็นประมาณ 5-6 โมงเย็น จะเห็นพระอาทิตย์ตกดินลับขอบฟ้าเป็นสีแดงอย่างสวยงามเช่นกัน ทางทิศตะวันตก

ที่จุดชมวิว “ส้างร้อยบ่อ” ก่อนถึงหินสามวาฬ จะมีถ้ำขนาดใหญ่ ซึ่งสมัยก่อน สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยที่รัฐบาลตอนนั้นเรียกว่า ผกค. (ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์) ใช้เป็นที่มั่นต่อสู้กับฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐบาล จุคนได้ประมาณ 300 คน เป็นทั้งห้องประชุม หลบภัยหลบลูกกระสุนปืนใหญ่ และเป็นห้องพยาบาล

ห่างจากนี้ไปอีกประมาณ 1 กิโลเมตร พบลานหินปุ่มที่มีลักษณะแตกต่างกัน บางแห่งก็เป็นหินปุ่มลายเหมือนลายแทง บางแห่งก็เป็นลายเหมือนค่ายกลมีคดเคี้ยว บางแห่งก็เป็นลายหินปุ่มเหมือนขนมดอกจอก

ไปงานยางพาราบึงกาฬ

และไปอีกประมาณ 2 กิโลเมตรจะพบกับขัวหิน หรือสะพานหิน ยาวประมาณ 20 เมตร กว้างประมาณ 1 เมตร ลึกลงก้นเหวประมาณ 15 เมตร

ใกล้กันจะมองเห็นภูหินรถไฟเด่นสง่าคล้ายขบวนรถไฟที่กำลังหยุดอยู่ ที่มีตู้ขบวนประมาณ 4 ตู้พ่วงติดกัน และส่วนหัวก็จะดูคล้ายหัวรถจักร มีก้อนหินขนาดเล็กวางอยู่บนหัวรถจักรอีกทีหนึ่ง ส่วนรถไฟหินที่ดูเว้าแหว่งมองด้านข้างคล้ายตู้รถไฟ

อดีตสหายเทียนชัยชื่อจัดตั้งในป่าสมัยนั้น หรือ นายประสิทธิ์ หอมสมบัติ อายุ 73 ปี เล่าว่าเป็นเพราะถูกกระสุนปืนใหญ่ของฝ่ายทหารยิงถล่มเมื่อปี พ.ศ.2521-2522 มีการสูญเสียกำลังพลทั้ง 2 ฝ่าย

ภูสิงห์ และ หินสามวาฬ อยู่ห่างจากจังหวัด บึงกาฬประมาณ 24 กิโลเมตร หากขับรถไปตามถนนเลียบแม่น้ำโขง ถนนหลวงสาย 212 หรือชื่อเป็นทางการว่า ถนนชยางกูร ประมาณ 20 กิโลเมตรเลี้ยวขวาหน้าโรงเรียนบ้านโคกก่องมิตรภาพ ไปตามถนนสาย 3007 บ้านโคกก่อง-ศรีวิไล ประมาณ 3 ก.ม.กว่าๆ แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าไปตามถนนคอนกรีตอีกประมาณ 700 เมตรถึงจุดจอดรถและลงทะเบียนของศูนย์จัดการกลุ่มป่าสงวนที่ 154 ป่าดงดิบกะลา ป่าภูสิงห์ และป่าดงสีชมพู บ้านโนนทรายทอง หมู่ที่ 8 ต.โคกก่อง จากจุดนี้ไปชมหินสามวาฬประมาณ 3.5 กิโลเมตร

นายสถาพร ปัททุม นักวิชาการป่าไม้ปฏิบัติการ สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 6 (อุดรธานี) ผู้ที่เพิ่งย้ายมารับตำแหน่งดูแลภูสิงห์ กล่าวว่า หินสามวาฬเปิดให้ประชาชนได้เข้าไปเที่ยวชมความสวยงามตามธรรมชาติและชมแสงพระอาทิตย์ยามเช้าตรู่ได้ไม่นานก็ติดลมบนแล้ว ทำให้นักท่องเที่ยวสนใจมาเยี่ยมชมเป็นจำนวนมาก

และยังมีแหล่งท่องเที่ยวอีกหลายแห่งบนภูสิงห์แห่งนี้ที่ยังไม่สามารถเปิดให้ กับนักท่องเที่ยวได้มาชม เนื่องจากเจ้าหน้าที่เรามีไม่เพียงพอ รวมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นที่พักและห้องน้ำห้องส้วม

ไปงานยางพาราบึงกาฬ

สถาพร ปัททุม

ล่าสุดนี้ กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นได้อนุมัติงบ 7.9 ล้านบาท ให้เทศบาลตำบลโคกก่องมาก่อสร้างที่พักแรมและลานจอดรถอยู่ที่ศูนย์จัดการ กลุ่มป่าสงวนที่ 154 ด้านล่างทางขึ้นภูสิงห์ รวมทั้งทำถนนคอนกรีตเพิ่มบนทางขึ้นไปดูหินสามวาฬ

เนื่องจากหน้าฝนก็มีน้ำกัดเซาะเป็นหลุมบ่อ ส่วนหน้าแล้งก็มีฝุ่น และยังไม่เปิดให้นักท่องเที่ยวขึ้นไปพักแรมข้างบนได้ เนื่องจากปัญหาความไม่ปลอดภัย ทั้งจากสัตว์ป่า พลัดตกหน้าผา และอาจทำให้เกิดไฟป่าลุกไหม้ได้ หากจะพักค้างคืนก็ขอให้นำเต็นท์นอนติดรถไปด้วย ส่วนบนหินสามวาฬช่วงนี้ลมจะแรงมากขอให้นักท่องเที่ยวระมัดระวังด้วย

นายสถาพรกล่าวด้วยว่า ในอนาคตจะให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและประชาชนที่อาศัยอยู่ติดกับภูสิงห์ ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาและสร้างรายได้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการดูแลรักษาป่า ป้องกันไฟไหม้ป่าบนภูสิงห์ สร้างทางขึ้นเที่ยวชมใหม่และนำสินค้าชุมชนมาขายหรือให้บริการแก่นักท่อง เที่ยว เป็นการสร้างรายได้ให้กับชุมชนอีกด้วย

โดย นิธิศักดิ์ เศรษฐแสงศรี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน