วันเสาร์ที่ 23 พ.ย.2567 น้อมรำลึกครบ 162 ปีชาตกาล “หลวงปู่ใจ อินทสุวัณโณ” หรือ พระราชมงคลวุฒาจารย์ วัดเสด็จ ต.เหมืองใหม่ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม พระเกจิอาจารย์ชื่อดังลุ่มน้ำแม่กลอง
อีกทั้งยังเป็นพระนักพัฒนาที่มีผลงานเป็นประจักษ์มากมาย ทั้งในส่วนของการพัฒนาวัดวาอาราม ตลอดถึงสถานศึกษาต่างๆ อิทธิคุณความเข้มขลังด้านพุทธาคม เป็นที่เลื่องลือกล่าวขวัญ จากประสบการณ์ในวัตถุมงคลที่ได้สร้างและปลุกเสกเอาไว้
เดิมชื่อ “ใจ ขำสนชัย” ถือกำเนิดเมื่อวันที่ 23 พ.ย.2405 ที่บ้าน ต.บางกุ้ง อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม
อายุ 15 ปี ครอบครัวอพยพไปตั้งถิ่นฐานที่ ต.เหมืองใหม่ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ภูมิลำเนาของบิดา
อายุ 21 ปีบริบูรณ์ อุปสมบทที่วัดบางเกาะเทพศักดิ์ มีพระอาจารย์จุ้ย เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายา “อินทสุวัณโณ”
อยู่จำพรรษาวัดบางเกาะเทพศักดิ์ เพื่อศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรม วิปัสสนากัมมัฏฐาน รวมถึงวิทยาคมต่างๆ จากพระอุปัชฌาย์
ตั้งใจเล่าเรียนทั้งอักษรไทยและขอมจนแตกฉาน มีความสนใจในด้านวิทยาคมต่างๆ และศึกษาวิชาสมาธิภาวนาจากหลวงปู่ยิ้ม วัดหนองบัว พระเกจิอาจารย์ชื่อดังกาญจนบุรี
พ.ศ.2434 พระอาจารย์จุ้ย ผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ พิจารณาเห็นว่าเป็นผู้มีความสามารถภูมิปัญญาความรอบรู้ พอที่จะดูแลตัวเอง และหมู่คณะได้เป็นอย่างดี และขณะนั้นวัดใหม่ยายอิ่ม สร้างใหม่ ไร้เจ้าอาวาสปกครองดูแลพัฒนา จึงมอบหมายให้ไปดูแลปกครอง
ทุ่มเทสติปัญญา กำลังกาย กำลังใจ สร้างและพัฒนาวัดแห่งนี้ให้เจริญรุ่งเรืองตามลำดับ จนเป็นวัดแห่งหนึ่งของสมุทรสงคราม ที่มีความใหญ่โต สวยงาม เป็นหน้าเป็นตาของจังหวัด
ครั้งหนึ่ง สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ วัดบวรนิเวศวิหาร เสด็จตรวจการคณะสงฆ์ตามหัวเมืองใหญ่ ได้เสด็จมายังวัดแห่งนี้ ได้ประทานนามวัดเสียใหม่ว่า “วัดเสด็จ”
ทรงมีความคุ้นเคยกับวัดเสด็จ และมีเมตตาต่อหลวงปู่ใจ ดังจะเห็นได้จากอุโบสถที่สร้างใหม่นั้น ประทานทุนทรัพย์จ้างช่างหลวง ดำเนินการออกแบบและก่อสร้างให้ นอกจากนี้ พระบรมวงศานุวงศ์ที่เคยตามเสด็จ ยังร่วมบริจาคทรัพย์สมทบในการสร้างอุโบสถวัดเสด็จด้วย
เป็นพระเถราจารย์ที่ประพฤติปฏิบัติตนอยู่ในกรอบพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัดเสมอต้นเสมอปลาย พูดน้อย และพูดแต่คำที่เป็นประโยชน์ ไม่ยกตนข่มท่าน และไม่โอ้อวดคุณวิเศษที่มีอยู่ในตัว
ในสมัยที่กำลังสร้างวัดเสด็จ ต้องเดินทางไปที่จังหวัดกาญจนบุรีอยู่บ่อยครั้ง เพื่อไปหาซื้อไม้มาสร้างวัด ขึ้นล่องอยู่หลายปีจึงสร้างวัดได้สำเร็จ และทุกปี จะมาแวะพักที่วัดหนองบัว นำหมากพลูมาถวายหลวงปู่ยิ้มที่เคารพนับถือมาก
ครั้งหนึ่งหลวงปู่ยิ้มพูดว่า ถ้าสนใจในวิทยาคมก็จะถ่ายทอดให้ ท่านจึงรีบขอเป็นศิษย์ทันที หลวงปู่ยิ้ม มอบบทเรียนบทแรกว่าด้วยการทดสอบพลังจิต โดยจุดเทียนตั้งไว้ที่ขันน้ำมนต์ แล้วให้เพ่งกระแสจิตไปที่เทียนให้เทียนขาดกลางให้ได้ ถ้าทำได้เมื่อใดจึงจะมอบวิชาให้
ทำอยู่ 7 คืน เทียนก็ไม่ยอมขาด หลังจากกลับมาพัก จึงตัดสินใจว่าถ้าหากคืนพรุ่งนี้ เทียนยังไม่ขาด ก็จะกลับอัมพวา ปรากฏว่าคืนวันที่ 8 ก็ทำได้สำเร็จ
หลวงปู่ยิ้มกล่าวชมว่า “เมื่อแรกเรียนท่านก็เก่งกว่าเสียแล้ว” เพราะหลวงปู่ยิ้ม ต้องทำอยู่นานถึง 15 วัน หลวงปู่ยิ้มจึงถ่ายทอดวิชาว่าด้วยการสร้างตะกรุดปราบทาษามหาระงับ ตะกรุดลูกอมอันเลื่องลือให้แก่หลวงปู่ใจจนหมดสิ้น
ทั้งนี้ การสร้างวัตถุมงคล หลวงปู่ใจจะพิถีพิถันใช้ความประณีตบรรจงอย่างที่สุด เช่น ตะกรุดแต่ละชนิด ต้องมีขนาดเท่ากัน การม้วนต้องเหมือนกัน การฝั้นไหม 5 สีร้อยตะกรุด ต้องใช้เส้นไหมที่มีขนาดเท่ากันทุกเส้น เวลาฝั้นต้องจัดเกลียวให้เป็นระเบียบเดียวกัน เป็นต้น
ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2496 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระสุทธิสาราวุฒาจารย์
วันที่ 5 ธ.ค.2504 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชมงคลวุฒาจารย์
มรณภาพเมื่อวันเสาร์ที่ 23 มิ.ย.2505 สิริอายุ 100 ปี พรรษา 78