ร้ายกว่าเชื้อโรค มลพิษทางอากาศ ทำคนอายุสั้น คร่า 8.8 ล้านรายต่อปี

ร้ายกว่าเชื้อโรค มลพิษทางอากาศ – วันที่ 3 มี.ค. เดลีเมล์รายงานว่า มลพิษทางอากาศกำลังส่งผลให้อายุของประชากรโลกลดลงเฉลี่ยราว 3 ปี และคร่าชีวิตมนุษย์กว่า 8.8 ล้านคนต่อปี มากกว่าเชื้อไวรัสเอชไอวี ที่ก่อโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง โรคไข้มาลาเรีย การสูบบุหรี่ และไฟสงคราม

การค้นพบดังกล่าวเป็นการศึกษาของคณะนักวิทยาศาสตร์ประเทศเยอรมนี พบว่าประชาคมโลกกำลังเผชิญกับมหันตภัยร้ายแรง เปรียบได้กับการแพร่ระบาดทั่วโลกของมลภาวะทางอากาศ โดยอายุเฉลี่ยของประชากรโลกกำลังลดลง โดยเฉพาะประชากรในทวีปเอเชีย

การศึกษาพบว่า ประชากรในประเทศแถบเอเชียตะวันออก เช่น ญี่ปุ่น มีอายุเฉลี่ยน้อยลงเกือบ 4 ปี และราว 2.2 ปี สำหรับประชากรในทวีปยุโรป สาเหตุมาจากการเผชิญกับมลพิษทางอากาศเป็นเวลานานชั่วอายุคน ทำให้หัวใจและหลอดเลือดได้รับผลกระทบใหญ่หลวง

ซ้ำร้ายไปกว่านั้น ผู้เสียชีวิต 2 ใน 3 มีสาเหตุมาจากมลพิษทางอากาศที่สามารถทำให้หมดไปได้ เพราะเกิดจากฝีมือของมนุษย์ เช่น การเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล

ข้อมูลดังกล่าวได้รับการศึกษาผ่านคณะผู้เชี่ยวชาญนำโดย ศาสตราจารย์ โจส ไลลีเวลด์ จากสถาบันเคมี มัคซ์ พลังค์ นครไมนทซ์ เมืองหลวงและเมืองใหญ่ที่สุดของรัฐไรน์ลันท์-ฟัลทซ์ ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างระยะเวลาที่เผชิญกับมลพิษในอากาศกับอายุเฉลี่ยที่ลดลงของผู้คน

การคำนวณของคอมพิวเตอร์ได้ผลลัพธ์เป็นอายุเฉลี่ยของประชากรโลกลดลง 2.9 ปี หรือราว 2 ปี กับ 10 เดือน มากกว่าการสูบบุหรี่ (2.2 ปี) โรคเอดส์ (0.7 ปี) โรคไข้มาลาเรีย (0.6 ปี) และไฟสงคราม (0.3 ปี)

นำไปสู่การเสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศกว่า 8.8 ล้านราย เมื่อปี 2558 มากกว่าจำนวนผผู้เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ (7.2 ล้านราย) โรคเอดส์ (1 ล้านราย) โรคไข้มาลาเรีย (6 แสนราย) และไฟสงคราม (5.3 แสนราย)

มลพิษทางอากาศนับเป็นปัจจัยใหญ่ที่สุดที่ทำให้อายุเฉลี่ยของประชากรโลกลดลง โดยร้อยละ 75 มาจากกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด เป็นผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป

คณะผู้ศึกษา สรุปไว้ในวารสารการแพทย์ คาร์ดิโอวาสคูลาร์ รีเสิร์ช ว่า มลพิษอากาศ ถือเป็นหนึ่งในความเสี่ยงระดับโลกทางด้านสุขภาพ

ศ.ไลลีเวลด์ กล่าวว่า ตัวเลขที่ออกมาถือว่าน่าตกใจมากที่มลพิษอากาศคร่าชีวิตผู้คนปีหนึ่งๆ มากกว่าหรือเท่ากับการสูบบุหรี่ แถมยังสูงกว่าโรคร้ายอื่นๆ อาทิ ไข้มาลาเรียถึง 19 เท่า ความรุนแรง 16 เท่า โรคเอดส์ 9 เท่า แอลกอฮอล์ 45 เท่า และยาเสพติด 60 เท่า

ด้านศ.มุนเซล ผู้ร่วมคณะวิจัย ระบุว่า ข้อมูลที่ปรากฎออกมาจากการศึกษาครั้งนี้สะท้อนว่า มลพิษอากาศเป็นภัยคุกคามร้ายแรง อาจถือได้ว่าทุกคนกำลังเผชิญกับการระบาดทั่วโลกของมลพิษทางอากาศ

“การศึกษาดังกล่าว เราแบ่งมลพิษทางอากาศเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ประเภทที่หลีกเลี่ยงได้ คือ เกิดจากน้ำมือมนุษย์ และที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ คือ เกิดจากธรรมชาติ เช่น พายุทราย และไฟป่า”

“เราพบว่าผู้เสียชีวิต 2 ใน 3 มีสาเหตุมาจากมลพิษอากาศที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ โดยการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นปัจจัยใหญ่ที่สุด โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศร่ำรวย ซึ่งผู้เสียชีวิตร้อยละ 80 มาจากสาเหตุที่ว่า นั่นหมายความว่า ปีๆ นึง มีคนต้องตายกว่า 5.3 ล้านราย จากมลพิษอากาศที่หลีกเลี่ยงได้”

คณะนักวิจัย แนะนำว่า หากสามารถกำจัดมลพิษอากาศที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ได้จะทำให้อายุเฉลี่ยประชากรโลกเพิ่มขึ้นอย่างน้อยเกือบ 2 ปี หรือหากตัดการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลออกไปก็จะเพิ่มอายุเฉลี่ยให้ชาวโลกได้ราว 1 ปี แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแต่ละทวีปด้วย เพราะปัจจัยไม่เหมือนกัน

ยกตัวอย่างทวีปแอฟริกา ซึ่งเป็นทวีปที่เผชิญกับมลพิษอากาศเลวร้ายที่สุด มีอายุเฉลี่ยลดลงถึง 3 ปี การกำจัดมลพิษอากาศที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์จะทำให้ได้อายุเฉลี่ยคืนมาเพียง 0.7 ปี เพราะว่าส่วนใหญ่มาจากฝุ่นจากธรรมชาติ

ขณะที่หากเทียบกับทวีปเอเชีย ซึ่งมีอายุเฉลี่ยลดลงถึง 4 ปี หากกำจัดมลพิษอากาศที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ไปได้ก็จะได้อายุเฉลี่ยคืนมามากถึง 3 ปี เพราะส่วนใหญ่มลพิษอากาศมาจากน้ำมือมนุษย์

ส่วนทวีปยุโรปที่มีอายุเฉลี่ยลดลง 2.2 ปี จะได้กลับมา 1.7 ปี ขณะที่ทวีปอเมริกาที่มีอายุเฉลี่ยลดลง 1.4 ปี จะได้คืนมาราว 1.1 ปี ทั้งหมดจากการเลิกเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล

นายแพทย์แซมมวล ไช่ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาจากมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด ประเทศอังกฤษ กล่าวว่า ผลการศึกษาตอกย้ำว่ามลพิษอากาศนับเป็นอันตราย เรียกได้ว่า เหมือนการสูบบุหรี่แบบใหม่ จากตัวเลขที่สังเกตแล้ว ถือว่าเข้าข่ายระบาดทั่วโลก (Pandemic)

รายงานยังลงลึกถึงการศึกษามิติการแพทย์ด้วยโดยแบ่งโรคออกเป็น 6 ประเภท พบว่า โรคหัวใจและหลอดเลือด (CVD) รวมถึงหลอดเลือดหัวใจ และหลอดเลือดในสมอง เป็นปัจจัยใหญ่ที่สุด คิดเป็นร้อยละ 43 ของผู้เสียชีวิตจากมลพิษอากาศ

ศ.ไลลีเวลด์ ระบุว่า มลพิษอากาศ ควรถูกจัดเป็นอีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงสำหรับผู้ป่วย CVD เช่นเดียวกันกับการสูบบุหรี่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และคอเรสเตอรอลสูง

“มลพิษอากาศสร้างความเสียหายแก่หลอดเลือดเพราะเกิดภาวะเครียดออกซิเดชั่น นำไปสู่ความดันโลหิตสูง เบาหวาน สโตรก หัวใจขาดเลือด และหัวใจล้มเหลว”

ทั้งนี้ ภาวะเครียดออกซิเดชั่น คือความไม่สมดุลระหว่างอนุมูลอิสระกับระบบต้านออกซิเดชั่นในร่างกาย ส่งผลให้ดีเอ็นเอโปรตีน ไขมัน ถูกทำลายโดยปฏิกิริยาออกซิเดชั่น (เสียสมดุลรีด็อกซ์)

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน