เปิดประวัติ ผู้มั่งคั่งจากโทรคมนาคม ที่ชื่อ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ที่อยู่ดีๆ ‘ประยุทธ์’ ก็คิดถึง เอ่ยปากกล่าวลอยๆ ก่อนการประชุมคณรัฐมนตรี (ครม.)

จากกรณีเมื่อวันนี้ (9 ก.พ.) ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กล่าวก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตอนหนึ่ง ถึงผู้มั่งคั่งจากโทรคมนาคม เมื่อปี 2530 ระหว่างที่ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และคณะผู้บริหาร เข้าพบเพื่อนำเสนอผลงานภายใต้โครงการ BCG เพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานราก ผลงาน BCG : พลังเศรษฐกิจใหม่ พัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ตอนหนึ่งว่า

อย่าไปคิดแต่เรื่องเดิมๆทำแต่เรื่องเดิมๆ มันก็จะได้แต่เรื่องเดิม ลดความเหลื่อมล้ำอะไรไม่ได้ แล้วอยากบอกว่าประเทศไทยเราเปลี่ยนไปตั้งแต่ปี 2520 ที่มีการปรับเปลี่ยนจากเกษตรกรรมมาเป็น เรื่องการส่งออกและเทคโนโลยี ไม่เช่นนั้นคงไม่มีคนรวยเมื่อปี 2530 หรอก ลองไปดูสิ ใครรวยเมื่อปี 2530 จากโครงการโทรคมนาคม ซึ่งต่อมา ผู้สื่อข่าวถามว่าช่วงนี้เข้าใจพูดเข้าใจโยง พล.อ.ประยุทธ์ หันมากล่าวว่า “ทำไม ในหัวยังมีอีกเยอะ”

ทั้งนี้ เมื่อตรวจสอบช่วงเวลาที่ พล.อ.ประยุทธ์ ระบุเราก็พบว่า ชายผู้มั่งคั่งร่ำรวยจากโครงการโทรคมนาคม เมื่อปี 2530 หรือเมื่อประมาณ 34 ปีที่แล้วก็คือ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี คนที่ 23 ของประเทศไทยนี่เอง

โดยหากย้อนประวัติของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะพบว่า ในปี พ.ศ. 2530 นายทักษิณลาออกจากราชการตำรวจ แล้วขายละครเรื่อง บ้านทรายทอง ซึ่งประสบความสำเร็จในโรงภาพยนตร์ ในปี พ.ศ. 2531 เข้าร่วมกับแปซิฟิกเทเลซิสเพื่อดำเนินการและจัดจำหน่ายบริการเพจเจอร์ แพ็กลิงก์ ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างจำกัด

ต่อมาขายหุ้นเพื่อไปตั้งบริษัทเพจเจอร์ของตัวเอง ในปี พ.ศ. 2532 เขาเปิดบริษัทโทรทัศน์เคเบิลไอบีซี สุดท้ายบริษัทขาดทุนจนสุดท้ายรวมบริษัทกับยูทีวีของซีพีกรุ๊ป ในปี พ.ศ. 2532 ตั้งบริการเครือข่ายข้อมูล ชินวัตรดอตคอม ซึ่งปัจจุบันชื่อ แอดวานซ์ ดาต้าเน็ทเวิร์ค และมีเอไอเอสและทีโอทีเป็นเจ้าของ ธุรกิจของทักษิณหลายอย่างต่อมารวมกันเป็น “ชินคอร์เปอเรชัน”

ทั้งนี้ ใน เว็บไซต์ส่วนตัวของนายทักษิณ ได้เคยระบุเรื่องนี้เอาไว้ โดยเล่าว่า ช่วงต้นทศวรรษ 2530 เป็นช่วงที่ธุรกิจโทรคมนาคมของ นายทักษิณนั้น เริ่มมั่นคงจนสามารถนำธุรกิจในเครือหลายบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้อย่างต่อเนื่อง แต่ถึงกระนั้นท่านก็ยังมองเห็นสิ่งที่ยังหายไปจากภาพใหญ่ของธุรกิจโทรคมนาคมของประเทศ ซึ่งนั่นก็คือ “การสื่อสารผ่านดาวเทียม”

ถึงแม้ว่าในขณะนั้นทั่วทั้งประเทศไทยจะสามารถสื่อสารผ่านเครือข่ายภาคพื้นดินได้อย่างครอบคลุมแล้ว แต่ก็ยังมีจิ๊กซอว์ตัวสำคัญที่ขาดไปอีกตัวหนึ่งนั่นคือช่องทางการสื่อสารข้อมูลผ่านทางอากาศทั้งแบบทั่วประเทศและข้ามประเทศของตัวเอง ซึ่งหลายสิบปีก่อนหน้านั้นประเทศไทยพึ่งพาอาศัยการเช่าช่องส่งสัญญาณดาวเทียมของชาติอื่นอยู่ตลอดเวลาทั้งที่เป็นกิจการในประเทศและกิจการระหว่างประเทศ เช่นการสื่อสารข้อมูลระหว่างองค์กร หรือแม้แต่การถ่ายทอดสัญญาณภาพต่าง ๆ ก็ต้องเช่าใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมของชาติอื่นทั้งสิ้น

อีกหลายตัวอย่างที่เป็นปัญหาการสื่อสารของประเทศไทยในช่วงนั้นคือต้นทุนและคุณภาพของการส่งสัญญาณให้ได้ทั่วประเทศ โดยจะเห็นการแยกกันของ Media ทั้งหลายเช่นการส่งสัญญาณทีวีผ่านเสาสูงของสถานีโทรทัศน์ภายในประเทศเช่นช่อง 3 , ช่อง 5 , ช่อง 7 , ช่อง 9 ที่นอกจากต่างคนต่างยังไม่ครอบคลุมทั่วประเทศเพราะการติดตั้งเสาสัญญาณในแต่ละท้องถิ่นที่ไม่เท่ากันแล้วยังต่างคนต่างแพร่ภาพด้วยคุณภาพที่ต่างกันอีกด้วย

ขณะที่เสาสัญญาณที่ใช้สื่อสารโทรคมนาคมเช่นระบบโทรศัพท์ไร้สายและการส่งข้อความก็แยกออกไปอีกชนิดหนึ่ง ส่วนระบบการสัญญาณโทรศัพท์ตามบ้านก็แยกออกไปอีกเส้นทางหนึ่ง เมื่อต่างคนต่างทำเช่นนี้ก็มีผลทำให้ต่างคนต่างมีต้นทุนในการให้บริการสูง ซึ่งส่งผลโดยตรงกับผู้บริโภคที่เป็นผู้รับภาระในขั้นสุดท้าย

ในเวลานั้นนายทักษิณ เชื่อว่าอนาคตอีกไม่ไกล การรวมตัวกัน (Merriage) ของการส่งสัญญาณ Data , Telecom , Media และ Computer นั้นกำลังจะเกิดขึ้นจนทำให้เกิดการสื่อสารแบบใหม่ ๆ ในราคาที่เป็นไปได้ (เช่นการเกิดเทเลคอนเฟอร์เรนซ์ที่มีทั้งภาพและเสียงพร้อมกัน) ซึ่งตัวเชื่อมสำคัญในเรื่องนี้คือ “ดาวเทียม” ที่จะทำหน้าที่ส่งผ่านสัญญาณทุกชนิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ , ทำให้ต้นทุนของธุรกิจสื่อสารนั้นถูกลงและเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกันทั่วประเทศ

แต่ด้วยความที่ประเทศไทยในเวลานั้นถือว่าดาวเทียมยังเป็นเรื่องไกลตัว เลยยังไม่ได้สนใจสร้างและพัฒนากิจการนี้มากนัก เหตุผลสำคัญก็คือทุกองค์กรยังสามารถเช่าใช้ช่องสัญญาณบางช่องของดาวเทียมที่ประเทศเพื่อนบ้านเป็นเจ้าของได้อยู่ แต่นายทักษิณเห็นว่า ควรที่จะเริ่มมีช่องสัญญาณเป็นของตัวเองได้แล้วโดยเฉพาะเมื่อเห็นว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยกำลังเติบโตและการสื่อสารกำลังจะเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับทุกคน

ในที่สุดนายทักษิณ จึงตั้งบริษัทใหม่ในปี 2533 เพื่อทำธุรกิจดาวเทียม และเตรียมตัวเข้าร่วมประมูลสัมปทานดาวเทียมในยุคของรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ โดยจะต้องแข่งกับบริษัทต่างชาติและบริษัทร่วมทุนของต่างชาติอีก 5 ราย

“คราวนี้เรามีความพร้อมมากกว่าโครงการใดๆ ที่ผ่านมาเนื่องจากได้อาศัยใบบุญความสำเร็จของโครงการก่อนหน้า ไม่ต้องเตรียมงานแบบยาจกเหมือนโปรเจ็กต์อื่น ผมจึงเชื่อมั่นอย่างเราจะต้องประมูลได้แน่นอน” ทักษิณ ชินวัตร กล่าวถึงความมั่นใจในการเข้าร่วมประมูลสัมปทานดาวเทียมในปี 2533

ผลการเปิดซองประมูล บริษัท ชินวัตร แซทเทลไลต์ จำกัด (มหาชน) ได้รับเลือกเป็นผู้ชนะโดยเสนอได้ผลประโยชน์ให้รัฐสูงสุดเป็นอันดับหนึ่งที่ 15.33% ตลอดอายุสัมปทาน 30 ปี และรับประกันผลกำไรขั้นต่ำไว้ที่ 1,350 ล้านบาท หักปากกาเซียนหลายรายที่ปรามาสเอาไว้มากมาย เช่นดูถูกว่าเป็น “บริษัทห้องแถว” เพราะในตอนเริ่มต้นกิจการนั้นเป็นบริษัทที่ไม่มีชื่อเสียง ตอนที่ตั้งกิจการใหม่เอี่ยมก็มีพนักงานแค่ 8 ท่านเท่านั้น อีกสามปีต่อมา ดาวเทียมไทยคม ซึ่งเป็นดาวเทียมดวงแรกของประเทศไทยถูกส่งขึ้นวงโคจรจากฐานส่งจรวดขององค์การอวกาศยุโรป (ESA) ที่ประเทศเฟรนช์กิอานา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน