คาดชายเบลเยียมต้นตอแพร่ “ฝีดาษลิง” รายที่ 2 อาจออกนอกประเทศแล้ว สธ.ยันมาตรการเฝ้าระวังเพียงพอ ย้ำประชาชนไม่ต้องกังวล

เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2565 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วย นพ.บัลลังก์ อุปพงษ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ พญ.นฤมล สวรรค์ปัญญาเลิศ นายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมการแพทย์ แถลงการเฝ้าระวัง การตรวจหาเชื้อ และแนวทางการรักษาโรคฝีดาษลิง

นพ.โอภาส กล่าวว่า สถานการณ์โรคฝีดาษลิงทั่วโลก ตั้งแต่พบผู้ป่วยวันที่ 7 พ.ค. 2565 ขณะนี้พบผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงทั้งหมด 22,812 ราย ใน 75 ประเทศ ส่วนประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อ 2 ราย ส่วนการเสียชีวิตทั่วโลกขณะนี้มี 3 ราย จากสเปน 2 ราย และบราซิล 1 ราย ทั้งนี้ แนวโน้มโรคฝีดาษลิงเป็นขาขึ้น ดูจะเพิ่มขึ้นสูงต่อเนื่อง โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและยุโรปในหลายประเทศ ส่วนเอเชียเริ่มพบหลายประเทศ มากที่สุด คือ สิงคโปร์ รองลงมา คือ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ไต้หวัน และฟิลิปปินส์

นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า ส่วนใหญ่การติดเชื้อในเอเชียมีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับผู้เดินทางจากต่างประเทศ แต่เริ่มมีแนวโน้มติดเชื้อภายในประเทศ เช่น สิงค์โปร์มีมากกว่า 10 รายขึ้นไป สำหรับปัจจัยเสี่ยงทำให้เสียชีวิตทั้งที่มีความรุนแรงต่ำนั้น อย่างผู้เสียชีวิตในสเปน 2 ราย พบว่ารายแรกมีภาวะแทรกซ้อน คือ สมองอักเสบ และอีกรายมีโรคมะเร็งร่วมด้วย

นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า ส่วนผู้ติดเชื้อฝีดาษลิง 2 รายในไทยนั้น รายแรกเป็นชายชาวไนจีเรีย ผลตรวจยืนยันวันที่ 18 ก.ค. แต่ไม่ให้ความร่วมมือหลบหนีไปกัมพูชา ซึ่งเราประสานไปทราบว่าหายดีแล้ว การติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูงและค้นหาเชิงรุกในพื้นที่ จ.ภูเก็ต จำนวน 50 กว่าราย ไม่พบผู้ป่วยรายใหม่ในพื้นที่ โดยมีระบบเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง ยืนยันว่าโรคฝีดาษลิงไม่ได้ติดต่อง่าย ต้องสัมผัสใกล้ชิด โดยเฉพาะการมีเพศสัมพันธ์ คือ การสัมผัสอย่างใกล้ชิดเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญ

นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า ส่วนรายที่ 2 เป็นคนไทย มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดชายต่างประเทศ ได้สอบสวนโรคร่วมกับหลายหน่วยงาน โดยไปตรวจสอบผู้สัมผัสร่วมบ้านทั้งหมด 18 คน ผลตรวจทุกคนผลเป็นลบ จะอยู่ในระบบคุมไว้สังเกตอาการจนครบ 21 วันต่อไป ส่วนผู้สัมผัสใกล้ชิด ชายชาวยุโรปอายุ 34 ปี ผลตรวจเป็นลบ ส่วนอีกรายเป็นชายชาวเบลเยียม คาดว่าจะเป็นเหตุการติดเชื้ออยู่ระหว่างการติดตาม เบื้องต้นอาจออกนอกประเทศไปแล้ว กำลังตรวจสอบข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า สำหรับมาตรการควบคุมโรคฝีดาษลิง เนื่องจากไม่ได้ติดต่อง่ายหรือรุนแรงแบบโควิด มีกลุ่มเสี่ยงกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ เราใช้การป้องกัน คัดกรองคนเดินทางจากต่างประเทศ ระบุกลุ่มเสี่ยงว่าเป็นกลุ่มไหน ส่วนใหญ่เชื้ออยู่ที่ตุ่มฝี ตุ่มหนองที่ผิวหนัง

“การสัมผัสใกล้ชิดคนที่มีตุ่มฝีตุ่มหนองจึงเป็นความเสี่ยงสำคัญ ซึ่งการมีเพศสัมพันธ์ถือเป็นการสัมผัสใกล้ชิดแบบหนึ่ง และผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกระบุว่า กลุ่มชายรักชายเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงติดเชื้อสูงสุด จึงต้องให้ความรู้มาตรการป้องกัน”

นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า สำหรับการเฝ้าระวังเรามีการดำเนินการในสถานพยาบาล หากมีผู้ป่วยตุ่มฝีตุ่มหนองก็ต้องตรวจทางห้องปฏิบัติการ และถ้าเจอผู้ป่วยเราจะมีการระบุไทม์ไลน์ มาตรการคือค้นหาผู้ป่วย หากลุ่มความเสี่ยง และควบคุมกลุ่มเสี่ยงไม่ให้แพร่กระจายเชื้อต่อไป ซึ่งที่ผ่านมาสามารถค้นหาแหล่งโรคและจำกัดไม่ให้กระจายวงกว้าง

“คาดว่ามาตรการขณะนี้เพียงพอสามารถเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ได้ ประชาชนทั่วไปไม่ต้องกังวล โรคไม่ได้ติดต่อง่าย ความรุนแรงของโรคไม่มาก การใช้ชีวิตตามปกติความเสี่ยงโรคฝีดาษลิงเข้าใกล้ศูนย์”

นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า ส่วนวัคซีนฝีดาษไม่จำเป็นต้องฉีดให้คนไทยทุกคน แต่ต้องเลือกกลุ่มที่เหมาะสม โดยการฉีดวัคซีนชนิดใดในวงกว้าง จะคำนึง 4 ปัจจัย คือ ประสิทธิภาพ ผลข้างเคียง สถานการณ์การกระบาด และความเป็นไปได้ในการจัดบริการให้มีความสอดคล้อง ซึ่งเรากำลังจัดหาวัคซีนฝีดาษรุ่นที่ 3 โดยประสานองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เป็นผู้ประสานนำเข้ามา

“อย่างช้าเป็นช่วงครึ่งเดือนหลังของ ส.ค.นี้ น่าจะได้เข้ามา ซึ่งฉีดง่ายกว่าวัคซีนรุ่นต้นๆ ที่ปลูกฝีกัน มีผลข้างเคียงน้อยกว่า เบื้องต้นจะนำเข้ามาประมาณ 1 พันโดส 1 คนต้องฉีด 2 โดส ส่วนการฉีดเว้นระยะห่างเท่าใด ฉีดในกลุ่มเสี่ยงกลุ่มใด จะมีการหารือในคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิกันโรคต่อไป” นพ.โอภาส กล่าว

ด้าน นพ.บัลลังก์ กล่าวว่า เดิมการตรวจเชื้อฝีดาษลิงต้องดำเนินการในห้องปฏิบัติการชีวนิรภัยระดับ 3 ทั้งประเทศมี 18 แห่ง ถือเป็นข้อจำกัด ซึ่งล่าสุดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขลงนามในประกาศแล้ว ให้ดำเนินการตรวจในห้องปฏิบัติการชีวนิรภัยระดับ 2 ที่เสริมสมรรถนะได้ แต่การเพาะเลี้ยงเชื้อและศึกษาวิจัยยังต้องดำเนินในระดับ 3 เท่านั้น

นพ.บัลลังก์ กล่าวอีกว่า ส่วนแนวทางการเก็บตัวอย่างส่งตรวจ เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลชัดเจนว่าเก็บตัวอย่างจากจุดใดถึงจะมีเชื้อมากที่สุด และยังไม่ได้มีข้อแนะนำจากทางศูนย์ควบคุมโรคสหรัฐอเมริกาและองค์การอนามัยโลก จึงขอให้เก็บตัวอย่างจากหลายตำแหน่ง เช่น ตุ่มหนอง ใช้เข็มปราศจากเชื้อแล้วเก็บตัวอย่างจากแผลผิวหนังส่วนบน หรือหากแผลที่ตกสะเก็ดแล้ว ใช้หลอดปราศจากเชื้อในการเก็บตัวอย่าง หรือเก็บตัวอย่างจากจมูกเหมือนโควิด หรือเจาะเลือดตรวจด้วยก็ได้

นพ.บัลลังก์ กล่าวต่อว่า หากเก็บมาได้เท่าไรเราก็พร้อมตรวจทั้งหมด แต่ถ้าไม่สามารถเก็บได้ครบทั้งหมด ก็แนะนำการเก็บตัวอย่างทางจมูก โดยเก็บตัวอย่างในอุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส ซึ่งจะเก็บได้ 7 วัน แต่ถ้าต้องการเก็บนานเป็นเดือนต้อง -20 องศาเซลเซียสขึ้นไป โดยผู้เก็บตัวอย่างต้องสวมชุดป้องกัน PPE แต่ไม่ต้องใช้ห้องความดันลบ เพราะเชื้อไม่ได้ติดง่ายเหมือนโควิด

“ห้องปฏิบัติการศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทั้ง 15 แห่ง สามารถตรวจฝีดาษลิงได้ตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา อย่างศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ จ.สมุทรสาคร ก็ตรวจเมื่อวานนี้ 1 ราย เรารายงานผลกลับไปยังผู้ส่งตรวจและกองระบาดวิทยาได้ภายใน 24 ชั่วโมง”

นพ.บัลลังก์ กล่าวอีกว่า สำหรับการตรวจสายพันธุ์ของเชื้อฝีดาษลิงนั้น ปัจจุบันมี 2 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์แอฟริกากลาง อัตราตายสูงกว่าสายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก 10 เท่า ส่วนการระบาดรอบนี้แทบทั้งหมดเป็นสายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์ย่อย B.1 ซึ่งข้อมูลใน GISAID เป็น B.1 มากกว่า 80-90% ซึ่งผู้ป่วยรายที่ 2 ของไทยเป็นสายพันธุ์นี้ ส่วนสายพันธุ์ย่อย A.2 พบน้อยมากมีไม่ถึง 40 ตัวอย่าง จาก 700-800 ตัวอย่างใน GISAID หรือไม่ถึง 10% ซึ่งผู้ป่วยรายแรกของไทยเป็นสายพันธุ์ย่อย A.2

ขณะที่ พญ.นฤมล กล่าวว่า ที่ประชุมอีโอซีเห็นชอบแนวการปฏิบัติการวินิจฉัย ดูแลรักษา และการป้องกันการติดเชื้อกรณีโรคฝีดาษวานร ฉบับวันที่ 31 ก.ค. 2565 ทั้งนี้ โรคฝีดาษลิงสามารถหายเองได้ 2-4 สัปดาห์ แต่บางกลุ่มโรคมีโอกาสรุนแรงได้

โดยหลักของการวินิจฉัยดูแลรักษา คือ หากมีผู้ป่วยสงสัย มีอาการเริ่มจากไข้ ตุ่มน้ำตุ่มหนอง อาการเข้าได้ทางคลินิก เมื่อแพทย์สงสัย ซักประวัติพบเดินทางมาจากพื้นที่ระบาดของโรค หรือมีการประวัติสัมผัสใกล้ชิดตามที่กรมควบคุมโรคกำหนด ให้ รพ.รับเป็นผู้ป่วยในในห้องแยกเดี่ยวมีห้องน้ำในตัว เก็บตัวอย่างตามคำแนะนำกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อตรวจว่าเป็นฝีดาษลิงจริงหรือไม่

พญ.นฤมล กล่าวต่อว่า ถ้าไม่เจอเชื้อถือว่าไม่ใช่ ให้รักษาตามสาเหตุที่อาจเกิดจากโรคอื่น เช่น อีสุกอีใส ให้ผู้ป่วยสังเกตอาการตนเอง 21 วัน ถ้ามีไข้ ต่อมน้ำเหลืองโต มีผื่น ให้รีบไปพบแพทย์ ส่วนกรณีตรวจพบเชื้อให้แอดมิทต่อ ดำเนินการรักษาในห้องแยกผู้ป่วยติดเชื้อ จนกว่าสะเก็ดแผลแห้ง ซึ่งประมาณ 2-3 สัปดาห์แล้วแต่ผู้ป่วย

“การติดต่อฝีดาษลิงมาจากการสัมผัสสารคัดหลั่ง แต่การใกล้ชิดมากๆ ก็ติดจากฝอยละอองทางการหายใจได้ การรักษาไม่มียารักษาเฉพาะ รักษาตามอาการ แต่เริ่มมีการศึกษาในต่างประเทศเรื่องยาต้านไวรัส ถ้าได้ผลก็จะนำเข้ามา”

พญ.นฤมล กล่าวอีกว่า ส่วนผู้ป่วยที่เสี่ยงสูงต่อโรครุนแรง คือ ผู้มีภูมิคุ้มกันต่ำ ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยโรคมะเร็งต่างๆ ผู้ปลูกถ่ายอวัยวะ ผู้ปลูกถ่ายไขกระดูกภายใน 2 ปี ผู้ที่เป็นโรคที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ เด็อายุต่ำกว่า 8 ขวบ หญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร ส่วนคำแนะนำป้องกันประชาชนทั่วไป ขอให้สวมหน้ากาก ลดสัมผัสละอองฝอยจากผู้ป่วย ล้างมือบ่อยๆ เลี่ยงสัมผัสตุ่มหนองสารคัดหลังร่างกาย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน