คอลัมน์ พันธุ์แท้พระเครื่อง

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพล ฑิฆัมพร หรือพระองค์ชายกลาง (29 เมษายน 2456 – 1 ตุลาคม 2534) เป็นพระโอรสใน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลฑิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศร์ กับ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมเขตรมงคล (พระธิดาใน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ซึ่งเป็นพระอนุชาร่วมพระครรภ์ โภทรกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) มีพระเชษฐาและพระอนุชา คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล และ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ

พระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพร ทรงเษกสมรสกับหม่อมราชวงศ์กุลปราโมทย์ ยุคล (สวัสดิกุล) มีหม่อม ได้แก่ หม่อมสมเชื้อ ยุคล ณ อยุธยา (ชม เสวี), หม่อมทองไพ ยุคล ณ อยุธยา (ประยูรโต), หม่อมทองแถม ยุคล ณ อยุธยา (ประยูรโต), หม่อมบัวทอง ยุคล ณ อยุธยา (ไตลังคะ) มีพระโอรส-พระธิดา ได้แก่ หม่อมเจ้าจามเทพี ยุคล ประสูติในหม่อมราชวงศ์หญิงกุลปราโมทย์ ยุคล หม่อมเจ้ามงคลเฉลิม ยุคล ประสูติในหม่อมสมเชื้อ ยุคล ณ อยุธยา หม่อมเจ้าวิสาขะ ยุคล ประสูติในหม่อมทองไพ ยุคล ณ อยุธยา หม่อมเจ้าศรีสว่างวงศ์ ยุคล ประสูติในหม่อมทองแถม ยุคล ณ อยุธยา หม่อมเจ้าหญิง (ไม่ปรากฏพระนาม) (พระชนมชีพ 1 วัน) ประสูติในหม่อมทองแถม ยุคล ณ อยุธยา หม่อมเจ้าเฉลิมศึก ยุคล (24 ต.ค. 2493) ประสูติในหม่อมทองแถม ยุคล ณ อยุธยา หม่อมเจ้าฑิฆัมพร ยุคล (9 ก.ค. 2494) ประสูติในหม่อมบัวทอง ยุคล ณ อยุธยา และหม่อมราชวงศ์ทิตตาทร ยุคล

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพร สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2534 พระชันษา 78 ปี

เสด็จพระองค์ชายกลางทรงมีความเกี่ยวพันกับตำนานการสร้าง พระหลวงปู่ทวด วัดช้างให้ เป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากท่านทรงคบหาสนิทสนมเป็นมิตรกับคหบดีใหญ่ปักษ์ใต้คือ คุณอนันต์ คนานุรักษ์ และได้รับมอบพระเครื่องหลวงปู่ทวดเนื้อว่านปี 2497 จากคุณอนันต์มาหนึ่งองค์โดยทรงบูชาติดตัวประจำ

ครั้งหนึ่งรถยนต์ที่ประทับเกิดอุบัติเหตุพลิกคว่ำ แต่องค์เองไม่มีอันตรายแม้แต่รอยขีดข่วน ทำให้ท่านเกิดความศรัทธาในองค์หลวงปู่ทวด วัดช้างให้ อย่างสูง และเมื่อทางวัดโดยพระอาจารย์ทิม และ คุณอนันต์ คณานุรักษ์ จะจัดสร้างพระเครื่องหลวงปู่ทวดปี 2505 ท่านจึงปวารณาตัวขอเป็นผู้อุปถัมภ์ในการจัดสร้าง และได้นำชนวนโลหะอันศักด์สิทธิ์มาเทหล่อเป็นเนื้อโลหะต่างๆ ที่กรุงเทพมหานคร กลายเป็นพระรุ่น พ.ศ.2505 ที่ลือลั่นมาจนถึงปัจจุบัน

ในการจัดสร้างพระครั้งนั้น เนื่องด้วยเสด็จพระองค์ชายกลางเป็นผู้อุปถัมภ์ จึงสำเร็จลุล่วงด้วยดี และท่านได้จัดสร้าง “พระกริ่ง” อันงดงามด้วยพุทธลักษณะขึ้นในครั้งนั้นด้วย เมื่อทำการหล่อพระกริ่งได้โปรดให้ช่างแกะแม่พิมพ์ขึ้น และเททองปลุกเสกโดยพระอาจารย์ทิม วัดช้างให้พร้อมกันกับพระเครื่องหลวงปู่ทวดปี 2505
%e0%b8%a0%e0%b8%b2%e0%b8%9e%e0%b8%ab%e0%b8%99%e0%b9%89%e0%b8%b2%e0%b8%88%e0%b8%ad-2016-12-08-14-24-18
ครั้นเสร็จจากพิธีเสด็จ ท่านได้ถวายพระกริ่งซึ่งสำเร็จขึ้นมีพุทธลักษณะงดงามให้กับวัดช้างให้จำนวน 300 องค์ ซึ่งเรียกกันต่อมาว่า “พระกริ่งใหญ่หลวงปู่ทวด” หรือ “พระกริ่งวัดช้างให้” ส่วนที่เหลือทรงนำมาถวายให้วัดตาก้อง ด้วยพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพรนั้นท่านได้ฝากตัวเป็นศิษย์เอกของหลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง และปลุกเสกอีกวาระโดยเกจิอาจารย์สายนครปฐม ผู้คนเรียกกันว่า “พระกริ่งเฉลิมพล” ซึ่งทั้งสองประเภทได้รับความนิยมแสวงหาจากนักสะสมอย่างยิ่ง และต่อมาผู้คนก็พลอยเรียกพระกริ่งของวัดช้างให้ว่าพระกริ่งเฉลิมพลไปด้วย

แต่หากพิจารณากันแล้วกริ่งที่แยกกันดังกล่าวมีส่วนต่างกันก็คือ พระกริ่งเฉลิมพล วัดตาก้อง จะมีการอุดกริ่งที่ฐานและมักจะมีการตอกหมาย เลขกำกับ พร้อมโค้ดลายเซ็น “เฉลิมพล” ซึ่งอาจจะมีเพียงตัวเลข หรือพระนามอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ บางองค์พบว่ามีเพียงโค้ดตัว ฉ ตอกกำกับ บางองค์ไม่ตอกก็ยังมี ส่วนพระกริ่งวัดช้างให้นั้นบรรจุเม็ดกริ่งแบบกริ่งนอก คือคว้านก้นใส่เม็ดกริ่งแล้ว อุดฐาน

ลักษณะของพระกริ่งเฉลิมพลทั้งสองวัด เป็นการเทหล่อแบบโบราณจึงมีคราบดินขี้เบ้าปรากฏ มีการแต่งบ้างเล็กน้อย พุทธลักษณะงดงาม องค์พระประทับนั่ง ปางมารวิชัย สมาธิเพชร พระ หัตถ์ซ้ายทรงวชิระหรือหม้อน้ำมนต์ เป็นแม่พิมพ์แบบไม่ประกบจึงไม่มีรอยประกบด้านข้าง องค์พระค่อนข้างเพรียวยาว พระเนตรนูนเป็นตาเนื้อ อุณาโลมเป็นเม็ดกลม ด้านหลังไม่มีกลีบบัว กระแสจะออกทางแดงอมน้ำตาล มักพบรอยตะไบแต่งขอบข้างเป็นริ้วบางๆ

ปัจจุบัน “พระกริ่งเฉลิมพล” เป็นที่เสาะแสวง หาของบรรดาผู้นิยมสะสมอย่างมากทีเดียวเชียวครับผม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน