ชนชั้นของสัตว์โลก (2)

คอลัมน์ คติ-สัญลักษณ์สถาปัตยกรรม

ชนชั้นของสัตว์โลก (2) – คําว่าสัตว์โลก ในพระพุทธศาสนามิได้หมายถึงสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย แต่หมายถึงชีวิตที่ประกอบด้วยความรู้สึก สุข ทุกข์ ที่ประกอบด้วยความสุข ทุกข์ ที่เรียกว่าเวทนา อันมีผลจากการปรุงแต่งที่เกิดจากอายตนะทั้ง 6 คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กับรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และอารมณ์

ชั้นของสัตว์โลกในพุทธศาสนาหมายถึง ชั้นระดับความรู้ของปัญญาในความจริงสูงสุด หมายถึงจริยธรรมของผู้คนในทุกระดับที่จะยกระดับจิตใจความเข้าใจในความจริงอันสูงสุดด้วยไปสู่การพ้นทุกข์

ชนชั้นของสัตว์โลก (2)

การกำหนดระดับชั้นของสัตว์โลก ในพระพุทธศาสนาจึงแตกต่างจากคำว่าชนชั้นของระดับผู้คนในสังคมมนุษย์ในโลกทั่วไป

ลำดับชั้นของสัตว์โลกนั้น แปรมาเป็นสัญลักษณ์ในงานสถาปัตยกรรมประเพณีไทย เป็นองค์ประกอบ รูปทรงของสถูป เจดีย์ (ซึ่งได้เคยเขียนถึงความหมายขององค์ประกอบเจดีย์ที่หมายถึงโลก ที่เน้นถึงส่วนต่างๆ ที่แสดงลำดับ ภพ หรือภูมิของผู้มีฐานะอยู่ในระดับชั้นของสัตว์โลก)

การแบ่งรูปทรงของสถูปเป็น 3 ระดับ เป็นสัญลักษณ์ที่หมายถึงคำว่า ภพหรือภูมิ คำว่าภพ แปลว่า โลกที่เป็นที่อยู่ของสัตว์หรือภาวะชีวิตของสัตว์มี 3 ภพ คือ

กามภพ หมายถึง ภพของผู้เสวยกามคุณหรือภพของผู้ยังข้องติดอยู่ในกามคุณ คือมีความยินดีในความรักความใคร่ ยินดีในรูป ยินดีในรส ยินดีในกลิ่น ยินดีในเสียง ยินดีในสัมผัส และยินดีในการปรุงแต่งของอารมณ์

ชนชั้นของสัตว์โลก (2)

ในชั้นนี้ทางสถาปัตยกรรม หมายถึง ส่วนของฐาน ตัวองค์สถูปหรือเจดีย์ ไปจนถึงส่วนที่เรียกว่าปล้องไฉน ซึ่งปกติจะมีอยู่ 6 ปล้อง

ส่วนที่ 2 เรียกว่า รูปภพ สัญลักษณ์ของรูปภพคือการแบ่งส่วนนี้เป็นปล้อง มี 16 ชั้นบ้าง แต่บางครั้งอาจจะรวมกัน ไม่มีลักษณะเป็นปล้องก็ดี รูปภพ หมายถึงภพของผู้อยู่ในอารมณ์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับกามคุณ อยู่ในภาวะของความสงบ บางทีหมายถึง ผู้อยู่เดียวดาย ที่เรียกว่า พรหม

อรูปภพ คือ ภพหรือภูมิสูงสุดของผู้ที่พิจารณาเรื่องของความคิด ความรู้สึก พิจารณาถึงความว่าง ความรู้สึก ความไม่มี ระหว่างความมี ความไม่มี กับความไม่เป็น ดังนั้น อาทิตย์นี้จะบรรยายถึงส่วนชั้นล่างสุดของสถูปหรือเจดีย์ สถูปหรือเจดีย์ที่เป็นสัญลักษณ์ของโลก ที่พบกันอยู่ทั่วไปในประเทศไทยมักจะมีฐานสูง 3 ชั้น หรือ 4 ชั้น ส่วนของฐานนี้ก็คือส่วนหนึ่งที่เป็นสัญลักษณ์ของกามภพ

ในชั้นฐาน 3 หรือ 4 ชั้นนี้ หมายถึง ภพย่อยในส่วนหนึ่งของกามภพ เรียกว่า อบายภูมิ

อบายภูมินี้แปลเป็นภาษา ที่น่าจะเข้าใจได้ก็คือ พื้นที่อันเป็นที่อยู่อาศัยที่ปราศจากความเจริญ (คำว่า เจริญ หมายถึง พื้นที่ที่มีผู้คนที่ประกอบด้วยจริยธรรม คือการดำรงชีวิตอยู่ด้วยการไม่เบียดเบียน แก่งแย่ง แย่งชิง ข่มขู่ ชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สิน หรือชิงเอาประโยชน์จากผู้อื่นมาเป็นของตน) ผู้มีชีวิตอยู่ในอบายภูมิก็คือ ผู้กระทำบาปหรือความชั่วร้าย ได้แก่การ กระทำอกุศลธรรมทั้งหลาย 10 ประการ อันจะยังผลให้ชีวิตจิตใจ ตกอยู่ในสภาวะที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง พยาบาท ทำร้ายกันและกัน รวมทั้งตัวเองด้วย

1.ทางกายกรรม ได้แก่ การฆ่าสัตว์ตัดชีวิตของสัตว์โลกอื่นๆ การเอาของที่บุคคลไม่ได้ให้ไปเป็นของตน หรือส่งต่อให้ผู้อื่น การประพฤติผิดในศีลธรรม เป็นชู้ พรากสามีภรรยา บุตรหลาน การทำลายความสัมพันธ์ในครอบครัวของผู้อื่นมาเป็นของตน ในปัจจุบันน่าจะหมายชัดก็คือ การค้ามนุษย์ การทำลายทรัพย์สิ่งของอันมีค่าหรือความเชื่อถือของบุคคลอื่น

2.ทางวจีกรรม ก็คือการกล่าวเท็จเพื่อประโยชน์ของตนหรือของผู้อื่น การดูถูกเหยียดหยาม การพูดเพ้อเจ้อ หาความหมายที่เป็นประโยชน์มิได้

3.ทางมโนกรรม ก็คือ จิตใจที่มุ่งอยากจะได้ของผู้อื่นมาเป็นของตน การคิดพยาบาทมาดร้ายให้ผู้อื่นได้รับความทุกข์ทรมาน เป็นต้น

บุคคลผู้ไร้จริยธรรมนั้น เรียกได้ว่าอยู่ในอบายภูมิทั้ง 4 ก็คือ

นรก คือ ผู้ที่ต้องรับผลของการฆ่าฟัน ผู้อื่น กระทำผิดบาปทางกายกรรม

เปรต คือ พวกที่เต็มไปด้วยความละโมบ แย่งชิง ทรัพย์สิน ทรัพย์สมบัติมาเป็น ของตน มีจิตใจตระหนี่ ปรารถนาทรัพย์สินเงินทองของผู้อื่น

อสุรกาย พวกที่สร้างความหวาดกลัว หวาดระแวงต่อผู้อื่น ข่มขู่ ไม่มีผู้อยากอยู่ใกล้ นอกจากพรรคพวกของตัว

เดรัจฉาน เป็นคนพาล ไม่รู้จักบาปบุญคุณโทษ มีชีวิตอยู่ด้วยความกระหายอยาก ทุรนทุราย อยู่ด้วยความอยาก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน