เครือข่ายงดเหล้า ชี้ ‘ข้าวหมาก’ เป็นอาหารพื้นบ้าน แนะสรรพสามิต ควรคุมเข้มบริษัทใหญ่ มากกว่าไล่จับชาวบ้าน

เครือข่ายงดเหล้า / กรณีเจ้าหน้าที่สรรพาสามิตจับยายวัย 60 ปี ชาวบุรีรัมย์ ที่ขายข้าวหมากห่อละ 5 บาท ด้วยข้อหาจำหน่ายสุราสาโท โดยไม่ได้ขออนุญาต มีค่าปรับถึง 5 หมื่นบาท หากไม่จ่ายต้องติดคุก ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่า เจ้าหน้าที่กระทำเกินกว่าเหตุ และเกิดการตั้งคำถามว่า ข้าวหมาก ถูกรวมอยู่ในกลุ่มสุราตามกฎหมายที่ต้องขอใบอนุญาตจำหน่ายด้วยหรือไม่

เมื่อวันที่ 16 ส.ค. ภก.สงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ส่วนตัวแล้วมองว่า “ข้าวหมาก” ไม่น่าจะนับรวมว่าเป็น “สาโท” เพราะข้าวหมากเป็นอาหารพื้นบ้าน และคนไม่ได้มีปัญหาจากกินข้าวหมากแล้วเมาจนก่อให้เกิดผลกระทบต่อสังคม

ตนคิดว่า ถ้าจะสนใจกรมสรรพสามิตควรไปจัดการกับประเด็นที่เป็นปัญหาจริงๆ ในสังคมมากกว่าหรือไม่ ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องของบริษัทน้ำเมารายใหญ่ทั้งนั้น ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสังคมอย่างมาก ทั้งอาชญากรรม อุบัติเหตุต่างๆ มากมาย หรือการผลิตเหล้าเถื่อนต่างๆ ที่มีจำนวนมาก

ยายที่อ้างว่าโดนจับข้าวหมาก

ซึ่งกรมสรรพสามิตก็น่าจะรู้ดีถึงปัญหาเหล่านี้ ควรจะไปจัดการกับปัญหาสำคัญก่อนหรือไม่ ก่อนที่จะมาจับชาวบ้านที่ขายข้าวหมากหรือไม่ เพาะคนที่กินข้าวหมากแล้วเมาตนก็ยังไม่เคยได้ยิน

ภก.สงกรานต์ กล่าวว่า ตาม พ.ร.บ.สรรพสามิต พ.ศ. 2560 ในหมวดที่ 2 เรื่องใบอนุญาตสำหรับสินค้าสุรา ยาสูบ และไพ่ ก็มีการระบุถึงนิยามของสุราที่จะต้องขออนุญาต คือ ต้องมีแอลกอฮอล์เกิน 0.5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งตนไม่แน่ใจว่าข้าวหมากนั้นมีแอลกอฮอล์เกินกว่าที่กำหนดหรือไม่ เพราะสูตรแต่ละสูตรในการทำข้าวหมากนั้นก็ต่างกัน ทำให้เปอร์เซ็นต์แอลกอฮอล์ในข้าวหมากก็ไม่เท่ากัน

การจะมาพูดเรื่องมาตรฐานรวมของข้าวหมากก็น่าจะยาก และถามว่าใครจะมานั่งเอาข้าวหมากมาส่งตรวจแล็บหรือมาตรวจว่ามีปริมาณแอลกอฮอล์เท่าไร เกินกว่า 0.5 เปอร์เซ็นต์หรือไม่ มันก็เป็นไปไม่ได้แต่ประเด็นน่าจะอยู่ที่ควรไปให้ความสำคัญเรื่องนี้หรือไม่ ในสร้างปัญหาสังคมหรือไม่ น่าจะแก้ปัญหาที่ชัดๆ ก่อนหรือไม่

ข้าวหมากของยาย

“เรื่องนี้เป็นเรื่องของการที่จะใช้กฎหมายแบบไหน จะใช้เพื่อแก้ปัญหาหรือสร้างความเดือดร้อน แต่ผมมองว่าข้าวหมากเป็นอาหาร และไม่เคยได้ยินว่ามีใครกินข้าวหมากเมาแล้วไปฆ่าคนหรือสร้างปัญหา แต่ที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ อย่างข่าววันนี้ก็มีเรื่องผัวฆ่าเมียเพราะเมาก็กินเหล้าจากโรงงานใหญ่ๆ ทั้งนั้น” ภก.สงกรานต์ กล่าว

ด้าน นายสง่า ดามาพงศ์ ที่ปรึกษากรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะนักวิชาการด้านโภชนาการ กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องพิจารณาว่า ข้าวหมากมีแอลกอฮอล์สูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ และข้าวหมากที่ทำเพื่อกินเพื่อขายเป็นรายได้ ซึ่งตามปกติเราจัดกันว่าเป็นขนมนั้น ถือเป็นสุราตามกฎหมายหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ในฐานะทำงานด้านโภชนาการ ยืนยันว่า “ข้าวหมาก” ไม่ใช่ “สาโท” แน่นอน เพราะมีปริมาณแอลกอฮอล์น้อยกว่ามาก ซึ่งเมื่อดูจากกระบวนการผลิตแล้วนั้น ข้าวหมาก ถือเป็นภูมิปัญญาการถนอมอาหาร โดยจะนำเอาข้าวเหนียวที่เคยหุงไว้กินแล้วกินไม่หมด หรือเหลือใช้ มาถนอมอาหารเป็นขนมหรืออาหารว่าง

โดยเอาข้าวเหนียวมาล้างให้สะอาด เพื่อเอายางข้าวออก เสร็จแล้วเอาไปผึ่งให้แห้ง แล้วเอามาผสมกับลูกแป้ง ซึ่งก็คือ เชื้อยีสต์ เป็นจุลินทรีย์ที่ไปทำปฏิกิริยากับแป้งในข้าว หรือเรียกว่ากระบวนการหมัก ซึ่งเมื่อหมักแล้วจะมีเชื้อจุลินทรีย์ชนิดดีเกิดขึ้น เป็นแบคทีเรียชนิดดีที่เรียกว่า “โปรไบโอติก” โดยจะมีแอลกอฮอล์ปนเล็กน้อย

สาโท ที่เจ้าหน้าที่ยืนยันว่ายึดได้จากยาย

นายสง่า กล่าวว่า การทำข้าวหมากจะหมักเพียงไม่เกิน 3 วัน จากนั้นจะนำเข้าไปแช่ในตู้เย็น เพื่อให้ยีสต์หยุดการเจริญเติบโตหรือหยุดการเปลี่ยนแป้งให้เป็นน้ำตาล แต่หากเป็นสาโทนั้นจะหมักยาวนานกว่านี้ เพื่อให้เกิดแอลกอฮอล์มากขึ้น ดังนั้น ปริมาณดีกรีแอลกอฮอล์ในสาโทจึงสูง ยืนยันว่า ข้าวหมาก ไม่ใช่สาโท

“สำหรับประโยชน์ของข้าวหมากที่มีโปรไบโอติกนั้น ตัวจุลินทรีย์นี้จะไปช่วยย่อยอาหาร ทำให้ระบบขับถ่ายดีขึ้น ลดท้องผูก รักษาภาวะท้องเสียบางอย่าง ยับยั้งเชื้อจุลินทรีย์ไม่ไดีไม่ให้เจริญเติบโต ก็จะเพิ่มภูมิคุ้มกันในร่างกาย ลดการติดเชื้อในตัวได้ด้วย และมีงานวิจัยที่พบว่าโปรไบโอติกที่มีอยู่ในอนาหารหลายชนิสามารถช่วยยับยั้งเซลล์มะเร็งได้ด้วย

โดยอาหารที่มีโปรไบโอติก เช่น ข้าวหมาก นมเปรี้ยว โยเกิร์ต เทมเป้ อาหารญี่ปุ่นอย่างนัตโตะ มิโซะ ชีส หรืออาหารเกาหลี เช่น กิมจิ หรือผักดองบางอย่างของบ้านเรา ซึ่งการกินข้าวหมากนอกจากจะได้โปรไอโอติกแล้ว ยังได้พลังงาน คาร์โบไฮเดรต หากกินไม่เยอะ เป็นอาหารว่างหรือขนมว่าง ก็จะมีประโยชน์มากกว่าโทษ เพราะเปอร์เซ็นต์แอลกอฮอล์ไม่ได้มาก ไม่ได้กินแล้วเมาเหมือนเหล้า” นายสง่า กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน