ยุติธรรมเต็มระบบ ศาลอาญา เผยติด กำไลไฮเทค ให้ประกันคนไร้หลักทรัพย์ 282 ราย พบสัญญาณขาดส่อหนี 8 ราย ตามได้ 3 ราย เหลืออีก 5 ราย พบมีการทำลายกำไลและไม่มาตามนัด พร้อมพิจารณาเพิกถอนสัญญาประกัน

กำไลไฮเทค / เมื่อวันที่ 2 ก.ย. นายวิทยา บุญชัยวัฒนา รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา กล่าวถึงประสิทธิภาพการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิคส์ หรืออีเอ็ม ในการให้ประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ไม่มีหลักประกัน หรือหลักประกันไม่เพียงพอ เพื่อให้ได้รับโอกาสเท่าเทียมในการได้รับการประกันตัว ตามนโยบายลดความเหลื่อมล้ำ และเพื่อลดจำนวนผู้ต้องขังในเรือนจำ ว่านับตั้งแต่ศาลอาญาได้รับอุปกรณ์อีเอ็มมาจากสำนักงานศาลยุติธรรม เพื่อติดให้ผู้ต้องหา หรือจำเลยที่ไม่มีหลักประกันตัวและประสงค์ติดอุปกรณ์ตามเกณฑ์ที่ศาลได้กำหนดแล้ว ตั้งแต่เดือน มี.ค.ที่ผ่านมา จนถึงเดือน ส.ค.นี้

กำไลอีเอ็มที่ใช้ในการติดตามตัวผู้ต้องหา (แฟ้มภาพ)

นายวิทยา กล่าวต่อว่า ศาลอาญาได้ติดอุปกรณ์กับผู้ต้องหาแล้ว 319 ราย ทั้งกรณีที่ไม่มีการวางหลักประกันเลย กับกรณีที่ศาลเรียกหลักประกัน 20 เปอร์เซ็นต์ พร้อมติดอุปกรณ์ โดยมีผู้ต้องหาหรือจำเลยที่สัญญาณอุปกรณ์ขาดหายไป แล้วติดต่อไม่ได้และขาดนัด 8 ราย ซึ่งมีทั้งชายและหญิง โดยตามกฎหมายการติดอุปกรณ์เมื่อไม่สามารถติดต่อได้ หรือไม่มาตามกำหนดนัดให้เชื่อว่าหลบหนี ก็เสนอให้ศาลอาญาไว้ โดยภายหลังสามารถติดตามตัวมาได้ 3 รายเป็นคดีเกี่ยวกับยาเสพติดและคดีฉ้อโกง ก็ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วพบว่า มีทั้งกรณีการทำลายอุปกรณ์ และก็ไม่มาตามนัด ส่วนอีก 5 รายยังอยู่ระหว่างการติดตามตัว

นายวิทยา กล่าวอีกว่า ส่วนของคนที่หนีติดตามตัวมาได้แล้ว ศาลก็พิจารณาไม่ให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้นประกันตัวแล้ว และเพิกถอนสัญญาการประกันตัว ถือเป็นการลงโทษอย่างหนึ่ง รวมทั้งการสั่งปรับนายประกันเต็มจำนวนตามวงเงินคดีนั้นๆ เช่น 300,000 บาท หรือล้านบาท เพราะหลักการติดอุปกรณ์อีเอ็ม เพื่อช่วยเหลือการได้รับอิสรภาพโดยไม่ต้องใช้เงิน ซึ่งเชื่อว่าจะไม่หลบหนีและให้โอกาสได้รับความสะดวกการแสวงหาพยานหลักฐานมาต่อสู้คดีขณะอยู่นอกเรือนจำ

นายวิทยา กล่าวด้วยว่า แต่ขณะเดียวกันศาลก็ต้องเคร่งครัดไม่ให้เกิดความเสียหายใดต่อกระบวนการยุติธรรมด้วย ส่วนที่ต่อไปผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้นจะใช้สิทธิยื่นประกันตัวใหม่อีกตามกฎหมาย ก็ทำได้ แต่ประวัติที่เคยทำลายอุปกรณ์อีเอ็มที่ใช้ติดตามตัว โดยมีเจตนาหลบหนี ศาลก็จะนำมาใช้ประกอบดุลยพินิจพิจารณาจะให้หรือไม่ให้ประกันต่อไปด้วย

นายวิทยา กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ก่อนการจะให้ออกหมายจับ ก็ต้องมีการรายงานมาให้ชัดเจนก่อนว่าพฤติการณ์ที่ผ่านมาเคยผิดนัดหรือไม่ หรืออยู่ในพื้นที่อับสัญญาณ หรือแบตเตอรี่หมด จึงทำให้สัญญาณขาดหายเพียงช่วงหนึ่ง

นายวิทยา บุญชัยวัฒนา รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา

“กรณีที่มีการหลบหนี หากไต่สวนแล้วได้ความชัดเจนว่า มีการทำลายอุปกรณ์อีเอ็ม โดยมีเจตนาหลบหนีคดี ผู้ต้องหรือจำเลยนั้นก็ต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าอุปกรณ์ที่ถูกทำลายไปด้วย โดยบริษัทเอกชนที่สำนักงานศาลยุติธรรมเช่าเครื่องอุปกรณ์อีเอ็มมา ก็จะไปเรียกร้องค่าเสียหายในทรัพย์สินนั้น ดังนั้นเมื่อได้อิสรภาพในการได้ปล่อยตัวโดยมีการติดอุปกรณ์อีเอ็มแล้ว ก็ไม่ควรทำลายอุปกรณ์” นายวิทยา กล่าว

นายวิทยา กล่าวว่า อีกทั้ง ระหว่างขั้นตอนการใส่อุปกรณ์ผู้ต้องหาหรือจำเลย ควรร่วมมือให้เบอร์ติดต่อผู้ใกล้ชิด รวมทั้งข้อมูลที่เป็นประโยชน์ตามที่เจ้าหน้าที่ศาลร้องขอให้ครบถ้วน ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ของตัวผู้ต้องหาและจำเลยเองด้วยที่จะไม่ต้องถูกออกหมายจับหากสัญญาณขาดหายแล้วติดต่อไม่ได้ ซึ่งก่อนที่ศาลสั่งติดทุกอย่างก็เป็นไปด้วยความสมัครใจของผู้ต้องหาและจำเลยทุกรายศาลไม่ได้บังคับเพราะเป็นสิทธิ ต่างกับประเภทคดีเมาแล้วขับในศาลแขวงที่ใช้อุปกรณ์อีเอ็มติดให้ผู้ต้องหาและจำเลยเลย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ส่วน 5 ศาลอันดับแรกที่สถิติติดอุปกรณ์อีเอ็มสูงสุด ขณะนี้อันดับ 1 ศาลอาญา, อันดับ 2 ศาลมีนบุรี 169 ราย, ศาลอาญาธนบุรี 74 ราย, ศาลอาญากรุงเทพใต้ 69 ราย และอันดับที่ 5 ศาลจังหวัดนครปฐม 58 ราย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน