อธิบดีสถ.แจงโรงไฟฟ้าพลังงานขยะหาดใหญ่ ส่งกลิ่นเหม็นรุนแรง

โรงไฟฟ้า / เมื่อวันที่ 6 พ.ย. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) เปิดเผยถึงกรณีที่มีการรายงานข่าวว่าโรงไฟฟ้าพลังงานขยะต้นแบบตามนโยบาย คสช. ที่เทศบาลนครหาดใหญ่ จ.สงขลา ร่วมกับบริษัท อินเตอร์แนชั่นเนิลเอนจีเนียริง จำกัด (มหาชน) (IEC) ดำเนินการ ได้ส่งกลิ่นเหม็นรุนแรงอย่างต่อเนื่อง โดยถูกประชาชนร้องเรียนเป็นระยะนับตั้งแต่เปิดดำเนินการนั้น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นขอเรียนชี้แจงว่า โรงไฟฟ้านี้ไม่ใช่โรงไฟฟ้าต้นแบบของคสช. หรือรัฐบาลแต่อย่างใด แต่ได้ดำเนินการมาก่อนนานแล้ว โดยบริษัทจีเดค ได้รับอนุญาตจากกระทรวงพลังงาน และ สำนักงาน กกพ. โดยตรง ไม่ได้ผ่านการพิจารณาจากทางกระทรวงมหาดไทย

นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่อว่า กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากเทศบาลนครหาดใหญ่ จ.สงขลา พบว่า สาเหตุของปัญหาการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของเทศบาลนครหาดใหญ่ คือ ปัญหาที่เกิดจากการดำเนินงานของ โรงไฟฟ้า กำจัดขยะ ซึ่งสามารถแบ่งประเด็นปัญหา ได้แก่ 1. ปัญหากลิ่นไม่พึงประสงค์จากการดำเนินงาน 2. ปัญหาเรื่องมลภาวะทางอากาศ โดยเฉพาะผลกระทบจากสารไดอ๊อกซิน (Dioxin) และ 3. ปัญหาเรื่องน้ำเสียและน้ำชะขยะ

ซึ่งทางเทศบาลนครหาดใหญ่ได้ดำเนินการแก้ไขเบื้องต้นโดยลงตรวจสอบและติดตามอยู่ตลอด โดยมีการแก้ไขปัญหา ดังนี้

ด้านปัญหาเรื่องมลภาวะทางอากาศ โดยเฉพาะผลกระทบจากสารไดอ๊อกซิน (Dioxin) ซึ่งกระบวนการในการกำกับผลกระทบทางมลพิษทางอากาศ มี 3 ขั้นตอน ได้แก่

1. เทคโนโลยีการเผาไหม้ขยะที่ใช้เป็นเทคโนโลยีแก๊สซิฟิเคชั่น (Gasification) คือ การเผาไหม้กำจัดขยะที่อุณหภูมิการเผาไหม้สูงถึง 1,200 – 1,400 C. ซึ่งสามารถกำจัดแก๊สพิษที่เกิดจากกระบวนการเผาไหม้ตามปกติได้หมด
2. บริษัทฯ ได้เพิ่มเติมระบบบำบัดอากาศในช่วงท้ายของกระบวนเสริมอีก ได้แก่ การฉีดผงถ่านกัมมันต์ (Activated carbon) ซึ่งมีคุณสมบัติในการบำบัดแก๊สที่ส่งผลกระทบสิ่งแวดล้อมได้แก่ ไดอ๊อกซิน (dioxins) ฟูเรน (furans) และสารโลหะหนัก ส่วนสารโซเดียมไบคาร์บอเนต หรือผงปูนขาว (Lime slurry) มีคุณสมบัติในการบำบัดก๊าซเสีย และปรับสภาพความเป็นกรดของสารที่เจือปนในอากาศ
และ 3. ระบบถุงกรอง (Bag filter) ในการดักกรองฝุ่นและควันก่อนปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศ

กรณีที่มีข้อมูลระบุว่าทางโรงงานมีผลการตรวจวัดสารไดอ๊อกซินเกินค่ามาตรฐาน ขอเรียนชี้แจงว่า เป็นผลการตรวจวัดเมื่อปลายปี 2559 สาเหตุเกิดจากความบกพร่องในการปรับค่าการฉีดสารเคมีบำบัด ทำให้เกิดสารไดอ๊อกซินเกินค่ามาตรฐาน ซึ่งทางโรงงานฯ ได้ดำเนินการตั้งค่าให้เป็นไปตามมาตรฐานกำหนดแล้ว ซึ่งได้ทำการตรวจวัดตามเงื่อนไขในรายงาน ESA ให้ทำการตรวจวัดปีละ 2 ครั้ง ทั้งนี้ โรงงานยินดีเพิ่มการตรวจวัดเป็นปีละ 4 ครั้ง ตามข้อเรียกร้องของคณะกรรมการกำกับการดำเนินการและผู้แทนชุมชนฯ โดยปรับกำหนดการตรวจวัดให้เป็นที่เข้าใจตรงกันในทุกฝ่าย คือ ตรวจวัดครั้งแรกภายในเดือนมกราคม 2561 และครั้งต่อไปในทุกต้นไตรมาสของปีรวม 4 ครั้ง/ปี และมีบริษัทเอกชนภายนอกที่ทำการตรวจวัดสารพิษ ได้รับการรับรองจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมและกรมควบคุมมลพิษเป็นผู้ดำเนินการภายใต้การกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดและเคร่งครัดของหน่วยงานดังกล่าว ซึ่งการดำเนินการตรวจวัดมีค่าใช้จ่ายสูงหลายแสนบาทในการดำเนินการต่อครั้ง

เพิ่มเพื่อนคลิกเพิ่มเพื่อนกับข่าวสด รู้ข่าวก่อนใคร!

ทางด้านปัญหากลิ่นไม่พึงประสงค์จากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า มี 2 กรณี คือ
1. กรณีกลิ่นไม่พึงประสงค์จากปล่องอากาศ (stack) บริษัทฯ ได้ดำเนินการติดตั้งระบบผลิตโอโซน (Ozone generator) ปล่อยเข้าไปในปล่องอากาศ เพื่อทำการบำบัดอากาศเสียและกลิ่น พร้อมบำบัดสารโลหะหนักบางประการที่อาจมีปะปนในอากาศ และสามารถบำบัดได้โดยโอโซน จากการดำเนินการนี้โอโซนจะสามารถบำบัดกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ได้เมื่ออากาศถูกปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศแล้ว โอโซนจะแปรรูปกลับไปเป็นออกซิเจนและอากาศปกติที่ปลอดเชื้อโรคและกลิ่นภายใน 15 – 20 นาที
2. กรณีกลิ่นไม่พึงประสงค์จากกองขยะในพื้นที่ประกอบการ บริษัทฯ ได้ดำเนินการสร้าง/ปรับปรุงอาคารให้เป็นอาคารปิดและวางท่อพ่นละออง EM ภายในพื้นที่ที่รับขยะและกองขยะในพื้นที่ประกอบการ การดำเนินการดังกล่าวจะสามารถควบคุมกลิ่นไม่พึงประสงค์ที่ก่อให้เกิดอยู่ภายในพื้นที่จำกัดไม่แพร่กระจายออกไปสู่อากาศภายนอก ซึ่งละออง EM นี้จะยังสามารถควบคุมแมลงวันและการเติบโตของแบคทีเรียในกองขยะได้

และด้านปัญหาเรื่องน้ำเสียและน้ำชะขยะ ที่มีระบบบำบัดน้ำเสียและน้ำชะขยะผ่านท่อรับน้ำขยะใต้ดินภายในบริเวณโรงไฟฟ้า ซึ่งมีความสามารถบำบัดได้วันละ 80-100 ลูกบาศก์เมตร ที่ระดับความปนเปื้อน BOD 8,000 – 10,000 โดยปัจจุบันมีน้ำที่เข้าสู่ระบบบำบัดของโรงไฟฟ้าฯ 30 ลูกบาศก์เมตร ที่ระดับความปนเปื้อน BOD 5,700 จากปริมาณดังกล่าว ทำให้ระบบบำบัดน้ำเสียของโรงไฟฟ้าฯ สามารถรองรับได้เป็นอย่างดี และทำการปรับปรุงคุณภาพของน้ำให้ดีขึ้น ซึ่งน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้ว จะสามารถนำมาใช้ในประโยชน์ในโรงไฟฟ้าฯ ต่อได้

สำหรับการดำเนินงานภายใต้ พ.ร.บ.รักษาความสะอาดในปัจจุบันนั้น ได้กำหนดกระบวนการกำจัดขยะทั้งในลักษณะทั้งที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการเอง และร่วมดำเนินการกับเอกชนไว้ โดยให้ผ่านการพิจารณาและการให้คำแนะนำของคณะกรรมการจัดการสิ่งปฏิกูลมูลฝอยจังหวัด, คณะทำงานด้านเทคนิคของ ส่วนกลาง, คณะกรรมการกลาง ก่อนที่จะมีการเสนอกระทรวงมหาดไทยให้ความเห็นชอบโครงการ ซึ่งก่อนที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะไปดำเนินการหาเอกชนมาร่วมดำเนินการนั้น ยังต้องผ่านการพิจารณาอย่างรอบคอบ และในกรณีโรงไฟฟ้าจากขยะ ยังตัองมีการผ่านการพิจารณาของสำนักงาน กกพ. อีกด้วยเช่นกัน อธิบดีกล่าวในตอนท้าย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน