นักโบราณคดี กรมศิลปากรบุกพิสูจน์ใบเสมาพบใหม่บ้านเล้า จ.กาฬสินธุ์ คาดอยู่ในยุคพุทธศตวรรษที่ 12-16 อายุราว 1,000-1,200 ปี เป็นใบเสมาหินทรายกำหนดเขตแดนศักดิ์สิทธิ์ ชาวบ้านยังแห่กราบไหว้ขอโชคลาภ ด้านนายอำเภอขอความร่วมมือประชาชนอย่าลูบ ทาแป้ง ปิดทอง หวั่นทำให้โบราณวัตถุได้รับความเสียหาย

จากกรณีที่ชาวบ้านได้พบใบเสมาหินทรายที่บริเวณแปลงนาของนางทิพันธ์ วันชูพริ้ง และได้เคลื่อนย้ายมาเก็บรักษาไว้ที่วัดชัยศรีบ้านเล้า หมู่ที่ 6 บ้านเล้า ต.หลักเมือง อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ ท่ามกลางการดูแลรักษาความปลอดภัยของชาวบ้าน ที่สลับเปลี่ยนมาเฝ้าดูป้องกันมิจฉาชีพเข้ามาขโมย และประชาชนที่ทราบข่าวได้เดินทางมากราบไหว้จำนวนมาก ตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น

อ่านข่าว แห่ไหว้ขอโชค“ใบเสมาโบราณ”ที่กาฬสินธุ์ ชาวบ้านต้องจัดเวรยามเฝ้าหวั่นโดนขโมย

ความคืบหน้า เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 13 ม.ค. นายสัมฤทธิ์ กิตติโชค สุขสงค์ นายอำเภอกมลาไสย และนางสาวสุภาวดี อินทรประเสริฐ นักโบราณคดีชำนาญการ สำนักศิลปากรที่ 10 จ.ร้อยเอ็ด พร้อมคณะ เดินทางไปยังวัดชัยศรีบ้านเล้า หมู่ที่ 6 บ้านเล้า ต.หลักเมือง อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ เพื่อตรวจสอบใบเสมาหินทรายโบราณที่พบใหม่ 1 ชิ้น และที่พบก่อนหน้าที่นี้อีก 3 ชิ้น โดยใบเสมาหินทรายทั้งหมดได้ขุดพบในบริเวณเดียวกันก่อนจะนำมาเก็บรักษาไว้ที่วัดชัยศรีบ้านเล้า ก่อนลงพื้นที่สำรวจจุดขุดค้นพบที่แปลงนานางทิพันธ์ วันชูพริ้ง และที่บริเวณดอนอารักษ์ หรือดอนปู่ตาพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของบ้านเล้า โดยมีธวัธชัย ศรีขัดเค้า กำนันตำบลหลักเมือง นายวัฒนา นาสมหมาย ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 6 บ้านเล้า และชาวบ้านจำนวนมากนำสำรวจ

นางสาวสุภาวดี อินทรประเสริฐ นักโบราณคดี กล่าวว่า สำหรับใบเสมาหินทรายที่พบใหม่ล่าสุด มีภาพจำหลักน่าจะเป็นภาพเกี่ยวกับพุทธประวัติ รูปทรงขนาดใหญ่ ทำจากหินทรายสีแดงสมัยทวารวดี มีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 12-16 หรือราว 1,000-1,200 ปี ใกล้เคียงกับที่พบในพื้นที่เมืองฟ้าแดดสงยาง

นอกจากนี้ จากการลงพื้นที่สำรวจจุดค้นพบได้ทราบว่าก่อนหน้านี้ บริเวณแปลงนาของนางทิพันธ์ ได้พบมาก่อน 2 ชิ้น เป็นใบเสมาหินทรายเช่นเดียวกันแต่ไม่มีภาพจำหลัก ลักษณะที่พบใบเสมา วางราบกับพื้นและในบริเวณคาดว่าน่าจะมีในใต้ดินอยู่อีก และยังพบว่ามีใบเสมาขนาดใหญ่สูงเกือบ 2 เมตร อีก 1 ชิ้นโดยชาวบ้านระบุว่าพบในเขตดอนอารักษ์ หรือดอนปู่ตาของบ้านเล้า ห่างจากจุดที่พบใหม่ประมาณ 1 กม.เท่านั้น

“พื้นที่ที่พบใบเสมาโบราณสันนิษฐานว่าในอดีตเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ที่ถูกกำหนดเขตแดนด้วยหลักใบเสมาโบราณเป็นคติความเชื่อตามหลักพระพุทธศาสนา โดยที่พบในเขตบ้านเล้า ต.หลักเมือง อ.กมลาไสย จะมีทั้งไม่มีลวดลายและมีภาพจำหลัก ใบใหญ่ที่สุดทราบว่าพบตั้งแต่ปี 2537 ต่อมาก็พบเป็นเศษของใบเสมาหินทรายที่ไม่สมบูรณ์นัก กระทั่งในเดือนต.ค.2558 พบใบเสมาหินทราย 2 ชิ้น และมาพบอีก 1 ชิ้น ในบริเวณเดียวกัน โดยชาวบ้านได้นำมาตั้งไว้หน้าศาลาการเปรียญวัด และสร้างศาลาหลังเล็กป้องกันแดดลมและฝน ส่วนใบที่พบใหม่ตั้งอยู่กลางแจ้งที่จะต้องฝากให้ชาวบ้านช่วยดูแลรักษา แต่ทั้งนี้ก็จะส่งข้อมูลให้ผู้เชี่ยวชาญได้วิเคราะห์อีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ละเอียดมากยิ่งขึ้น ในขั้นตอนต่อไปก็จะเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ส่วนพิพิธภัณฑ์ ก็จะเข้ามาตรวจสอบเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นโบราณวัตถุ เป็นสมบัติของชาติและแผ่นดิน ที่จากนี้ก็จะฝากให้ชาวบ้านเล้าได้ช่วยกันดูแลรักษาต่อไป” นักโบราณคดี กล่าว

นายสัมฤทธิ์ กิตติโชค สุขสงค์ นายอำเภอกมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ตอนนี้มีประชาชนเดินทางมากราบไหว้อย่างไม่ขาดสาย โดยทางชาวบ้านได้จัดตั้งเต็นท์รองรับประชาชนที่เดินทางมากราบไหว้ เป็นการอำนวยความสะดวก และหลังจากการพูดคุยกับนักโบราณคดีแล้ว ขั้นตอนต่อไปในเรื่องของการรักษาวัตถุโบราณ ในอนาคตคงจะต้องสร้างอาคารครอบบริเวณลานพระประธานพระพุทธมิ่งมงคลมหาโชคชัย แบบถาวร และนำใบเสมาที่เก็บรักษาไว้ในวัดชัยศรีบ้านเล้าทั้งหมดมาไว้ที่เดียวกัน โดยหวังให้เป็นพื้นที่ศึกษาเรื่องราวประวัติศาสตร์

รวมถึงให้ชาวบ้านร่วมกันอนุรักษ์ดูแลทรัพย์อันมีค่าได้สะดวกมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ในส่วนของประชาชนทั่วไปที่เดินทางมากราบไหว้บูชาใบเสมาโบราณ ส่วนนี้ต้องขอร้องให้งดการลูบ ทาแป้ง ปิดทอง และการสรงน้ำ เนื่องจากจะเป็นการทำลายวัตถุโบราณที่เป็นหินทรายที่กร่อนง่ายเสียหายได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน