ศาลยกฟ้องคดี ป้าทุบรถ เพิกถอนข้อบัญญัติกทม.สร้างอาคารสูง-อาคารพาณิชย์ รอบสวนหลวงร.9 ได้ เรียกร้องผู้พักอาศัยลุกขึ้นสู้รักษาสิทธิตัวเองหากถูกละเมิด แม้แพ้แต่คำพิพากษายังคุ้มครองหากพบ กทม.ปล่อยเอกชนสร้างละเมิดปว 286 พ.ร.บ.การจัดที่ดิน 43 ฟ้องเอาผิดได้ พร้อมยันยื่นอุทธรณ์ต่อ

เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษายกฟ้องในคดีที่ น.ส.รัตนฉัตร แสงหยกตระการ น.ส.บุญศรี แสงหยกตระการ และน.ส.ราณี แสงหยกตระการ ผู้พักอาศัยในหมู่บ้านเสรีวิลล่า ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการที่กรุงเทพมหานครละเลยปล่อยให้เกิดตลาดรอบพื้นที่บ้านก่อความเดือดรำคาญ หรือป้าทุบรถ

ยื่นฟ้องขอให้ศาลปกครองกลางสั่งเพิกถอนประกาศข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องกำหนดบริเวณห้ามก่อสร้างดัดแปลง ใช้ หรือ เปลี่ยนการใช้อาคารบางชนิด หรือบางประเภท บริเวณโดยรอบสวนหลวง ร.9 ในท้องที่แขวงหนองบอน แขวงประเวศ เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2559 ลว.7 ก.ค.2559

โดยศาลเห็นว่า ข้อบัญญัติกทม.ที่พิพาทปรับปรุงแก้ไขจากข้อบัญญัติกทม.ฉบับเดิมที่ออกปี 2532 โดยมีประชาชนผู้ประกอบการขอให้แก้ไขด้วยเหตุผล ให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งสำนักผังเมืองกทม. ดำเนินการยกร่างและเสนอตามขั้นตอนของกฎหมาย มีการสอบถามความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ดังกล่าว

จนที่สุดเมื่อวันที่ 8 มิ.ย.59 สภากทม.มีมติเห็นชอบและผู้ว่าฯกทม.ได้ลงนามพร้อมประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 29 ก.ค.59 เพื่อบังคับใช้เป็นกฎหมาย จึงเห็นว่าการอกข้อบัญญัติดังกล่าวเป็นการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายแล้ว

ส่วนสาระของข้อบัญญัติที่แก้ไขก็ไม่ได้แก้เรื่องความสูงของอาคารในพื้นที่บริเวณที่ 1 ให้ก่อสร้างอาคารได้ไม่เกิน 23 และ 45 เมตร ตามที่น.ส.รัตนฉัตรอ้าง แต่เป็นการแก้ปรับลดพื้นที่ควบคุมการก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนแปลงการใช้อาคารในบริเวณโดยรอบสวนหลวง ร.9 ที่เดิมใช้แนวคลองธรรมชาติเป็นเขตควบคุมเปลี่ยนเป็นใช้แนวขนาน ซึ่งมีระยะห่างจากแนวเขตสวนหลวงร.9 ออกไปประมาณ 300 เมตร

โดยรอบเป็นเขตควบคุม และแก้ไขก่อสร้าง หรือดัดแปลงอาคารอื่นใดในบริเวณที่ 1 จากเดิมให้ก่อสร้างได้เฉพาะอาคารที่พักอาศัยประเภทบ้านเดี่ยว เป็นให้ก่อสร้างอาคารที่พักอาศัยประเภทบ้านเดี่ยว บ้านแฝด บ้านแถว และอาคารอยู่อาศัยรวมได้ โดยยังคงต้องมีความสูงไม่เกิน 15 เมตร เช่นเดียวกับข้อบัญญัติกทม.ฉบับเดิม โดยวัดความสูงจากระดับถนน ถึงขอบทางเท้าที่ใกล้ที่สูด ถึงส่วนที่สูงที่สุดของอาคาร

เมื่อพิจารณาประกอบกับเหตุผลของสำนักผังเมืองฯ ที่ว่าพื้นที่รอบสวนหลวงร.9 ปัจจุบันมีการเติบโตของชุมชนเขตเมือง มีการพัฒนาด้านที่อยู่อาศัย ระบบคมนาคมขนส่งมวลชน และเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมให้กับประชาชน ได้มีโอกาสใกล้ชิดกับสวนหลวงร.9 ซึ่งเป็นพื้นที่สีเขียวได้มากขึ้น โดยไม่จำกัดเฉพาะแต่อาคารที่พักอาศัยประเภทบ้านเดียว เพียงประเภทเดียว

รวมทั้งเพื่อให้การใช้ประโยชน์ที่ดินสอดคล้องตามกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมกทม. 2556 ที่กำหนดให้ที่ดินดังกล่าวอยู่ในประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย จึงเห็นว่าการใช้ดุลยพินิจของผู้ว่าฯกทม.ในการออกข้อบัญญัติดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายแล้ว

อย่างไรก็ตาม คำพิพากษายังระบุว่า แม้ข้อบัญญัติกทม.ดังกล่าวจะให้พื้นที่บริเวณที่ 1 สามารถก่อสร้างอาคารที่พักอาศัยประเภทบ้านเดี่ยว บ้านแฝด บ้านแถว อาคารอยู่อาศัยรวมได้ซึ่งแตกต่างจากเดิมที่ก่อสร้างเฉพาะบ้านเดี่ยว แต่การใช้ประโยชน์ในที่ดิน และการก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคาร นอกจากจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการผังเมือง และการควบคุมอาคารแล้ว ยังต้องปฏิบัติตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 286 ลงวันที่ 24 พ.ย.2515 และกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดิน

รวมถึงกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย คือหากพื้นที่บริเวณที่ 1 พื้นที่ใดได้รับอนุญาตให้จัดสรรที่ดินจากคณะกรรมการจัดสรรที่ดินตาม ปว.ฉบับที่ 286 และพ.ร.บ.จัดสรรที่ดิน 2543 การใช้ประโยชน์ในที่ดิน การก่อสร้าง ดัดแปลง อาคารในพื้นที่ที่มีการจัดสรรที่เดินดังกล่าว ยังต้องดำเนินการให้เป็นไปตามโฉนดที่ดิน แผนผังโครงการและวิธีการแนบท้ายใบอนุญาตจัดสรรที่ดินเท่านั้น

ด้าน น.ส.รัตนฉัตร กล่าวหลังฟังคำพิพากษาว่า ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครมีถึง 51 ฉบับแต่กทม.กลับอาศัยปัญหาเรื่องการก่อสร้างตลาดมาเจาะจงแก้ไขข้อบัญญัติฉบับนี้เพื่อที่จะได้สามารถดัดแปลงการใช้พื้นที่ในบริเวณที่เกิดปัญหาให้สามารถสร้างสิ่งก่อสร้างที่มีความสูงเกินกว่า 15 เมตรได้โดยอ้างเรื่องการเปลี่ยนแปลงและความเจริญเติบโตของเศรษฐกิจและสังคม ทั้งที่พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่อนุรักษ์มากกว่า 30 ปีซึ่งไม่ควรนำเรื่องของความเจริญมาปรับใช้กับพื้นที่อนุรักษ์

อย่างไรก็ตาม แม้ศาลจะยกฟ้อง แต่ในเนื้อหาของคำพิพากษาก็ระบุให้ดัดแปลงการใช้พื้นที่ต้องยึดประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 286 และพ.ร.บ.จัดสรรการจัดสรรที่ดิน 2543 รวมถึงรายละเอียด แผนผังโครงการ สัญญาแนบท้ายการจัดสรรที่ดิน โฉนดของผู้ถือครองที่ดินเป็นหลัก ซึ่งก็ถือว่าเป็นการคุ้มครองประชาชนผู้อยู่อาศัยได้ส่วนหนึ่งแต่ก็ไม่สามารถวางใจได้ เพราะที่ผ่านมา ปัญหาที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านเสรีวิลล่า ก็เกิดจากคนที่ไม่รักษากฎหมาย อาศัยใช้ช่องโหว่ของกฎหมาย

ดังนั้น คิดว่าเป็นเรื่องที่ประชาชนผู้อยู่อาศัยโดยรอบสวนหลวงร. 9 จะต้องคอยตรวจสอบการปฏิบัติของกรุงเทพมหานครหากว่า มีการดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย และกระทบสิทธิของตนเองก็ต้องออกมาต่อสู้ อย่าละเลย ต้องออกมาเรียกร้องปกป้องสิทธิของตนเอง เพราะไม่เช่นนั้นทุกคนจะเดือดร้อนถาวรตลอดไป ทั้งนี้เราเองจะยื่นอุทธรณ์ต่อไป

“เราก็จะทำตามหน้าที่คือ และสิ่งที่เราลุกขึ้นมาต่อสู้ เราอาจจะต้องขอโทษหมู่บ้านอื่นที่ไม่สามารถทำภารกิจนี้ให้ลุล่วงไปด้วยดี แต่ป้าก็ทำเต็มที่แล้ว จากนี้ลูกบ้านต้องรักษาสิทธิของตัวเอง ถ้าหากว่าใครจะสร้างล่วงล้ำผิดจากที่กฎหมายกำหนดก็ต้องลุกขึ้นมาต่อสู้ เราต้องยึดโฉนด แผนผังโครงการ ใบอนุญาตการจัดสรรที่ดินร่วมกับประกาศคณะปฏิวัติ 286 และพ.ร.บ.การจัดสรรที่ดินเป็นหลัก ถ้าทำผิดกฎหมายก็ต้องสู้ ซึ่งต่อไปก็อาจต้องมีการฟ้องร้องทุกหย่อมหญ้าในบริเวณดังกล่าว” น.ส.รัตนฉัตร กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน