อธิบดีสถ. ลุยตรวจเยี่ยมศูนย์ลดอุบัติเหตุ ให้กำลังใจจนท.ปฏิบัติงาน

อธิบดีสถ. / เมื่อวันที่ 31 ธ.ค. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ และประธานชมรมแม่บ้านกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายขจร ศรีชวโนทัย รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และคณะลงพื้นที่จ.สมุทรสาครและจ.นครปฐม เพื่อตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน พร้อมตรวจห้องน้ำสาธารณะตามโครงการ “ห้องน้ำท้องถิ่น สะอาดและปลอดภัย”

โดยเริ่มจากตรวจห้องน้ำภายในสวนสาธารณะ บริเวณศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสมุทรสาคร ซึ่งอยู่ในความดูแลของเทศบาลนครสมุทรสาคร จากนั้นเดินทางเข้าตรวจเยี่ยมศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ถนนพระรามที่ 2 ขาออก ที่จุดพักรถเดอะสเตชั่น ต.บางกระเจ้า อ.เมืองสมุทรสาคร ซึ่งเป็นจุดพักรถต้นแบบด้านความสะอาด ปลอดภัย พอเพียง และยังมีห้องละหมาดเตรียมไว้ให้พี่น้องมุสลิมได้เข้ามาใช้สำหรับทำพิธีละหมาดตามหลักศาสนา และเดินทางไปวัดใหม่ราษฎร์นุกูล เพื่อตรวจห้องน้ำสาธารณะภายในวัด ที่อยู่ในความดูแลของเทศบาลตำบลบ้านแพ้ว จากนั้นเดินทางไปที่จ.นครปฐม เพื่อตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน สี่แยกทุ่งพระเมรุ ของเทศบาลนครนครปฐม

อธิบดีสถ.กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ในวันนี้ขอชื่นชมและเป็นกำลังใจในการทำดีของเจ้าหน้าที่ และผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคน ที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยอัธยาศัยไมตรีที่ดีเยี่ยม มีจิตสาธารณะ และได้สอบถามถึงการปฏิบัติงานภายในศูนย์ฯ ซึ่งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยได้กำชับ และเน้นย้ำเรื่องมาตรการสำคัญต่างของการใช้รถใช้ถนน โดยให้ผู้ที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขจุดเสี่ยงในพื้นที่ต่างๆ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อผู้ใช้รถใช้ถนนให้มากที่สุด และให้ช่วยกันประชาสัมพันธ์ให้ผู้ที่ใช้รถใช้ถนน ขับรถด้วยความมีน้ำใจและรักษาวินัยจราจร เพื่อความปลอดภัยสูงสุดในการเดินทาง และขอให้ผู้นำ อปท. พี่น้องประชาชน มาร่วมกันพัฒนา ฟื้นฟู ดูแลถนนสวย ตามโครงการ “1 อปท. 1 ถนน ท้องถิ่นใส่ใจสิ่งแวดล้อม” ซึ่งเป็นโครงการที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.)จัดขึ้น เพื่อให้ อปท. ทั่วประเทศสำรวจ และคัดเลือกถนนที่อยู่ในพื้นที่ ที่เป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก ถนนลาดยาง หรือถนนลูกรัง จำนวนอย่างน้อย 1 สายทาง ที่อยู่ในความรับผิดชอบของ อปท. มาร่วมกันเปลี่ยนโฉมถนนแต่ละสาย

โดยเชิญชวนทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนา ปรับปรุง สิ่งแวดล้อมบริเวณถนนให้เป็นระเบียบเรียบร้อย และสวยงาม ไม่ว่าจะเป็นการปลูกไม้ยืนต้นประจำท้องถิ่น/อำเภอ/จังหวัด หรือไม้ดอก ไม้ประดับอื่นๆ ที่เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ เพื่อให้ดูร่มรื่น และสวยงามทั้งสองข้างถนน นอกจากปลูกต้นไม้ให้สวยงาม บานสะพรั่งแล้ว ก็จะต้องปรับปรุงทิวทัศน์สองข้างทางให้สะท้อนถึงวัฒนธรรม วิถีชุมชน หรือเอกลักษณ์ของชุมชน ไปจนถึงมีการดูแลสิ่งแวดล้อมของถนนเส้นนั้นอย่างเป็นระบบด้วย เช่น กระบวนการรักษาความสะอาด การจัดเก็บขยะ การคัดแยกขยะให้กลมกลืนกับสภาพแวดล้อม และไม่ลืมที่จะที่เริ่มต้นจากที่บ้านของทุกๆคน โดยดูแลหน้าบ้านของตนเองให้สะอาดสวยงาม เพราะความสำเร็จอยู่ที่จิตสำนึกของทุกคน

อธิบดี สถ. กล่าวต่อถึง โครงการ “ห้องน้ำท้องถิ่น สะอาด ปลอดภัย” ที่กรมฯ ได้ให้ อปท. พัฒนาห้องน้ำสาธารณะที่อยู่ในความรับผิดชอบ เช่น ห้องน้ำในสำนักงาน ห้องน้ำของวัด มัสยิด ศาสนสถานต่างๆ สถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ โรงเรียน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก หรือห้องน้ำของเอกชน เช่น ในสถานีบริการน้ำมัน ร้านอาหาร ที่ผู้บริหาร อปท. สามารถเข้าไปพูดคุย ทำความเข้าใจให้เจ้าของกิจการยินดีมาเข้าร่วมโครงการ “ห้องน้ำท้องถิ่น สะอาด ปลอดภัย” เพื่อให้บริการประชาชนที่เดินทางผ่านได้เข้าใช้บริการด้วยความมั่นใจว่าเป็นห้องน้ำที่สะอาด ปลอดภัย ได้มาตรฐาน คือ สะอาด เพียงพอ ปลอดภัย รวมทั้งได้รับการดูแล ปรับปรุง ซ่อมแซม ให้อยู่ในสภาพดีอย่างสม่ำเสมอ ปรับปรุงภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศในฐานะประเทศท่องเที่ยว โดยมีการจัดทำป้ายประชาสัมพันธ์ให้ทราบด้วยว่าเป็น ห้องน้ำท้องถิ่น สะอาด ปลอดภัยด้วย

อีก 1 โครงการที่ต้องการฝากให้ผู้บริหาร อปท. ช่วยขับเคลื่อน คือ โครงการ “วัด – ประชา – รัฐ – สร้างสุข พัฒนาวัดด้วยแนวทาง 5 ส” ที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้ร่วมกับมหาเถรสมาคม สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย และสำนักงานกองทุนสนับสนุน การสร้างเสริมสุขภาพ ได้ลงนามบันทึกข้อตกลง MOU ว่าด้วยความร่วมมือดำเนินโครงการ วัด – ประชา- รัฐ – สร้างสุข : พัฒนาวัดตามแนวทาง 5ส ที่ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม มีสาระสำคัญในการทำชุมชนให้เข้มแข็ง

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่เพิ่มเพื่อน

โดยมีวัดเป็นศูนย์กลางของชุมชน ด้วยแนวทาง 5 ส เพื่อให้ทุกภาคส่วน มีส่วนร่วมในการทำชุมชนให้เข้มแข็ง และวัดพร้อมเป็นศูนย์กลางของชุมชนอย่างยั่งยืน และกรมฯ เห็นว่าโครงการดังกล่าว เป็นการจรรโลงและดำรงไว้ ซึ่งพระพุทธศาสนา เป็นหน้าที่ของพุทธบริษัท 4 ทั้งฝ่ายพุทธจักร และฝ่ายอาณาจักร ที่ต้องคอยเกื้อกูลและสนับสนุนซึ่งกันและกัน ประกอบกับการนับถือศาสนา คำสอนของศาสนา และพิธีกรรมทางศาสนา เป็นส่วนหนึ่งของจารีตประเพณี และวัฒนธรรมอันเป็นอำนาจหน้าที่ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)

หลังจากที่ได้ลงนามบันทึกข้อตกลง MOU ในเรื่องนี้แล้ว กรมฯ ได้ดำเนินการโดยทันที เพราะตระหนักดีว่า โครงการนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งในการเสริมสร้างความรัก ความสามัคคีของประชาชนในท้องถิ่นกับวัดและศาสนสถานอื่นๆ ที่อยู่ในท้องถิ่น ให้ได้มีโอกาสช่วยกันทำสิ่งที่ดี นั่นคือ ทำให้วัด หรือศาสนสถาน มีความสะอาด เป็นระเบียบเรียบร้อย สวยงาม อันจะเป็นการสร้างสุขลักษณะที่ดี และสร้างความเลื่อมใส ให้แก่เด็ก เยาวชน และคนในท้องถิ่นนั้นๆ

โดยกรมฯ วางเป้าหมายไว้ว่าในปี 2562 นี้ 1 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะมีอย่างน้อย 2 วัดเข้าร่วมโครงการฯ เว้นแต่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น ไม่มีวัดอยู่ในพื้นที่ ก็ให้คัดเลือกศาสนสถาน ของศาสนานั้นดำเนินการตามโครงการฯ แทน และความสำเร็จต่างๆ ของโครงการนี้ กรมฯ จะรวบรวมข้อมูลต่างๆ เพื่อจัดพิมพ์เป็นหนังสือเผยแพร่ให้แก่สาธารณชน ซึ่งหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการนี้ให้สำเร็จผล ต้องขอรบกวนทางคณะสงฆ์ ได้ให้ความเมตตาไปเยี่ยมเยียน พูดคุยกับผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนในพื้นที่ด้วย โครงการฯนี้ ก็จะมีความสำเร็จได้รวดเร็วยิ่งขึ้นด้วย อธิบดี สถ.กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน