เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 31 ม.ค. ที่ศาลจังหวัดภูเก็ต นายพีระพงษ์ เภรีฤกษ์ ผู้พิพากษาศาลจังหวัดภูเก็ต ออกบัลลังก์ อ่านคำพิพากษาศาลชั้นต้น กรณีโจทก์นางบุญศรี ตันติวัฒนวัลลภ กับพวก 2 คน ทายาทของนายทัน มุกดี ผู้แจ้ง ส.ค.1 และต่อมามีการออกโฉนดที่ดินเลขที่ 8324 เนื้อที่ 12 ไร่ หมู่ 2 บ้านราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต ยื่นฟ้องขับไล่ จำเลย ประกอบด้วย นายแอ่ว หาดทรายทอง นายวรณัน หาดทรายทอง นายบัญชา หาดทรายทอง และนายนิรันดร์ หยังปาน ชาวเลราไวย์ หมู่ที่ 2 ต.ราไวย์ จ.ภูเก็ต รวม 4 คดี

โดยมีกลุ่มชาวเลมาร่วมให้กำลังใจอยู่บริเวณด้านหน้าศาลจังหวัดภูเก็ตจำนวน 100 คน นอกจากนี้ ยังมีสื่อมวลชนทั้งส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นสนใจร่วมทำข่าวเป็นจำนวนมากเช่นกัน โดยใช้เวลาร่วม 1 ชั่วโมง และเมื่อทางนายนิรันดร์ หยังปาน เข้ามาแจ้งกับชาวเลราไวย์ที่มารออยู่ทราบ ต่างร้องไห้ด้วยความยินดี

นายนิรันดร์ หยังปาน แกนนำชาวเลราไวย์ และเป็นหนึ่งในผู้ที่ฟ้องขับไล่ กล่าวภายหลังฟังการอ่านคำพิพากษาแล้วเสร็จว่า ในการวินิจฉัยนั้นศาลพิจารณาในหลายประเด็น โดยเฉพาะภาพการเสด็จประพาสหมู่บ้านชาวเลของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อปี 2502 ซึ่งมีภาพของต้นมะพร้าวปรากฏอยู่ด้วย ซึ่งโจทย์แจ้งว่าต้นมะพร้าวมีอายุ 10 ปี แต่จากการตรวจสอบของผู้เชี่ยวชาญพบว่า ต้นมะพร้าวดังกล่าวมีอายุกว่า 30 ปี จึงเป็นข้อขัดแย้งและข้อพิรุธ ประกอบกับการพิจารณาของศาลพบว่า หลักฐานของโจทก์มีข้อพิรุธหลายอย่าง จึงพิจารณายกฟ้อง เพราะชาวเลเป็นผู้ถือผู้ใช้ประโยชน์ที่ดิน ซึ่งทางโจทก์ถือหลักฐานโฉนด

“รู้สึกดีใจที่ศาลมองเห็นว่าวิถีชีวิตและชาติพันธุ์ของชาวเล มีประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม รวมทั้งยังมีหักฐานที่เชื่อถือได้ ซึ่งนับตั้งแต่การตัดสินคดี เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2559 ในคดีที่นายจำเริญ มุกดี ทายาทนายทัน มุขดี เจ้าของที่ดินตามโฉนดเลขที่ 8342 ฟ้องขับไล่ นายจรูญ หาดทรายทอง และนางแต๋ว เซ่งบุตร ซึ่งศาลพิจารณายกฟ้อง และในวันนี้ ก่อนที่ชาวบ้านจะมาฟังคำการอ่านคำพิพากษาก็ค่อนข้างกังวลและตื่นเต้นว่า จะยกฟ้องเหมือนคดีก่อนหน้านี้หรือไม่ แต่เมื่อศาลอ่านคำพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากหลักฐานของโจทก์มีข้อพิรุธ ส่วนการเตรียมการหลังจากนี้เนื่องจากเชื่อว่าทางโจทก์จะต้องมีการอุทธรณ์นั้น เนื่องจากเราไม่มีความรู้เรื่องกฎหมาย แต่เชื่อว่าศาลอุทธรณ์ก็จะมีการนำข้อมูลจากศาลชั้นต้นไปพิจารณาร่วมด้วย” นายนิรันดร์ กล่าว

นายนิรันดร์ กล่าวด้วยว่า แนวทางการสู้จะเน้นในเชิงวัฒนธรรม เอาความจริงมาต่อสู้กัน เพราะขณะนี้ถือว่าคดียังไม่สิ้นสุด ภาพรวมมีคดีที่ชาวเลถูกฟ้องจำนวน 117 ราย ขณะนี้มีทั้งการพิจารณายกฟ้อง และชาวเลแพ้ โดยการยกฟ้องมี 6 ราย ในส่วนของรายที่แพ้คดีนั้นก็ยังคงอยู่ที่เดิม เนื่องจากไม่รู้จะไปอยู่ที่ไหน เพราะพื้นที่ที่อยู่ถือเป็นที่ของบรรพบุรุษ แม้ว่าโจทก์จะมารื้อก็ไม่รู้ว่าจะไปอยู่ที่ไหน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวเลรายอื่นๆ ที่มาร่วมให้กำลังใจก็กล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า รู้สึกดีใจ ถึงแม้จะเป็นแค่เพียงศาลชั้นต้น ยังต้องสู้กันอีกต่อไป แต่ก็ถือเป็นฤกษ์ดีที่ชนะ เท่ากับว่าความพยายามต่อสู้ที่ผ่านมาหลายปีนั้นไม่สูญเปล่า

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน