ทุ่งสงเดือด นายอำเภอแจ้งความชาวบ้าน ค้านสร้างเขื่อนวังหีบ ทนายชี้หวังปิดปากคนต่อต้าน

ค้านสร้างเขื่อนวังหีบ – เมื่อวันที่ 14 ม.ค. ความขัดแย้งกรณีโครงการสร้างเขื่อนคลองวังหีบ อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช เริ่มบานปลายมากขึ้น เมื่อนายอำเภอ แจ้งความดำเนินคดีกับชาวบ้านที่ออกมาคัดค้าน โดย นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบูรณาการ กล่าวว่า วันนี้มีหมายเรียกผู้ต้องหาครั้งที่ 1 จากสถานีตำรวจทุ่งสง ส่งมายังชาวบ้านวังหีบ 2 คน คือ นายวุฒิชัย แก้วลำหัด และนางนงลักษณ์ ผาสุข มีเนื้อหาระบุว่า ด้วยเหตุร่วมกันกระทำด้วยประการใดๆ ให้ทางสาธารณะประตูน้ำ ทำนบ เขื่อน อันเป็นส่วนของทางสาธารณะ หรือที่ขึ้นลงของอากาศยาน อยู่ในลักษณะอันน่าจะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่การจราจร และให้ไปที่ สภ.ทุ่งสง ในวันที่ 17 ม.ค. โดยลงชื่อผู้กล่าวหาคือนายจิรโรจน์ สำแดง นายอำเภอทุ่งสง

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่เพิ่มเพื่อน

นายหาญณรงค์ กล่าวต่อว่า สาเหตุของการออกหมายเรียกครั้งนี้น่าจะสืบเนื่องจากหลังจากมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับโครงการเขื่อนคลองวังหีบในวันที่ 18 ธ.ค. 2561 วันต่อมาชาวบ้านเตรียมที่จะทำด่าน ทางบริเวณสะพาน ซึ่งเป็นเส้นทางที่ชาวบ้านขึ้น-ลงไปกรีดยางพารา ที่สวนบนภูเขา เพื่อดูแลความปลอดภัย แต่ยังไม่ได้เริ่มดำเนินการ เพียงแต่ได้นำเอาอุปกรณ์ไปฝากที่บ้านชาวบ้านที่หัวสะพาน แต่กลางดึกคืนดังกล่าวมีคนเอาไป ต่อมาช่วงเช้าวันที่ 20 ธ.ค. มีเจ้าหน้าที่ตำรวจและอำเภอ เข้ามาจำนวนหลายคน

“ที่ชาวบ้านทำด่าน ก็เพื่อแสดงออกว่าไม่รับมติครม. ดังกล่าว และเพื่อนับจำนวนนักท่องเที่ยว ที่เข้ามาในพื้นที่ หากฝ่ายปกครองไม่เห็นด้วย ก็ควรตักเตือน ไม่ใช่มาออกหมายเรียกแบบนี้ ตามที่ระบุในมติครม. ต้องให้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการเขื่อนให้แก่ประชาชน และการกระทำของชาวบ้านไม่ใช่การปิดทางจราจร ไม่รู้จะพูดยังไง ไม่ใช่สิ่งที่ราชการควรทำกับประชาชนโครงการเขื่อนวังหีบ จะผลักดันอย่างไร ก็ต้องมีการทำประชามติกับชุมชน ไม่ควรดำเนินการทางกฎหมายแบบนี้ ถือว่าคาดไม่ถึง”นายหาญณรงค์ กล่าว

ด้าน นางสาวส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความจากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน กล่าวว่า ในส่วนการออกหมายเรียก เป็นสิทธิของชาวบ้านที่จะเลื่อนการเข้าพบได้ เนื่องจากผู้ถูกหมายเรียกมีสิทธิปรึกษาทนายความและให้ทนายความร่วมฟังการสอบสวน ขณะนี้ทางทนายความจะดูข้อเท็จจริง เพราะหากยังไม่ได้ดำเนินการปิดกั้นทางจราจร แต่กลับมีหน่วยงานรัฐมาเอาอุปกรณ์ออกไป อาจเป็นปัญหาว่าจะสามารถดำเนินข้อหาดังกล่าวได้หรือไม่ และในวันดังกล่าว ทีมทนายความติดภารกิจ จึงจะทำเรื่องเลื่อนไปก่อนเพื่อให้มีทนายความไปร่วมกระบวนการตั้งแต่ต้น เนื่องจากเป็นสิทธิของผู้ต้องหา

นางสาวส.รัตนมณี กล่าวว่า หน่วยงานรัฐไม่ควรนำเอากฎหมายมาดำเนินกับชาวบ้าน ซึ่งเท่ากับปิดกั้นชาวบ้าน และอาจจะกลายเป็นฟ้องปิดปาก ใช้กฎหมายเล่นงาน จะเป็นปัญหาว่าหากต่อไปชาวบ้านลุกขึ้นปกป้องชุมชน จะไม่สามารถออกสิทธิของตนเองได้ ซึ่งในรัฐธรรมนูญให้ประชาชนร่วมปกป้องคุ้มครองทรัพยากร และจากการที่ทำงานกฎหมายมาตลอด หากชาวบ้านต้องการปกป้องตนเองก็ต้องหาทางพูดคุยกับรัฐ หรือใช้ช่องทางทางกฎหมาย ที่สำคัญคือรัฐมีหน้าที่ใช้กฎหมายปกป้องประชาชนไม่ใช่นำมาเป็นอุปสรรคต่อกาาใช้สิทธิของประชาชน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน