ทช. ปลื้ม เต่าหญ้า วางไข่รอบ 23 ปี ระบุ เต่ามะเฟือง คาดรังแรกออกช่วงวันวาเลนไทน์ ระบุไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ที่ลูกเต่าจะรอด ชี้บางส่วนไข่ไม่ฟัก ส่วนตัวที่ออกมาต้องผจญกับสัตว์ผู้ล่าในห่วงโซ่อาหาร

เมื่อวันที่ 6 ก.พ. นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า ล่าสุดเราพบว่าแม่เต่าหญ้า มาวางไข่บริเวณหาดบ่อดาน อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา มีไข่ 88 ฟอง นับเป็นการกลับมาของเต่าหญ้าที่มาวางไข่ในรอบ 23 ปี เต่าหญ้าเป็นเต่าทะเลที่เล็กที่สุดในโลก เป็นสัตว์ทะเลหายาก และใกล้สูญพันธุ์ ซึ่งนับจากนี้ประมาณ 50 วัน ลูกเต่าจะฟักออกและกลับลงทะเลเพื่อเติบโตเป็นพ่อและแม่พันธุ์ต่อไป ซึ่งการวางไข่ของเต่าหญ้าและเต่ามะเฟืองจึงนับเป็นของขวัญจากทะเลที่ดีที่สุด

นายจตุพร กล่าวต่อว่า ส่วนการวางไข่ของเต่ามะเฟืองมากถึง 3 รังในช่วงเดือนธ.ค.61–ม.ค.62 ครั้งแรกพบที่บริเวณชายหาดคึกคัก อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา ครั้งที่ 2 หน้าหาดใกล้กับวัดท่าไทร ต.นาเตย อ.ท้ายเหมืองง จ.พังงา และครั้งที่ 3 บริเวณหาดคึกคัก ห่างจากจุดวางไข่ครั้งแรกประมาณ 430 เมตร ซึ่งเป็นเต่ามะเฟือง เป็นสัตว์ทะเลที่หายากและใกล้สูญพันธุ์ที่สุด เมื่อเทียบกับบรรดาเต่าทะเลทั้ง 7 ชนิดทั่วโลก ซึ่งไทยไม่พบเจอเต่ามะเฟืองมาวางไข่นานกว่า 5 ปี แล้ว

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

นายจตุพร กล่าวอีกว่า ทช.ได้จัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์เต่ามะเฟืองและเต่าหญ้า จ.พังงา เพื่อเป็นศูนย์กลางความร่วมมือในการอนุรักษ์เต่า ทั้งถิ่นที่อยู่อาศัย แหล่งวางไข่ การพัฒนาพื้นที่เปราะบางที่เต่าวางไข่ โดยทช.ร่วมบูรณาการกับทุกฝ่าย ทั้งภาคเอกชน รัฐบาล และประชาชน พร้อมมีมาตรการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์เต่ามะเฟือง ดังนี้ 1.กั้นรั้วรอบหลุมไข่ เพื่อป้องกันภัยจากสัตว์และมนุษย์ 2.จัดเจ้าหน้าที่ตรวจตราเฝ้าระวังบริเวณหลุมไข่ตลอด 24 ชั่วโมง 3.การเดินลาดตระเวนบริเวณชายหาด 4.ติดตั้งป้ายประกาศเพื่อให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน 5.ติดตั้งกล้องถ่ายทอดสดแบบเรียลไทม์ รวม 6 ตัวต่อพื้นที่

“เชื่อว่าลูกเต่ามะเฟืองรังแรกน่าจะออกมาในช่วงวันวาเลนไทน์ ซึ่งทางกรม ทช. และนักวิจัยจะปล่อยให้เต่าเดินลงทะเลไปตามธรรมชาติ เพียงแค่เคลียร์พื้นที่ชายหาดให้ลูกเต่าเดินลงไปในทะเลเท่านั้น คงไม่นำลูกเต่ามะเฟืองไปอนุบาลเพราะไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่าย ในระดับโลกก็ยังไม่สำเร็จ ส่วนเปอร์เซ็นต์ที่ลูกเต่าจะรอดนั้นอาจไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์จากไข่ทั้งหมด บางส่วนไม่ฟักออกมาเป็นตัว ส่วนลูกมะเฟืองที่เกิดมาก็ต้องผจญกับสัตว์ผู้ล่าในห่วงโซ่อาหารในระบบนิเวศเสมอ” นายจตุพร กล่าว

นายจตุพร กล่าวต่อว่า แต่สิ่งสำคัญที่เราจะช่วยได้คือความร่วมมือกับประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งชาวประมง ให้ร่วมกันอนุรักษ์ดูแลลูกเต่ามะเฟือง และอย่าไปรบกวนถิ่นที่อยู่อาศัย ตลอดจนแนวทางปฏิบัติในการอนุรักษ์เต่าทะเลอย่างยั่งยืนและมีประสิทธิผลต่อไปได้

___________________________

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน