กรมป่าไม้ยัน จำเป็นต้องฟ้อง ตายาย(ไม่ได้)เก็บเห็ด ยันรุกป่า 72 ไร่ ต้นไม้สัก 700 ต้น

กรณีคดีนายอุดม ศิริสอน อายุ 54 ปี และนางแดง ศิริสอน อายุ 51 ปี สามีภรรยา (ที่ถูกเรียกในสังคมออนไลน์ว่า “ตายายเก็บเห็ด”) บ้านโนนสะอาด อ.ห้วยเม็ก จ.กาฬสินธุ์ ถูกเจ้าหน้าที่ป่าไม้จับกุมในข้อหาร่วมกันบุกรุกแผ้วถาง ก่อสร้าง ทำไม้ ยึดถือครอบครอง ในเขตป่าสงวนแห่งชาติดงแนง ตั้งแต่ปี 2553

และในปี 2554 ศาลจังหวัดกาฬสินธุ์พิพากษาจำคุกคนละ 30 ปี ลดโทษเหลือ 15 ปี จากนั้นปี 2557 ผู้ต้องหายื่นประกันตัวเพื่อต่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์มีคำแก้จำคุกเป็น 14 ปี 12 เดือน และในปี 2560 ศาลฎีกามีคำพิพากษาให้จำคุก นายอุดม และนางแดง ศิริสอน ในข้อหาบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าดงระแนง โดยให้จำคุกคนละ 5 ปี

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

ล่าสุดกรมป่าไม้ ได้ทำหนังสือนายอุดม ศิริสอน อ้างถึงคำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 456/2560 ลงวันที่ 2 ก.พ.2560 ความว่า ตามคดีอาญาที่อ้างถึง เรื่องความผิดต่อ พ.ร.บ.ป่าไม้ ความผิดตามพ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งคดีนี้ศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ มีคำพิพากษาให้นายอุดม และพวกรวม 2 คน มีความผิดตามพ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 พ.ร.บ.ป่าไม้

ซึ่งผู้กระทำผิดต้องชดใช้ค่าเสียหายเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ถูกทำลาย ตามนัยมาตรา 97 แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 โดยพื้นที่บุกรุกทำลาย 72 ไร่ คิดค่าเสียหายต่อรัฐเป็นเงินทั้งสิ้น 2,521,055 บาท ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น

เมื่อวันที่ 11 มี.ค. นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า ต้องชี้แจงก่อนว่า นายอุดม และนางแดง ที่ถูกจับกุมในขณะนั้นอายุแค่ 40 ปีปลายๆ และไม่ได้ถูกจับข้อหาเก็บเห็ดตามที่สังคมรับรู้ แต่ทั้งสองคนต้องโทษในคดีร่วมกันบุกรุกแผ้วถาง ก่อสร้าง ทำไม้ ยึดถือครอบครอง ในเขตป่าสงวนแห่งชาติดงแนง บุกรุกทำลายป่า 72 ไร่

และพบมีการตัดโค่นไม้สักและไม้กระยาเลย ขนาดโตประมาณ 30 – 90 เซนติเมตร อายุ 15 – 20 ปี กว่า 700 ต้น ซึ่งเมื่อจับผู้กระทำผิดทั้งสองได้ก็ส่งนำส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจสภ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ กระทั่งมีการดำเนินคดีจนคดีสิ้นสุดถึงชั้นศาลฎีกา

“สังคมเคยตั้งคำถามว่า แค่ 2 คนไม่น่าจะบุกรุกตัดไม้ทำลายป่าได้ถึง 72ไร่ และตัดไม้สัก ไม้กระยาเลยอีกกว่า 700 ต้น ซึ่งแน่นอนว่าการกระทำดังกล่าวเป็นลักษณะของกลุ่มขบวนการที่ลักลอบตัดไม้ และแบ่งหน้าที่กันทำ

ซึ่งนายอุดมและนางแดง ยอมรับสารภาพว่าทำผิดจริง แต่ก็ไม่ได้ซักทอดไปยังบุคคลอื่นแต่อย่างใด ส่วนเรื่องการสืบสวนเพื่อหากลุ่มร่วมขบวนการก็อยู่ในชั้นพนักงานสอบสวนของสภ.ยางตลาด”

นายอรรถพล กล่าวต่อว่า ส่วนการฟ้องแพ่งเรียกค่าเสียหายเป็นเรื่องปกติของทุกคดี คดีบุกรุกป่า อายุความละเมิดต้องฟ้องเรียกค่าเสียหายภายใน 1 ปี นับแต่รู้หรือควรได้รู้เหตุ แต่ไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันละเมิด และหากปล่อยคดีขาดอายุความ หน่วยงานต้องตั้งกรรมการสอบหาผู้รับผิดทางละเมิด หากกรมป่าไม้ไม่ฟ้องร้องจะมีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่อีก

ส่วนค่าเสียหายต่อรัฐ ทั้งสิ้น 2,521,055 บาท เป็นไปตามการคำนวณค่าเสียหายเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ถูกทำลาย มาตรา 97 แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ในพื้นที่บุกรุก 72 ไร่

“อย่างไรก็ตามในส่วนของหน่วยงานราชการ หากพบว่าผู้กระทำผิดมีความจำเป็นหรือเป็นผู้ยากไร้ กรมป่าไม้ก็อาจหาช่องทองช่วยเหลือลดหย่อนตามเหตุสมควรได้ ซึ่งจะประสานไปยังกระทรวงการคลังเพื่อรับเรื่องต่อไป ซึ่งขณะนี้นายอุดม และนางแดง ยังมีโทษจำคุกอยู่

โดยทางเรือนจำจังหวัดกาฬสินธุ์ได้เสนอชื่อทั้ง 2 คน อยู่ในกระบวนการรอรับพระราชทานอภัยโทษด้วย และทางกรมป่าไม้จะประสานงานกับกรมราชทัณฑ์ เพื่อช่วยเหลือในส่วนที่สมควรจะดำเนินการได้ตามระเบียบและกฎหมายต่อไป” อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน