อย.เผย คนใช้กัญชา เข้าห้องฉุกเฉินพุ่ง ทั้งวูบ-ปวดหัว หมอเตือนอย่าใช้ “น้ำมันใต้ดิน” เสี่ยงทำเด็กโง่

วันที่ 22 พ.ค. นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวถึงการปิดรับแจ้งครอบครองกัญชาเพื่อไม่ต้องรับโทษตามกฎหมาย ซึ่งเปิดบริการวันที่ 21 พ.ค.ที่ผ่านมาเป็นวันสุดท้าย ว่า ขณะนี้ยังไม่ได้สรุปข้อมูลตัวเลขที่ชัดเจน แต่คาดว่าจะมีผู้มายื่นรวมทั้งหมด 20,000 กว่าคน ซึ่งการครอบครองจะครอบครองต่อไปได้อีก 3 เดือน หรือ 90 วัน นับจากวันที่ 21 พ.ค. 2562 ก็จะพอดีกับการที่จะมีกัญชาในระบบขององค์การเภสัชกรรม (อภ.) คือ ปลาย ก.ค.-ส.ค.

นพ.สุรโชค กล่าวว่า จากการสังเกตผู้ที่มาขอยื่นนิรโทษกัญชา ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยรุ่น ซึ่งทาง อย.มีระเบียบหลักเกณฑ์ที่แน่ชัดว่า ผู้มายื่นขอนิรโทษต้องไม่ใช่เยาวชน หรือ ถ้าเป็นเยาวชนที่ป่วยต้องได้รับคำยินยอมจากผู้ปกครอง ขณะเดียวกันการใช้กัญชาเพื่อรักษาโรค ในกฎหมายเขียนชัดว่า ต้องไม่ใช่ในเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี เพราะจะมีปัญหาทางสมอง และในใบสั่งจ่ายกัญชาทางการแพทย์ กำหนดให้ใช้กัญชาในผู้ป่วยที่มีอายุ 25 ปี เท่ากับประเทศออสเตรเลีย ยกเว้นโรคลมชักในเด็กที่กัญชาในประสิทธิผลดีในการรักษาเท่านั้น

นพ.สุรโชค กล่าวว่า จากการยื่นนิรโทษกัญชา ทำให้ขณะนี้ได้รับรายงานจากหลายโรงพยาบาล ว่าพบผู้ป่วยที่มีอาการปวดศีรษะ วูบ สลบ คลื่นไส้อาเจียน หัวใจเต้นเร็ว มารับการรักษาในห้องฉุกเฉินมากขึ้น ซึ่งเมื่อสอบถามพบว่า เกิดการจากทดลองใช้กัญชา และคาดว่าหากเป็นเช่นนี้ต่อไป จะพบผู้ป่วยในลักษณะอาการเช่นนี้มากขึ้น จึงเตรียมประสานให้มีการเก็บข้อมูลผู้ป่วยในห้องฉุกเฉิน

ขณะเดียวกันประสานกรมการแพทย์ ให้มีการอบรมแพทย์ เภสัชกร ให้รู้ผลข้างเคียงหรือฤทธิ์จากการใช้กัญชา ซึ่งเชื่อว่าแต่ก่อนไม่พบผู้ป่วยมากขนาดนี้ เพราะเดิมกัญชายังไม่อนุญาตใช้ทางการแพทย์ และอยากให้เข้าใจว่า กัญชาไม่ใช่ยาวิเศษรักษาได้ทุกโรค

โดยเฉพาะโรคเรื้อรัง เบาหวาน ความดันโลหิต หรือหัวใจ รวมถึงอาการทางจิตเวช แต่อาจได้รับผลข้างเคียงจากกัญชา เพราะการใช้กัญชา ยังไม่มีการกำหนดขนาดที่เหมาะสม และสายพันธุ์ของกัญชาก็ให้สารและฤทธิ์ที่แตกต่างกัน บางตัวมีสารทีเอชซีสูง ทำให้เกิดอาการหลอนได้

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

นพ.เพชร อลิสานันท์ แพทย์รังสีรักษาและมะเร็งวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า ปัจจุบันยังไม่มียาจากน้ำมันกัญชาที่มีผลต่อการรักษาโรคมะเร็งโดยตรง แต่พบผู้ป่วยมะเร็งหาน้ำมันกัญชามาใช้เองทำให้ได้รับผลข้างเคียง เช่น เมา คลื่นไส้ นอนเยอะ การใช้น้ำมันกัญชาในผู้ป่วยมะเร็ง ต้องให้แพทย์เป็นผู้พิจารณา

โดยกลุ่มแรกคนไข้ที่ไม่มีแนวทางการรักษาแล้ว สามารถใช้ได้ ไม่น่าเป็นห่วง เพราะอาจจะมีประโยชน์ อาจจะช่วยให้คนไข้ พักผ่อนได้ นอนหลับ บรรเทาปวด แต่ต้องดูปริมาณด้วย หากมากเกินไปก็มีผลกระทบ

กลุ่มที่สอง คือ ยังมีแนวทางการรักษา แต่กลับทิ้งการรักษาเพื่อไปใช้น้ำมันกัญชาอย่างเดียว ถือว่าน่าเป็นห่วงมาก ซึ่งพบว่ามีจำนวนหนึ่ง เนื่องจากว่าผู้ป่วยเข้าใจผิดว่า กัญชาใช้รักษามะเร็งได้ ยิ่งคนที่สนับสนุนกัญชาบอกว่าให้ใช้ควบคู่กัน ก็ยิ่งทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่า ตกลงแล้วการรักษาได้ผลเพราะอะไร

ทั้งนี้ ยืนยันว่าไม่ได้ขวางการใช้กัญชา เพราะกัญชาเป็นพืชที่มีโอกาสเอามาใช้ทางการแพทย์ได้ แต่ต้องมองว่าคือยาตัวหนึ่ง และต้องผลักดันให้ผ่านตามขั้นตอนปกติที่เป็นไปตามกระบวนการวิทยาศาสตร์ และกฎหมาย บางคนบอกว่ารอไม่ได้ คิดว่าไม่จริง เพราะถ้าเร็วไปแล้วไม่ได้ผล หรือมีผลกระทบใครรับผิดชอบ

อยากให้สังคมคิดให้ช้าลงนิดหนึ่ง ที่กังวลทุกครั้งคือมีแพทย์ออกมาให้ข้อมูลอีกด้านหนึ่งมักถูกโจมตีว่ารับเงินจากบริษัทยา ซึ่งยืนยันว่าไม่จริง แต่ที่แพทย์หลายคนออกมาพูดเพราะเป็นห่วงคนไข้

ด้าน พญ.อาภาศรี ลุสวัสดิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กุมารประสาทวิทยา สถาบันประสาทวิทยา กล่าวว่า การใช้น้ำมันกัญชาสูตรซีบีดีสูง หรือซีบีดีออยล์ ในการรักษาโรคลมชักในเด็ก มีผลข้างเคียงต่อจิตประสาทน้อยมาก ไม่มีอะไรน่ากังวล แต่ถ้ามีสารทีเอชซีปน เด็กซึ่งสมองกำลังพัฒนา อาจมีปัญหาเรื่องความจำ พัฒนาการ และสติปัญญาที่แย่ลง

จึงไม่ควรใช้น้ำมันกัญชาจากกลุ่มใต้ดินที่ไม่แน่ใจเรื่องของความสะอาด ความปลอดภัย หรือมีสารอะไรอยู่ในนั้นบ้าง ซึ่งบางคนมีการนำเอาสารสกัดกัญชามาผสมลงในอาหารให้ลูกกิน ตรงนี้ถือว่าอันตราย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน