เตือนใจ ชมครม.ร่างคำมั่น แก้ปัญหาคนไร้สัญชาติ แนะเร่งหาทางออกผู้เฒ่าไม่มีบัตรปชช.

วันที่ 2 ต.ค. นางเตือนใจ ดีเทศน์ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และกรรมการผู้ก่อตั้งมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 1 ต.ค. คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับร่างคำมั่นที่ไทยจะประกาศในการประชุมระดับสูงว่าด้วยความไร้รัฐ ที่เสนอโดยกระทรวงการต่างประเทศโดยมีสาระสำคัญเป็นการแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองเพื่อพัฒนากระบวนการแก้ไขปัญหาคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นบนพื้นฐานของกฎหมายและระเบียบที่มีอยู่ และให้ครอบคลุมกลุ่มที่ตกหล่นจากการแก้ไขปัญหาในอดีต

ทั้งนี้มติครม.ในร่างคำมั่นประกอบด้วย 7 ประเด็น ได้แก่ 1. การส่งเสริมการเข้าถึงการศึกษาของเด็กไร้รัฐไร้สัญชาติ (to promote access to education for stateless children) 2.การยกระดับการให้การคุ้มครองทางสังคมแก่คนไร้รัฐไร้สัญชาติ (to enhance social protection for stateless persons)

3.การปรับปรุงกฎระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการพิจารณาสัญชาติและสิทธิความเป็นพลเมือง เพื่อให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายที่ยังไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการพิจารณาสถานะให้สามารถเข้าถึงอย่างเท่าเทียมและเสมอภาค (to adjust regulations for granting nationality and civil rights to cover target groups to access naturalization process equally and equitably)

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่เพิ่มเพื่อน

4.การพัฒนาประสิทธิภาพของระบบที่จะอำนวยความสะดวกให้คนไร้รัฐไร้สัญชาติเข้าถึงบริการของสำนักทะเบียนได้สะดวกยิ่งขึ้น (to enhance effectiveness of the systems to facilitate stateless persons to access civil registration services) 5.การเร่งรัดการขจัดภาวะความไร้รัฐในกลุ่มผู้สูงอายุไร้รัฐไร้สัญชาติ (to expedite process to address stateless among the elderly)

6.การพัฒนาความร่วมมือระหว่างทุกภาคส่วนเพื่อส่งเสริมความตระหนักรู้เกี่ยวกับบทบาท หน้าที่ สิทธิ และการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการจดทะเบียนเกิดและทะเบียนราษฎรของคนไร้รัฐไร้สัญชาติ โดยเฉพาะประชากรในพื้นที่เข้าถึงยาก (to enhance partnership among all sectors of the society to raise awareness on the roles, duties, rights, and process regarding birth and civil registration of stateless persons, especially the hard – to- reach population)

7.พัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศและระดับภูมิภาคในการร่วมกันแก้ไขปัญหาคนไร้รัฐไร้สัญชาติ (to promote international and regional cooperation in addressing statelessness)

นางเตือนใจ กล่าวว่า ขอชื่นชมและยินดีที่ ครม.มีมติเกี่ยวกับคนไร้รัฐไร้สัญชาติชุดนี้ออกมา เนื่องจากเป็นปัญหาที่มีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นการเร่งรัดการแก้ปัญหาผู้สูงอายุไร้รัฐไร้สัญชาติ โดยทั้งหมดนี้จะต้องมีการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐ ภาคประชาสังคม นักวิชาการ และผู้ที่ควรจะได้รับการคุ้มครองสิทธิ

กรรมการผู้ก่อตั้งมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) กล่าวว่า ในประเด็นผู้สูงอายุไร้รัฐไร้สัญชาตินั้น ในปี2564 ประเทศไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ซึ่งมีจะผู้สูงอายุ 20% ของจำนวนประชากร แต่อุปสรรคสำคัญคือ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ผู้สูงอายุแห่งชาติ นิยามผู้สูงอายุว่า เป็นผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และมีสัญชาติไทย จึงเป็นการเลือกปฏิบัติกับผู้สูงอายุที่ไม่มีสัญชาติไทย ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยมานานกว่า 30-40 ปี จนกลมกลืนกับสังคมไทยและมีลูกหลานเป็นคนสัญสัญชาติไทยแล้ว

หรือกรณีของกลุ่มชาวเขาดั้งเดิมที่ตกหล่นจากการสำรวจ เช่น แม่เฒ่าชาวไทยเชื้อสายอาข่า บ้านกิ่วสะไต อ.แม่จัน จ.เชียงราย ที่เพิ่งได้รับการลงรายการสัญชาติไทย ได้ถ่ายบัตรประชาชนเมื่อต้นปี 2562 โดยบางคนมีอายุถึง 98 ปีแล้ว ซึ่งผู้สูงอายุไร้รัฐไร้สัญชาติเหล่านี้ ไม่ได้รับสิทธิในสวัสดิการสังคม

อดีตกสม. กล่าวว่า ควรมีการกำหนดแผนงานเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหากลุ่มผู้สูงอายุไร้รัฐไร้สัญชาติ ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางที่สุดเนื่องจากพวกเขาไม่สามารถช่วยตนเองได้ ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลทางกฎหมาย โดย

ก่อนหน้านี้มูลนิธิ พชภ. โดยการสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างสร้างเสริมสุขภาพ ได้ริเริ่มงานด้านนี้มาตั้งแต่ พ.ศ. 2555 ซึ่งเสนอให้รัฐบาลมีนโยบายสำรวจจำนวนผู้สูงอายุไร้รัฐไร้สัญชาติทั่วประเทศ และสภาพปัญหา เพื่อแก้ไขปัญหาที่ผู้สูงอายุประสบอยู่ เพื่อที่จะได้แก้ได้ตรงสาเหตุในทันที

หนึ่งในกรณีที่รู้สึกสะเทือนใจมาก คือ แม่เฒ่าอาพีหมี่หน่อง ชาวอาข่า บ้านป่าคาสุขใจ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ซึ่งได้มาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยมากว่า 40 ปี แต่ตกหล่นจากการสำรวจ ต่อมา มูลนิธิ พชภ. ได้ประสานงานกับอำเภอแม่ฟ้าหลวง จัดทำบัตรผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน ซึ่งคนกลุ่มนี้ ยังไม่มีนโยบายของรัฐไทยให้พัฒนาสถานะทางกฎหมาย แม่เฒ่าอาพีหมี่หน่องได้เสียชีวิตในวัย 98 ปี เมื่อกลางปีนี้ โดยไม่ได้รับการแก้ปัญหาการไร้สัญชาติ เป็นเรื่องที่น่าเศร้ามาก ซึ่งเชื่อว่ามีผู้สูงอายุไร้รัฐไร้สัญชาติ ที่รอให้มีการแก้ปัญหาอีกจำนวนมาก”นางเตือนใจ กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน