กะเหรี่ยงเหนือ ส่งข้าว 7 ตัน ช่วยพี่น้องบางกลอย เผย 158 ครอบครัวเดือดร้อนหนัก

วันที่ 29 เม.ย. นายสุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ ศิลปินชาวปกาเกอะญอ และนักวิชาการศูนย์การจัดการภูมิวัฒนธรรม วิทยาลัยโพธิวิชชาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เปิดเผยว่า ในวันที่ 30 เม.ย. ชาวกะเหรี่ยงภาคเหนือจะร่วมกันทำพิธีเรียกขวัญข้าวและส่งมอบข้าวเปลือก 6 ตัน และข้าวสาร 1 ตันเพื่อนำไปให้พี่น้องกะเหรี่ยงบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เนื่องจากทราบว่า ขณะนี้ชาวบ้านกำลังจะขาดแคลนข้าว

นายสุวิชาน กล่าวว่า ปัจจุบันชาวบ้านบางกลอยมีอยู่ราว 158 ครอบครัว (746 คน) โดยภายหลังจากที่ชาวบ้านถูกอพยพลงมาจากป่าใหญ่ใจแผ่นดินที่หมู่บ้านบางกลอยบน ส่วนใหญ่รายได้ที่นำมาจุนเจือครอบครัวมาจากการที่คนในวัยกำลังแรงงานลงไปรับจ้างในเมือง ซึ่งพอที่จะมีรายได้ทำให้ชาวบ้านมีเงินซื้อข้าวกิน

เพราะตั้งแต่ถูกย้ายมาอยู่ชาวบ้านเกือบทั้งหมดไม่มีพื้นที่ปลูกข้าว อย่างไรก็ตามทราบว่าขณะนี้หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน คนปัจจุบันกำลังร่วมหาทางแก้ไข โดยหาพื้นที่ให้ชาวบ้านได้ทำกิน แต่ยังไม่มีความชัดเจนว่าที่ใดบ้าง

นายสุวิชาน กล่าวว่า ก่อนหน้านี้คนกะเหรี่ยงภาคเหนือได้ร่วมกันรวบรวมข้าวเพื่อนำไปแลกปลากับชาวเลที่ชุมชนราไวย์ จ.ภูเก็ต หลายคนอาจจะมีคำถามว่า ทำไมต้องมีการนำข้าวไปบริจาคให้กับพี่น้องกะเหรี่ยงบางกลอย

“สถานการณ์ของชาวบ้านบางกลอย หลังจากที่ถูกอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานอพยพลงมาจากต้นน้ำเพชร ตั้งแต่ปี 2539 และปี 2554 ทางการได้เตรียมพื้นที่สำหรับที่อยู่อาศัย แต่ไม่มีพื้นที่ทำกิน ไม่มีพื้นที่เพาะปลูก ทำให้ชาวกะเหรี่ยงบางกลอย ไม่สามารถพึ่งตัวด้านความมั่นคงทางอาหารได้

ที่ผ่านมาชุมชนกะเหรี่ยงทางภาคเหนือได้เคยนำข้าวไปให้พี่น้องบางกลอย เพื่อหวังให้นำเมล็ดพันธุ์ไปเพาะปลูกขยายต่อ แต่เหตุการณ์ไม่เป็นดั่งที่คิด เพราะไม่มีที่ดินรองรับเมล็ดพันธุ์เหล่านั้น คนบางกลอย จำต้องปรับเปลี่ยนวิถี โดยให้ลูกหลานคนหนุ่มสาวออกไปรับจ้างในเมือง ซื้อข้าวสาร และความจำเป็นในชีวิตอื่น ๆ กลับมาจุนเจือครอบครัว” นายสุวิชาน กล่าว

นายสุวิชาน กล่าวว่า แต่เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แรงงานถูกเลิกจ้าง พวกเขาจึงต้องกลับคืนสู่หมู่บ้านบางกลอย พร้อมกับเงินเก็บอันน้อยนิด เมื่อสถานการณ์โควิดมีแนวโน้มจะยืดเยื้อ ความกังวลจึงเกิดขึ้น ความขาดแคลนจึงมาเยือน บ่อยครั้งที่ภาพของชุมชนถูกมองว่าเป็นคนขี้เกียจ งอมืองอเท้าไม่ยอมทำงาน รอรับแต่ของบริจาค แต่หากย้อนมองดูสถานการณ์พี่น้องกะเหรี่ยงทางเหนือ จะพบว่า ศักยภาพที่โดดเด่นคือ การเพาะปลูก การเกษตร เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร แต่ชุมชนบางกลอย ไม่สามารถใช้ศักยภาพของตัวเองได้

ด้าน นายสรศักดิ์ เสนาะพรไพร หนึ่งในผู้ประสานงานกล่าวว่า การช่วยเหลือพี่น้องครั้งนี้ เป็นเพียงการช่วยเหลือในระยะสั้น แต่ในระยะยาวเราหวังว่าหน่วยงาน องค์กรที่เกี่ยวข้อง จะทบทวนแนวทาง การส่งเสริมและพัฒนาให้พี่น้องชาวโป่งลึก-บางกลอย มีศักยภาพในการพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน ในฐานนิเวศวัฒนธรรมของตนเอง

“ในขณะที่เราทำโครงการข้าวแลกปลา ระหว่างชาวดอยและชาวเล มีชุมชนพี่น้องปกาเกอะญอจำนวนมาก ไม่มีข้าวพอที่จะแลกกับปลา เพราะพื้นที่ที่ชุมชนอาศัยอยู่ไม่สามารถทำไร่หมุนเวียนได้ บางชุมชนยังไม่ได้รับอนุญาตให้เผาไร่ในขณะที่ฝนมาแล้ว ไร่จะกลายเป็นไร่พิการ ที่มีการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ หญ้าจะรก ข้าวไม่งาม

ยิ่งทำให้เราเป็นห่วงว่าปีหน้าชุมชนเหล่านี้จะมีข้าวพอกินหรือไม่ ดังนั้นการเข้าถึงสิทธิในการใช้ที่ดินสำหรับการปลูกข้าวเป็นเงื่อนไขที่จะทำให้ชุมชนมีศักยภาพในการผลิตเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารในชุมชนทั้งในสถานการณ์วิกฤติและในสถานการณ์ปกติ เช่น พี่น้องชาวกะเหรี่ยงบางกลอย ที่เราจะต้องหาทางช่วยเหลือเร่งด่วนอันเกิดจากนโยบายที่ลิดรอนสิทธิในการเข้าถึงทรัพยากรของชุมชนตามดินแดนบรรพบุรุษ” นายสรศักดิ์ กล่าว

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน