ศาลสั่งจำคุก 42 นักเที่ยวย่านสุขุมวิท คนละ 1 เดือน ปรับ 5,000 บาท อัยการฟ้องเพิ่ม 2 ต่างชาติ ผิดพ.ร.ก.ฉุกเฉิน-พ.ร.บ.คนเข้าเมือง คุก 3 เดือน และ 9 เดือน

เกาะติดข่าว กดติดตาม ข่าวสด
เพิ่มเพื่อน

เมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2564 ที่ศาลแขวงพระนครใต้ พนักงานอัยการสำนักงานอัยการคดีศาลแขวง 4 (ยานนาวา) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องด้วยวาจา คดีหมายเลขดำที่ 83/2564 น.ส.ศศิมา บัวจันทร์กับพวก รวม 42 คน ในฐานความผิดฝ่าฝืนข้อกำหนดตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ โดยคำร้องระบุพฤติการณ์สรุปว่าเมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2564 เวลากลางคืนหลังเที่ยงถึงวันที่ 16 ม.ค. 2564 เวลากลางคืนก่อนเที่ยงต่อเนื่องกัน ซึ่งอยู่ในวันและเวลาตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรและประกาศดังกล่าวยังมีผลใช้บังคับอยู่

จำเลยทั้ง 42 นี้กับพวก ซึ่งยังไม่ได้ตัวมาฟ้องได้บังอาจร่วมกันเข้าไปในภายในร้านอาหารชื่อร้าน TAJ CAFÉ ซอยสุขุมวิท 23 แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีการเปิดเพลงดนตรีประกอบการเต้นรำ โต๊ะรับประทานอาหารมีการจัดตั้งโดยไม่มีระยะห่าง เพื่อป้องกันการแพร่ของโรคติดต่อ มีการให้ลูกค้าสูบและดูดบารากู่

โดยภายในร้านค้าดังกล่าวมีจำนวนลูกค้าทั้งคนไทยและคนต่างด้าวอยู่ร่วมกันภายในเป็นจำนวนมาก โดยไม่มีการควบคุมให้มีการสวมหน้ากากอนามัยและไม่มีการป้องกันใดๆ ตามมาตรการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 19 อันเป็นการเข้าไปชุมนุมทำกิจกรรมหรือมีการมั่วสุมกันในสถานที่แออัดและเข้าไปในพื้นที่สถานที่ที่มีความเสี่ยงต่อการติดโรค ตามที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้ประกาศ เพื่อป้องกันและควบคุมมิให้เกิดการแพร่ของโรค

ทั้งนี้ ภายในเขตพื้นที่ที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงประกาศกำหนดเหตุตามฟ้องเกิดที่แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร พนักงานตำรวจจับกุมจำเลยทั้ง 42 คน และได้นำส่งพนักงานสอบสวนทำการสอบสวนแล้ว ชั้นสอบสวนจำเลยทั้ง 42 ให้การรับสารภาพ

อนึ่ง การกระทำของจำเลยทั้ง 42 คน ดังกล่าว เป็นการกระทำโดยรู้สำนึกในการกระทำ แต่ขาดความรับผิดชอบต่อส่วนรวมในการป้องกันและควบคุมมิให้โรคระบาดแพร่ระบาดออกไปในวงกว้าง จึงขอให้ศาลลงโทษจำเลยในอัตราอันสูงสุดเพื่อให้เข็ดหลาบ ตาม พ.ร.ก.บริการราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน 2548 มาตรา 4,5,7,9,18,19 และประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรลงวันที่ 25 มี.ค.63 และประกาศเรื่องการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 1-9)และประกาศเรื่องการให้ข้อกำหนดประกาศและคำสั่งที่นายกรัฐมนตรีกำหนดตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินยังคงมีผลใช้บังคับ 28 เม.ย.63 และข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2558 (ฉบับที่15) ข้อ 1และข้อ 3

ต่อมาศาลพิพากษาว่า จำเลยทั้ง 42 มีความผิดตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 มาตรา 9, 18 จำคุกคนละ 2 เดือน และปรับคนละ 1 หมื่นบาท จำเลยทั้ง 42 ให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุกคนละ 1 เดือน และปรับคนละ 5,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้ง 42 เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงเย็นพนักงานอัยการสำนักอัยการายคดีศาลแขวง 4 ยังได้ยื่นฟ้องนายคริสเตียน อากาบูเช่โอเคซูคู เเละนายออยเยบิซี อีเซดินูวู 2 ชาวต่างชาติ ในความผิดตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง เเละพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ การกระทำของจำเลยทั้ง 2 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91

จำเลยที่ 1 ฐานเป็นคนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยการอนุญาตสิ้นสุดจำคุก 4 เดือนและปรับ 1 หมื่นบาท ส่วนจำเลยที่ 2 ลงโทษฐานเข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตจำคุก 4 เดือนและปรับ 6 พันบาท และฐานเป็นคนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตจำคุก 1 ปีและปรับ 1.6 หมื่นบาท ฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน จำคุกคนละ 2 เดือนปรับคนละ 1 หมื่นบาท

รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 6 เดือน และปรับ 2 หมื่นบาท และจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปี 6 เดือน และปรับ 3.2 หมื่นบาท จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 3 เดือน และปรับ 1 หมื่นบาท และจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 9 เดือนและปรับ 1.6 หมื่นบาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกให้รอไว้มีกำหนด 2 ปีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน