195 นักวิชาการ แถลงการณ์ ปม ‘กะเหรี่ยงบางกลอย’ ขอกลับ ‘ใจแผ่นดิน’ จี้รัฐหยุดละเมิดสิทธิมนุษยชน-ละเมิดกฎหมาย เร่งถกหาทางออกอย่างสันติ

เกาะติดข่าว กดติดตามไลน์ ข่าวสด
เพิ่มเพื่อน

วันที่ 17 ก.พ.64 เครือข่ายนักวิชาการ ออกแถลงการณ์ ต่อกรณีชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอยคืนถิ่นใจแผ่นดิน ความว่า จากกรณีการตัดสินใจกลับไปยังบริเวณหมู่บ้านใจแผ่นดินของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงแห่งผืนป่าแก่งกระจาน ดังที่ปรากฏเป็นข่าวตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมานั้น กำลังอยู่ในความสนใจของสังคม อาทิ กระแสชวนติดตามเรื่องดังกล่าวในโซเชียลมีเดียผ่าน #saveบางกลอย และเกิดความเคลื่อนไหวของกลุ่มประชาชนที่ห่วงใยต่อสถานการณ์ดังกล่าวและพยายามนำเสนอข้อมูลสร้างความเข้าใจต่อสาธารณะอย่างต่อเนื่อง

รวมถึงมีการระดมข้อเสนอต่อแนวทางการแก้ไขปัญหาจากหลายภาคส่วน แต่ยังคงมีข้อกังวลเกี่ยวกับความไม่ชัดเจนในแนวทางแก้ไขปัญหาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและยังปรากฏข่าวปฏิบัติการของหน่วยงานรัฐที่มีแนวโน้มสุ่มเสี่ยงที่อาจนำไปสู่เงื่อนไขความขัดแย้งเพิ่มเติมและไม่นำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างที่ควรจะเป็น

กรณีปัญหาที่เกิดขึ้นกับชุมชนกะเหรี่ยงใจแผ่นดิน คือหนึ่งในภาพสะท้อนปัญหาใหญ่ของประเทศที่ฝังรากลึก กลายเป็นปัญหาที่กดทับสร้างผลกระทบให้กับสังคมไทยมายาวนาน โดยเฉพาะกับกลุ่มประชาชนที่อาศัยอยู่กับฐานทรัพยากรธรรมชาติ ที่จำนวนมากคือกลุ่มชนชาติพันธุ์อันหลากหลายที่เคลื่อนย้ายและอยู่อาศัยเป็นชุมชนเก่าแก่หรือชุมชนดั้งเดิม

เช่นเดียวกับ กรณีชุมชนกะเหรี่ยงใจแผ่นดินแห่งผืนป่าแก่งกระจานที่มีความเกี่ยวข้องกับข้อมูลในหลายมิติ ทั้งในเชิงประวัติศาสตร์ของพื้นที่ ปัญหากฎหมายและนโยบายการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของรัฐ การจัดการพื้นที่ความมั่นคงชายแดน ปฏิบัติการของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชนท้องถิ่น อคติทางชาติพันธุ์หรือแม้กระทั่งขบวนการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบหรือกลุ่มประชาชนที่เรียกร้องการแก้ไขปัญหา ซึ่งไม่สามารถมองเพียงมิติใดหนึ่งหรือเลือกที่จะมองอย่างตัดตอนได้ โดยเฉพาะบริบททางประวัติศาสตร์ กรณีนี้จึงเป็นมากกว่าแค่เรื่องเฉพาะของชุมชนกะเหรี่ยงแห่งป่าแก่งกระจาน แต่คือประเด็นที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับสิทธิมนุษยชน อำนาจรัฐและความเป็นธรรมในสังคมไทยที่ต้องร่วมกันติดตาม

ข้อเท็จจริงสำคัญหลายประการที่ต้องสร้างความเข้าใจร่วมกันเพื่อนำไปสู่กระบวนการแก้ไขปัญหาอย่างเหมาะสม ได้แก่

1) ชุมชนกะเหรี่ยงใจแผ่นดินคือชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมที่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าอยู่อาศัยในพื้นที่อย่างน้อยตั้งแต่ พ.ศ.2455 ตามข้อมูลของกรมแผนที่ทหารและถูกแนวเขตป่าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานประกาศทับพื้นที่ชุมชนเมื่อ พ.ศ.2524

2) พ.ศ.2539 อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าอพยพชาวบ้านกว่า 57 ครอบครัว มาอยู่ที่หมู่บ้านจัดตั้งใหม่หรือบริเวณบ้านโป่งลึกและบ้านบางกลอย ในพื้นที่ตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี แต่เมื่อไม่สามารถเพาะปลูกข้าวและพืชอาหารตามระบบไร่หมุนเวียนเช่นเดิมได้ บางส่วนจึงจำเป็นต้องย้ายกลับขึ้นไปยังบ้านใจแผ่นดิน รวมถึงครอบครัวของ “ปู่คออี้” ผู้อาวุโสที่เป็นผู้นำจิตวิญญาณของชุมชน ที่ตัดสินใจกลับคืนสู่ถิ่นเดิมที่บ้านใจแผ่นดิน

3) พ.ศ.2553-2554 หน่วยงานรัฐภายใต้ “ยุทธการตะนาวศรี” ได้เข้าปฏิบัติการจนเกิดภาพความรุนแรงปรากฎสู่สาธารณะจนเป็นประเด็นถกเถียงอย่างเข้มข้นในสังคม โดยเฉพาะภาพของการเผาทำลายบ้านและยุ้งฉางข้าว การจับกุมดำเนินคดี

4) พ.ศ.2557 เหตุการณ์การหายตัวไปของ นายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ ซึ่งเป็นหลานชายของปู่คออี้ ที่ต่อมาพบหลักฐานชิ้นส่วนกระดูกในถังน้ำมันที่ถูกถ่วงทิ้งอยู่ในแม่น้ำในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานมีผลการตรวจสอบ DNA เบื้องต้นนั้นตรงกับมารดาของบิลลี่ ซึ่งยังอยู่ในกระบวนการในทางคดี

5) พ.ศ.2559 ศาลปกครองสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดี คือกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ปู่โคอิหรือคออี้ มีมิและชาวบ้านรวม 6 คน กรณีพนักงานเจ้าหน้าที่ของกรมอุทยานแห่งชาติเข้าดำเนินการรื้อถอนเผาททำลายทรัพย์สินและสิ่งปลูกสร้างที่ใช้อยู่อาศัย

6) การชดเชยเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบหรือแนวทางจัดสรรที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัยใหม่ไม่สามารถตอบสนองต่อการดำรงชีวิตได้อย่างเหมาะสม ข้อมูลที่ถูกสื่อสารจากกลุ่มชาวบ้านที่ตัดสินใจเดินทางกลับไปยังที่ตั้งชุมชนเดิมบริเวณบ้านใจแผ่นดิน สะท้อนว่าการดำรงชีวิตภายหลังถูกบังคับให้อพยพลงในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ยังมีกลุ่มที่ไม่ได้รับการจัดสรรที่ดินอย่างเหมาะสม ไม่สามารถทำการเกษตรในระบบไร่หมุนเวียนเช่นเดิมได้ ต้องทนฝืนเลี้ยงชีพด้วยความลำบาก ต้องพึ่งพาการหารายได้จากงานรับจ้างซึ่งไม่เพียงพอต่อการยังชีพ

โครงการพัฒนาอื่นจากหน่วยงานภาครัฐไม่สามารถสร้างความมั่นคงในคุณภาพชีวิตที่ดีได้เมื่อเปรียบเทียบกับการอยู่อาศัยในพื้นที่ชุมชนเดิมในใจแผ่นดิน ประกอบกับวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ที่ส่งผลให้ชาวบ้านที่ต้องพึ่งพาการออกไปรับจ้างหารายได้นอกชุมชนไม่สามารถทำได้

7) วิถีจารีตและความเชื่อของคนกะเหรี่ยง กรณีการเสียชีวิตของผู้อาวุโสที่เป็นดั่งผู้นำทางจิตวิญญาณของชุมชนอย่างปู่คออี้ มีความจำเป็นที่จะต้องทำพิธีกรรมส่งดวงวิญญาณด้วยข้าวจากถิ่นใจแผ่นดินที่ต้องปลูกโดยลูกหลานเพื่อส่งดวงวิญญาณไปสู่สุคติ

จากข้อเท็จจริงดังกล่าว จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกภาคส่วนในสังคมต้องสร้างความเข้าใจและความตระหนักร่วมกันในการปกป้องเพื่อนมนุษย์และรักษาหลักการในการอยู่ร่วมกันภายใต้ความเป็นนิติรัฐที่เป็นธรรมและหลักการสิทธิมนุษยชนที่เป็นสากล โดยในระยะเร่งด่วน

หน่วยงานภาครัฐต้องยุติปฏิบัติการหรือการดำเนินการใดๆ ที่จะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ละเมิดกฎหมาย หยุดขยายช่องว่างความไม่เป็นธรรมระหว่างรัฐกับประชาชนหรือระหว่างประชาชนด้วยกันเองและหลีกเลี่ยงการแสดงท่าทีที่อาจกลายเป็นเงื่อนไขความขัดแย้งซ้ำเติมปัญหา ควรเร่งใช้กลไกการทำงานร่วมจากหลายภาคส่วนที่มีอยู่ให้เกิดแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างสันติอารยะ

“ไม่ว่าจะเป็นชนชาติพันธุ์ใดในสังคมไทย ย่อมต้องถูกคุ้มครองปกป้องไว้ซึ่งศักดิ์ศรีความเป็นคน ดำรงไว้ซึ่งมนุษยธรรมและสิทธิในการอยู่อาศัย ดำรงวิถีชีวิตได้อย่างเสมอภาค”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน