หมอเวชศาสตร์เขตร้อน ชี้พยาธิไชเข้าร่างกาย อย่าซื้อยาถ่ายกินเอง หวั่นไม่ตรงชนิด ให้พบแพทย์รักษา ย้ำหน้าฝนยิ่งต้องระวัง แนะรับประทานอาหารปรุงสุก

เมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2564 รศ.นพ.ดร วัฒนกุลพานิชย์ รองหัวหน้าภาควิชาปรสิตหนอนพยาธิ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงกรณีเพจอีซ้อขยี้ข่าวแชร์ภาพพยาธิชอนไชใต้ผิวหนังบริเวณมือของเด็ก ว่า พยาธิที่ชอนไชผิวได้มีหลายตัว อย่างพยาธิปากขอ ซึ่งพบได้บ่อยในไทยโดยเฉพาะภาคใต้ เนื่องจากลักษณะพื้นที่เหมาะสมในการเติบโต คือ ชุ่มชื้น ร้อนชื้น ไม่แห้งเกินไป เพราะวงจรชีวิตพยาธิกลุ่มนี้ต้องอาศัยเจริญเติบโตในดิน ก่อนพัฒนาเป็นพยาธิระยะติดต่อ และสามารถไชเข้าผิวหนังสิ่งมีชีวิตรวมถึงคน โดยเฉพาะเด็กเล็กที่เล่นตามพื้นดิน ไม่ได้ระวังตัวเท่าไร โดยไชเข้าไปตามง่ามนิ้วเท้าหรืออวัยวะที่สัมผัสกับดิน

ทั้งนี้ พยาธิปากขอที่มีอยู่ในคน มี 2 ชนิด คือ 1.เมื่อไชเข้าตามผิวหนังแล้ว อาจจะไม่เห็นรอยพยาธิ เพราะเข้าไปในเส้นเลือด แล้วไปเติบโตเป็นตัวแก่ที่ลำไส้ เมื่อเข้าร่างกายจำนวนมากทำให้เกิดอันตรายได้ โดยจะแย่งอาหารคนและกินเลือด ทำให้เกิดโลหิตจาง เด็กเล็กร่างกายไม่เจริญเติบโตตามวัยอันสมควร เรียนรู้ช้า และแคระแกร็น เป็นต้น สามารถวางไข่ได้ แต่ไม่สามารถฟักเป็นตัว เพราะต้องอาศัยพื้นดินเจริญเติบโตเป็นตัวอ่อน แล้วไชออกมาข้างนอก รอคอยเวลาไชเข้าร่างกายสิ่งมีชีวิตวนเวียนเป็นตัวแก่ในร่างกาย จึงไม่แพร่พันธุ์ในร่างกาย

และ 2.พยาธิปากขอที่อยู่ในสัตว์ จะไชเข้าตามผิวหนังของคนได้เท่านั้น ไม่สามารถเข้าสู่เส้นเลือด ทำให้เห็นรอยโรคชัดเจน ซึ่งมีหลายตัว ส่วนใหญ่เป็นพยาธิในสุนัขและแมว ซึ่งใกล้ชิดกับคนมากที่สุด บางบ้านเลี้ยงสัตว์แล้วไม่ได้พาไปถ่ายพยาธิ จึงติดเข้ามาในคนได้

“ถ้ามีพยาธิไชเข้าร่างกายอาจจะสามารถมองเห็นรอยโรค รอยการเคลื่อนที่ของพยาธิ สามารถถ่ายรูปแล้วนำมาปรึกษาแพทย์ นอกจากนี้ อาจจะมีอาการคัน ผื่นขึ้นบริเวณนั้น บางลักษณะของพยาธิอาจจะทำให้เกิดอาการบวมแล้วยุบหายไป แล้วไปบวมอีกที่หนึ่ง เรียกว่าบวมเคลื่อนที่ อย่างไรก็ตาม กรณีคันหรือผื่นอาจจะเป็นอาการของโรคลมพิษหรืออาการแพ้อย่างอื่น ไม่แนะนำให้เกา หรือทำให้เกิดแผลเพื่อหวังว่าจะเอาพยาธิออกมา จริงๆ รอยที่เห็นต่อให้เป็นรอยของพยาธิจริง แต่แนวปฏิบัติของแพทย์ไม่ได้ผ่าเอาตัวพยาธิออกจากบริเวณนั้น เพราะพยาธิอาจจะเคลื่อนที่ไปที่อื่นแล้ว แต่รอยเพิ่งเกิดก็ได้ หากมีปัญหาพยาธิให้มาพบแพทย์เพื่อรักษา” รศ.นพ.ดร กล่าว

ปัจจุบันอัตราการความชุกโรคพยาธิในประเทศไทยลดลงเพราะมีสุขาภิบาลดีขึ้น แต่ยังพบเพิ่มขึ้นบริเวณชายขอบ ชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน ที่อาจจะยังมีปัญหาเรื่องสุขาภิบาลอาหาร น้ำดื่ม และการขับถ่ายที่ไม่ดี ไม่ได้ถ่ายในส้วม ไข่พยาธิที่ปนออกมากับอุจจาระก็จะปนในสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะหน้าฝนจะถูกชะล้างไปตามพื้นที่ต่างๆ สวน ไร่ นา ปนกับผัก หรืออาหาร หากล้างไม่ดีก็อาจรับประทานไข่พยาธิเข้าไปได้ เพราะฉะนั้นในช่วงหน้าฝนขอให้ประชาชนระมัดระวัง โดยเฉพาะการเฝ้าระวังบุตรหลาน นอกจากเรื่องการจมน้ำ สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์มีพิษหนีมากับน้ำท่วมแล้ว ขอให้ระวังพยาธิด้วย

“รับประทานอาหารปรุงสุก ไม่รับประทานอาหารดิบๆ ซึ่งหน้าฝนมีหอยน้ำจืดออกมาจำนวนมากจะมีพยาธิอาศัยอยู่ หากรับประทานดิบๆ แล้วได้รับพยาธิเข้าสู่ร่างกายอาจจะทำให้มีเกิดอาการปวดหัวรุนแรง อาจจะมีอัมพฤกษ์ครึ่งซีก เรียกว่าปวดหัวหอย หรือพยาธิหอยโข่ง ซึ่งพบมากในฤดูนี้ ดังนั้นขอให้ปรุงสุก ส่วนการรับประทานยาถ่ายพยาธิเนื่องจากมียาหลายชนิดสำหรับพยาธิหลายชนิด ปริมาณการใช้ไม่เหมือนกัน ซึ่งเราไม่สามารถรู้ได้ว่าเรามีพยาธิอะไรอยู่ ยาที่กินอาจจะไม่ตรงกับพยาธิ ดังนั้น แนะนำให้ตรวจกับแพทย์ เหมือนเป็นการตรวจสุขภาพประจำปีดีกว่า” รศ.นพ.ดร กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน