ยผ. ระดมทุกภาคส่วน ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมรอบด้าน ใช้โครงสร้างทางวิศวกรรม แก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่งทะเลไทย

ชายฝั่งทะเลประเทศไทยประสบปัญหาการกัดเซาะในหลายพื้นที่ โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากกระบวนการทางธรรมชาติ และกิจกรรมของมนุษย์ ซึ่งไม่เพียงแต่สร้างปัญหาเชิงกายภาพแก่ท้องทะเลไทยแล้ว ยังส่งผลกระทบในหลากหลายมิติ ทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตของชุมชนริมฝั่งทะเล

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงได้เร่งวางมาตรการแก้ไขปัญหาทั้งรูปแบบการใช้โครงสร้างทางวิศวกรรม และไม่ใช้โครงสร้าง คู่ขนานไปกับการใช้มาตรการทางกฎหมาย และมาตรการทางสังคม เพื่อหยุดปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลมิให้ขยายวงกว้างมากขึ้น

นายพรพจน์ เพ็ญพาส อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง เปิดเผยว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาชายฝั่งทะเลทั้งระบบ โดยกำหนดนโยบายการจัดการชายฝั่งแบบบูรณาการ อย่างเป็นองค์รวม เพื่อวางรูปแบบการจัดการที่เหมาะสมกับศักยภาพและสภาพปัญหาในแต่ละพื้นที่ กระทรวงมหาดไทย

โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลในประเทศไทย ได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนการดำเนินงานในรูปแบบการใช้โครงสร้างทางวิศวกรรม ซึ่งมุ่งเน้นความสอดคล้องกับธรรมชาติ ควบคู่กับการสร้างความมั่นคงของการใช้ประโยชน์ที่ดิน

ภายใต้หลักการมิให้ส่งผลกระทบไปยังพื้นที่ข้างเคียง พร้อมยึดกรอบการดำเนินงานตามหลักเกณฑ์ประกอบการจัดทำแผนงาน/โครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งเป็นแนวทางสำคัญในการแก้ไขปัญหา แบ่งเป็น 4 แนวทาง ได้แก่ การปรับสมดุลชายฝั่งโดยธรรมชาติ การป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง การแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง และการฟื้นฟูเสถียรภาพชายฝั่ง

สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ประกอบด้วย 3 มาตรการหลัก ซึ่งกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ร่วมกับหน่วยงานและประชาชนในพื้นที่ดำเนินการคัดเลือกและกำหนดรูปแบบการแก้ไขปัญหา ที่เหมาะสมกับสภาพปัญหาและความต้องการของคนในพื้นที่ ดังนี้

มาตรการสีขาว เป็นการดำเนินงานเพื่อลดผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
จากการกัดเซาะชายฝั่ง ด้วยการกำหนดพื้นที่ถอยร่น ห้ามก่อสร้างหรือเปลี่ยนแปลงชายหาดและเนินทราย

มาตรการสีเขียว เป็นการดำเนินงานที่ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อพื้นที่ข้างเคียง เหมาะกับชายฝั่งทะเลแบบเปิด ซึ่งมีคลื่นขนาดเล็ก และชายฝั่งมีความลาดชันต่ำ ด้วยการปลูกป่า การฟื้นฟูชายหาด และการปักเสาแบบตะกอนเพื่อปลูกป่าชายเลน

มาตรการสีเทา เป็นการใช้โครงสร้างทางวิศวกรรม เหมาะกับชายฝั่งที่เป็นทะเลเปิด มีคลื่นขนาดใหญ่ และชายฝั่งมีความลาดชันสูง โดยการสร้างเขื่อนกันคลื่นนอกชายฝั่ง รอดักทราย เขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล และกำแพงป้องกันคลื่นริมชายฝั่ง

กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้กำหนด 6 ขั้นตอนการดำเนินโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหา กัดเซาะชายฝั่งทะเล ดังนี้

1. ใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเสนอโครงการผ่านสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัด หรือส่งมาที่กรมโยธาธิการและผังเมืองโดยตรง

2. คัดเลือกพื้นที่ดำเนินการ โดยลงพื้นที่สำรวจผลกระทบ ศึกษาข้อมูลพื้นฐาน และตรวจสอบกับข้อมูลของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พร้อมจัดลำดับความสำคัญในการดำเนินงานจากความรุนแรงและผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นหลัก

3. ศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (IEE) อย่างรอบด้าน ซึ่งถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการกำหนดแผนงานและมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม รวมถึงติดตามตรวจสอบเฝ้าระวังผลกระทบในระยะยาวหลังก่อสร้างแล้วเสร็จ

4.จัดประชุมรับฟังความคิดเห็น โดยกำหนดจัดอย่างน้อย จำนวน 2 ครั้ง

– ครั้งที่ 1 เป็นการนำเสนอที่มาของโครงการ ขอบเขต แนวทาง การศึกษาออกแบบ รูปแบบการแก้ไขปัญหา จุดเด่นและข้อด้อยของแต่ละทางเลือก พร้อมรับฟังความคิดเห็น เพื่อนำข้อมูลไปประกอบการออกแบบ

– ครั้งที่ 2 เป็นการชี้แจงรูปแบบและรายละเอียดโครงการ พร้อมนำเสนอผลกระทบ และรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ ผู้แทนชุมชน ทั้งกลุ่มผู้รับประโยชน์ กลุ่มผู้เสียประโยชน์ เจ้าหน้าที่หน่วยงานต่าง ๆ ในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น เจ้าหน้าที่องค์กรภาคเอกชน สถาบันการศึกษา สื่อมวลชน และประชาชนทั่วไป

5. เสนอโครงการให้คณะทำงานพิจารณากลั่นกรอง เมื่อได้รับความเห็นชอบ จึงเสนอ การสนับสนุนของบประมาณ จากนั้นจึงจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นอีกครั้งก่อนดำเนินโครงการ

6. ขออนุญาตก่อสร้างโครงการ จากคณะกรรมการสิ่งล่วงล้ำลำน้ำจังหวัด เพื่อพิจารณารับรองการปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ มิให้กระทบต่อแผนพัฒนาจังหวัด ผังเมือง และการรักษาสภาพแวดล้อม
กล่าวได้ว่า โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันและแก้ไขการปัญหากัดเซาะชายฝั่งทะเล ทั้ง 134 โครงการ ระยะทางกว่า 84.556 กิโลเมตร

ซึ่งกระทรวงมหาดไทย โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง ดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2533 ถึงปัจจุบัน ได้ผ่านกระบวนการที่เป็นระบบและดำเนินการด้วยความรอบคอบในทุกขั้นตอน ทั้งการเสนอขอโครงการจากหน่วยงานในระดับพื้นที่ การศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรอบด้าน การขออนุญาตก่อสร้างจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ภายใต้การมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในพื้นที่ ทั้งร่วมคิด ร่วมกำหนดพื้นที่ ร่วมเสนอแนวทาง และร่วมคัดเลือกรูปแบบการแก้ไขปัญหาที่เหมาะสม สอดคล้องกับศักยภาพและการใช้ประโยชน์เชิงพื้นที่ บนพื้นฐานการสร้างความสมดุลของทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลและการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ โครงการก่อสร้างเขื่อนฯ ของกรมโยธาธิการและผังเมือง นอกจากจะช่วยบรรเทา
ความเดือดร้อนของประชาชนจากปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเล ตามปณิธาน “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” แล้ว ยังเสริมสร้างทัศนียภาพของชายหาดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีความสวยงาม รวมถึงเพิ่มศักยภาพ ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์พื้นที่ชายฝั่งทะเลได้อย่างเท่าเทียม ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมในภาพรวมของประเทศ

คลิป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน