ปลัด สธ. ชี้มวนกัญชาขาย-ฝ่าฝืนเสพที่สาธารณะ จนท.ต้องเอาผิดตามกฎหมาย วาง 5 มาตรการคุมการใช้ ย้ำถ้าผสมในอาหารต้องขออนุญาต อย.

เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2565 นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการตั้งข้อสงสัยที่มีการพบการขายกัญชามวนและการสูบในสถานที่สาธารณะ แต่ไม่มีการดำเนินการเอาผิดหรือเข้าไปดูแล ว่า โดยปกติกฎหมายของ สธ.เราไม่ได้สนับสนุนเรื่องการสูบอยู่แล้ว และมีกฎหมายเพื่อป้องปรามต่างๆ ผู้ที่เกี่ยวข้อง หากพบการขายเช่นนี้ ทางฝ่ายบ้านเมืองต้องไปดำเนินการ หรือหากฝ่าฝืนผู้ที่เกี่ยวข้องก็ต้องไปดำเนินการต่อไป

เมื่อถามถึงการออกมาตรการเพื่อควบคุมการใช้กัญชา นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นการติดตามของตน ซึ่งมีมาตรการ 5 ด้านเพื่อสนับสนุนการใช้กัญชาอย่างปลอดภัย คือ 1.การส่งเสริมการใช้ทางการแพทย์และสุขภาพ โดย สธ.เป็นห่วงว่าเมื่อมีการใช้กัญชาอย่างแพร่หลายมากขึ้น ก็ต้องพยายามให้ความรู้ประชาชนเรื่องประโยชน์ เรื่องโทษ การใช้อย่างเหมาะสมให้เกิดประโยชน์ คือ สุขภาพ โดยจัดทำคู่มือการใช้กัญชาอย่างเข้าใจ มีแนวทางการใช้กัญชาทางการแพทย์ทั้งแผนปัจจุบันและแผนไทย

2.การควบคุมด้วยกฎหมาย ซึ่งขณะนี้มีกฎหมายออกมา ทั้งควบคุมการเสพ ไม่ให้เสพที่สาธารณะ เพราะมีกลิ่นมีควันก็ถือเป็นเหตุรำคาญ การไม่ให้ใช้ในผู้ที่ต่ำกว่าอายุ 20 ปี หญิงตั้งครรภ์ และหญิงให้นมบุตร นอกจากนี้ เรายังเป็นกรรมาธิการในการปรับแก้ไขร่าง พ.ร.บ.กัญชง กัญชา พ.ศ. … ซึ่ง รมว.สธ.ให้นโยบายชัดเจนว่า สธ.ต้องสนับสนุนกัญชาทางการแพทย์ ดังนั้น การเสพ การสันทนาการ ไม่ได้สนับสนุน ก็ต้องมีกฎหมายเข้าไปควบคุมป้องกันในกฎหมายกัญชงกัญชา

3.การเฝ้าระวังป้องกันการใช้ในทางที่ผิด เราวางระบบรายงานเฝ้าระวังว่าจะมีจำนวนที่มีผลจากการใช้กัญชา ทั้งพิษจากกัญชาเอง หรือมีปัญหาทางด้านจิตประสาทมากขึ้นหรือไม่ ซึ่งขณะนี้ได้รับรายงานว่ายังไม่ได้มีมากขึ้น

4.การวางระบบการดูแลรักษาพยาบาลและบำบัดรักษา ซึ่งขณะนี้มีกลุ่มงานสุขภาพจิตและยาเสพติดทุกจังหวัด และเปิดวอร์ดจำนวนมากเพื่อดูแลยาเสพติดแต่ถ้ามีปัญหาด้านสุขภาพจิตก็สามารถดูแลได้

5.การกำกับติดตามผลการขับเคลื่อนตามมาตรการที่กำหนดว่าผู้ที่เกี่ยวข้องดำเนินการเป็นอย่างไร

“เดิมเราวางระบบเฝ้าระวังป้องกันและรายงานการใช้กัญชาทางการแพทย์อยู่แล้ว ทั้งการใช้ในแพทย์แผนปัจจุบันและแผนไทย ซึ่งมีการรายงานอาการไม่พึงประสงค์เข้ามาอย่างสม่ำเสมอ แต่พบว่าผู้ที่มีปัญหาผลข้างเคียงจากการใช้กัญชาทางการแพทย์มีเพียง 1% กว่าๆ เท่านั้น และเป็นกลุ่มที่อาการเล็กน้อย ไม่มาก เพราะเป็นการใช้อย่างควบคุม ส่วนที่ไม่ได้ใช้ผ่านการควบคุมหรือไม่เป็นไปตามนโยบายของ สธ. ซึ่งเรามีกฎหมายป้องปรามไว้แล้ว หากใครฝ่าฝืน ผู้ที่เกี่ยวข้องก็ต้องไปดำเนินการ” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว

เมื่อถามถึงอาหารหรือขนมที่มีการใส่กัญชา เช่น คุกกี้ พ่อแม่ซื้อไปแล้วลูกเล็กมีการรับประทาน นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า เราไม่ได้สนับสนุนเรื่องอาหาร สธ.ดูเรื่องกัญชาทางการแพทย์เป็นหลัก เรื่องอาหารทาง อย.ต้องเป็นคนจัดการ ตนก็สั่งการไปเรื่องฉลากอาหาร การเตือนผู้บริโภคต่างๆ ต้องเข้มงวด อย่างข้อจำกัดการรับประทาน มีคำเตือนที่เหมาะสม ระหว่างช่วงรอยต่อ อย.ต้องทำงานให้หนัก

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวต่อว่า สำหรับอาหารต้องมาขออนุญาต ก็ขออนุญาตได้ง่าย แต่หลังวางจำหน่ายต้องไปตรวจติดตาม ทำผิดกฎหมายหรือไม่ หากผิดต้องไปจัดการ หากพบก็แจ้งมาที่ อย.ได้ และรีบไปดำเนินการ ซึ่งยังไม่เห็นด้วยหากนำไปทำผลิตภัณฑ์อาหารแล้วเกิดผลเสียต่อสุขภาพโดยตรงจากสารสกัดกัญชาที่ใส่ไปก็มีความผิดตามกฎหมาย เช่น ใส่มากกว่าที่กำหนดหรือไม่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน