กรมอุทยานฯ เผยสถิติคดีไฟป่า (1 ม.ค.– 27พ.ค.67) ดำเนินดคีไปแล้ว 298 คดี ป่าเสียหาย 6,176.41 ไร่ ระบุสาเหตุชาวบ้านหาของป่า เร่งประชาสัมพันธ์ความเข้าใจ
เมื่อวันที่ 11 ก.ค. นายนฤพนธ์ ทิพย์มณฑา ผอ.สำนักป้องกัน ปราบปราม และควบคุมไฟป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า ภาพรวมสถานการณ์ไฟป่าในปีนี้ มีจุด Hotspot ลดลงจากปีที่แล้ว 40% แต่สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดไฟป่า มีที่มาจากความเชื่อของชาวบ้านว่า หากมีการเผาจะทำให้พืชบางชนิดแตกยอดได้ไว เช่น ผักหวาน เห็ดเผาะ รวมถึงวิธีการหารังผึ้ง ไข่มดแดง ไม้ไผ่ ฯลฯ แบบผิดๆ ซึ่งความเป็นจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะการจุดไฟส่วนใหญ่เพื่อให้พื้นป่าโล่ง เดินสะดวก หรือให้แสงสว่างในระหว่างการเดินทางผ่านป่าในเวลากลางคืน ทำให้เข้าไปเก็บหาของป่าต่างๆ ได้ง่ายและสะดวกมากกว่า
“ชาวบ้านส่วนใหญ่นั้นยังมีความเชื่อว่าหากเผาป่าจะทำให้ต้นผักหวานแตกใบอ่อน เพื่อจะได้นำเก็บมาขายด้วยราคาสูงกิโลกรัมละหลายร้อยบาท โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายที่เกิดขึ้น และเป็นความเชื่อที่ผิดปฏิบัติต่อๆ กันมา จนทำให้ทุกฤดูแล้ง เกิดปัญหาไฟไหม้ป่าลุกลามขยายเป็นวงกว้าง สร้างความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติ สุขภาพ สังคม เศรษฐกิจอย่างมหาศาลจนประเมินค่าไม่ได้ ประโยชน์ที่ได้ ไม่คุ้มค่ากับความเสียหายที่เกิดขึ้น และความจริง คือ ผักหวานแม้ไม่โดนไฟก็ยังแตกยอดออกปกติ ดังนั้นชาวบ้านจึงไม่มีความจำเป็นต้องเผาป่า”
มีการแก้ปัญหาความเชื่อที่ผิดๆ นี้มาตลอด และมีการประชาสัมพันธ์ในทุกพื้นที่ แม้จะผ่านฤดูไฟป่าไปแล้ว เช่น มีการเคาะประตูบ้านทำความเข้าใจกับชาวบ้าน จริงๆ เป็นการเผาเพื่อให้พื้นที่โล่งและสะดวกต่อการเก็บการหาของป่าแค่นั้นเอง และยังมีความประมาท เช่น การเข้าไปหารังผึ้งโดยการเผารังเพื่อให้เข้าไปสะดวกเมื่อผึ้งบินหนีออกมา คิดว่าไฟที่จุดรมรังผึ้งไว้จะดับได้ทัน แต่กลับลุกลามบานปลายในพื้นที่ป่าอนุรักษ์
กรมอุทยานฯ มีการบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำผิดอย่างเด็ดขาด โดยบังคับใช้กฎหมายเพื่อยกระดับการดำเนินคดีกับผู้ลักลอบจุดไฟเผาป่า ด้วยการ “จับจริง” มีบทลงโทษตามกฎหมาย โดยมีอัตราโทษตามพ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ 2562 และพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ซึ่งที่ผ่านมาสถิติตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 27 พ.ค. 2567 มีการดำเนินคดีเกี่ยวกับไฟป่าทั้งสิ้น 298 คดี แบ่งเป็นการดำเนินคดีลักลอบเผาป่า 98 คดี ผู้กระทำผิด 4 ราย คดีสัตว์ป่าเกี่ยวกับการเผาป่า 184 คดี ผู้กระทำผิด 195 ราย และคดีเก็บหาของป่าที่เกี่ยวเนื่องกับการเผาป่า 16 คดี ผู้กระทำผิด 24 ราย และมีการจับกุมผู้กระทำผิด 223 ราย และมีพื้นที่ป่าเสียหาย 6,176.41 ไร่
สถิติเหล่านี้บ่งชี้ให้เห็นว่า การเผาป่าที่เกิดขึ้นในปีนี้ ล้วนมาจากการเห็นแก่ตัวของมนุษย์เพียงไม่กี่คนแต่กลับสร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง ดังนั้น โปรดหยุดความเชื่อผิดๆ หยุดการกระทำที่มักง่าย เพราะต้องเจอจับจริงในทุกราย ไม่มีข้อยกเว้น