อุทยานฯดอยสุเทพ-ปุย พื้นที่ต้นน้ำสู่คลองแม่ข่า ตัวเมืองเชียงใหม่ จัดโครงการฟื้นฟูป่าต้นน้ำ เฉลิมพระเกียรติในหลวง ทำฝาย 720 ฝาย แหล่งกักเก็บน้ำให้ชุมชนเมือง

เมื่อวันที่ 30 ก.ค. ที่อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย จ.เชียงใหม่ นายสมศักดิ์ มั่งมี ผอ.ส่วนจัดการต้นน้ำ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์(สบอ.) ที่16 (เชียงใหม่) พร้อมด้วยนายภูพิชิต ช่วยบำรุง หัวหน้าอุทยานฯดอนสุเทพ-ปุย ร่วมแถลงถึง “โครงการฟื้นฟูป่าต้นน้ำคลองแม่ข่า เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า อุทยานฯดอยสุเทพ-ปุย เป็นอุทยานแห่งชาติที่ตั้งอยู่เมืองเชียงใหม่ โดยดอยปุยเป็นจุดสูงสุด สูงจากระดับน้ำทะเล 1,685 เมตร มีลำห้วยที่สำคัญได้แก่ ห้วยตึงเฒ่า ห้วยแม่หยวก ห้วยแก้ว ห้วยช่างเคี่ยน เป็นต้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแหล่งต้นน้ำลำธารที่ไหลลงสู่แม่น้ำปิง และไหลลงคลองแม่ข่า หรือน้ำแม่ข่า เป็นคลองโบราณสายสำคัญของจังหวัดเชียงใหม่ มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ เป็นหนึ่งในเจ็ดศุภนิมิตรมงคลที่พญามังรายทรงเลือกที่จะสร้างเมืองเชียงใหม่เป็นราชธานี เมื่อกว่า 700 ปีก่อน เป็นทางน้ำธรรมชาติที่มีต้นกำเนิดมาจากดอยสุเทพ ซึ่งประกอบไปด้วยลำห้วยสาขาน้อยใหญ่ ที่มีบทบาทสำคัญในการช่วยรักษาความชุ่มชื้น คงสภาพป่าต้นน้ำ ไหลลงสู่ลำห้วยในเขตอำเภอแม่ริม หลอมรวมกับลำน้ำอีกหลายสายลงสู่คลองแม่ข่า แล้วไหลผ่านเมืองเชียงใหม่ลงสู่แม่น้ำปิงที่อำเภอหางดง รวมความยาวประมาณ 31 กิโลเมตร อีกทั้งเป็นแหล่งน้ำให้ราษฎรในชุมชนใกล้เคียงได้นำไปใช้อุปโภค บริโภค และทำการเกษตรมาแต่ครั้งอดีต

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า แต่ปัจจุบันเมื่อจังหวัดเชียงใหม่ได้รับการพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางทางด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว การศึกษา และวัฒนธรรมของภาคเหนือ คลองแม่ข่าจึงกำลังประสบกับปัญหาน้ำเน่าเสีย คุณภาพน้ำไม่เหมาะกับการอุปโภค ประกอบกับมีน้ำต้นทุนลดลง ส่งผลให้เกิดภาวะเสื่อมโทรมทางด้านกายภาพ และระบบนิเวศของแหล่งน้ำธรรมชาติที่ไม่ได้รับการดูแลรักษา และไม่ได้รับการพัฒนา

กรมอุทยานจึงเข้ามามีส่วนร่วมโดยได้จัดทำโครงการฟื้นฟูป่าต้นน้ำคลองแม่ข่า เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ บริเวณอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย โดยจัดทำฝายต้นน้ำลำธารแบบคอกหมูหินทิ้ง 720 ฝาย เพื่อช่วยในการสนับสนุนแหล่งน้ำต้นทุนให้กับคลองแม่ข่า อีกทั้งฝายเหล่านี้จะช่วยรักษาความชุ่มชื้น ดักตะกอน และช่วยในการกักเก็บน้ำเพื่อใช้ในการอุปโภคของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งปัจจุบันดำเนินการไปแล้ว 400 กว่าฝาย และคาดจะแล้วเสร็จประมาณทั้งหมดภายในเดือนส.ค. นี้

นอกจากนี้ที่ผ่านมาได้ดำเนินการอนุรักษ์ดินและน้ำบริเวณป่าต้นน้ำ ฟื้นฟูสภาพป่าบริเวณอุทยานฯดอยสุเทพ-ปุย โดยมีการปลูกป่าประชาอาสา 72 ไร่ ปลูกหญ้าแฝก 200,000 กล้า และปลูกป่าหวาย 72 ไร่ รวมทั้งปล่อยสัตว์ป่า 72 ตัว ให้มีความอุดมสมบูรณ์ ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมจากหน่วยงานทุกภาคส่วน เยาวชน จิตอาสา และประชาชนในพื้นที่โครงการฟื้นฟูป่าต้นน้ำคลองแม่ข่า เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567

ด้านนายเมธาพันธุ์ ภุชกฤษดาภา ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 11 ต.สุเทพ อ.แม่ริม เปิดเผยว่า ในพื้นที่มีการทำฝายชะลอน้ำประมาณ 10 กว่าฝาย ซี่งในชุมชนมีอาชีพเกษตรกรรม และด้านการท่องเที่ยว มีน้ำต้นทุนจากธรรมชาติ ซึ่งยังคงมีปัญหาเรื่องพื้นที่กักเก็บน้ำ จึงต้องมีการบริหารจัดการน้ำให้ดี ทั้งน้ำเพื่อการเกษตร และน้ำอุปโภคบริโภคให้อีกกว่า 100 ครัวเรือน ในชุมชนของเรามีกติกาการใช้น้ำร่วมกัน รวมทั้งการบริหารจัดการเรื่องน้ำเสีย ทำระบบบำบัดน้ำเสียให้มีคุณภาพ โดยมีกรมอุทยานฯ กรมควบคุมมลพิษ กรมชลประทาน เข้ามาช่วยในเรื่องนี้ด้วย

สำหรับโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ประกอบด้วย ป่าดิบเขา 119,771 ไร่ ป่าเต็งรัง 2,167 ไร่ และป่าเบญจพรรณ 961 ไร่ ซึ่งจะได้น้ำที่ไหลลงสู่ลำธาร ดังนี้ ป่าดิบเขา 175,361,512 ลบ.ม. ป่าเต็งรัง 1,045,100.76 ลบ.ม. ป่าเบญจพรรณ 591,053.44 ลบ.ม. และจะได้น้ำที่กักเก็บไว้ในดิน ป่าดิบเขา 181,582,418 ลบ.ม. ป่าเต็งรัง 499,796.88 ลบ.ม. ป่าเบญจพรรณ 401,592.29 ลบ.ม. ดังนั้น จะได้น้ำที่ไหลลงสู่ลำธาร ทั้งหมด ≈ 176,997,666.2 ลบ.ม./ปี และได้น้ำที่กักเก็บไว้ในดิน ทั้งหมด 182,483,807.17 ลบ.ม./ปี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน