เปิดภาพถ่ายอวกาศอันซีน ฝีมือนักบินในภารกิจอะพอลโล

เปิดภาพถ่ายอวกาศอันซีน – วันที่ 2 พ.ย. เว็บไซต์ ซีเอ็นเอ็น รายงานถึงภาพถ่ายฝีมือนักบินอวกาศโครงการอะพอลโล ขององค์การอวกาศและการบินแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา หรือ นาซา ผู้เดินทางร่วมกับยาน ภาพจำนวนมากยังไม่เคยเผยแพร่ที่ไหนมาก่อน

สะท้อนว่าโครงการส่งยานอวกาศอะพอลโลของนาซาเปลี่ยนประวัติศาสตร์ในวงการภาพถ่ายด้วย ไม่เพียงสร้างประวัติศาสตร์จากการปล่อยยานอวกาศที่มีมนุษย์ครั้งแรกของโครงการเมื่อ 11 ต.ค. 2511 หรือ ค.ศ.1968 จนปัจจุบันผ่านมากว่า 50 ปีแล้ว

เปิดภาพถ่ายอวกาศอันซีน

นักบินอวกาศถ่ายรูปยากลำบากมากในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วง / Credit: Courtesy of The National Aeronautics and Space Administration (NASA) photographic archives

“Apollo VII-XVII” ( หนังสืออะพอลโล 7-17) จากสำนักพิมพ์เทอนอยเอส (teNeues) ของเยอรมนี ชุบชีวิตเรื่องราวน่าทึ่งของ 11 ภารกิจในโครงการขึ้นอีกครั้ง โดยมีนายวอลเตอร์ คันนิ่งแฮม นักบินอวกาศโครงการอะพอลโล 7 เขียนคำนำพิเศษ

ภาพถ่ายสำคัญ เช่น Earthrise ถ่ายจากวงโคจรดวงจันทร์โดยนายบิล แอนเดอร์ส นักบินอวกาศ จับภาพจุดสูงสุดของโลก 13 แห่งให้อยู่ภายในเฟรมเดียวได้ ซึ่งไม่ได้แสดงให้เราเห็นแค่วิธีเห็นโลกที่แตกต่างออกไปและทำให้ความเข้าใจวิทยาศาสตร์ของเราก้าวหน้าเท่านั้น แต่ยังให้ความเข้าใจอย่างลึกซึ้งใหม่ๆ ต่อโลกใหม่แห่งการถ่ายภาพ

การถ่ายภาพสำหรับนักบินอวกาศ

นายวอลเตอร์ คันนิ่งแฮม นักบินอวกาศอะพอลโล 17 กล่าวว่า บ่อยครั้งที่นักบินอวกาศอะพอลโลยุคแรกๆ ได้รับการยกย่องว่าเป็นนักสำรวจ นักวิทยาศาสตร์ ฮีโร่ แต่แทบจะไม่เคยมีใครนึกถึงว่าเป็นช่างภาพที่น่าจดจำมากที่สุดในประวัติศาสตรโดยงานถ่ายรูปมาจากการได้รับการฝึกฝนในโครงการอบรม

“การถ่ายภาพเป็นพื้นที่หนึ่งของกิจกรรมที่แสดงถึงพัฒนาการที่น่าประหลาดใจ ช่วงที่การสำรวจอวกาศวิวัฒนาการเรื่อยมาเมื่อกว่า 50 ปีที่แล้ว” นายคันนิ่งแฮมเขียน “เราฝึกกับกล้องฮาสเซลบลาดเป็นเวลา 2 ปีก่อนที่ยานอวกาศของเราถูกปล่อยเพื่อเริ่มภารกิจสำรวจ”

Credit: Courtesy of The National Aeronautics and Space Administration (NASA) photographic archives

เพื่อให้แน่ใจว่านักบินอวกาศใช้กล้องที่ถูกปรับแต่งให้เข้ากับสภาพอวกาศได้อย่างสะดวกสบายและลับคมตานักบินให้ถ่ายเก่งขึ้น นาซ่าสนับสนุนให้นำกล้องติดตัวไปด้วยในการเดินทางคนเดียว รวมถึงเสนอให้คนมาติวพิเศษในพื้นที่อย่างรัฐเนวาดาและแอริโซนา ซึ่งมีสภาพคล้ายกับผิวดวงจันทร์ ต่อมานาซ่าประจำผู้เชี่ยวชาญที่ศูนย์ควบคุมภารกิจเพื่อตอบคำถามที่เกี่ยวข้องกับภาพถ่ายโดยเฉพาะ

กล้องอวกาศ

นาซ่าย้ำถึงความสำคัญของภาพถ่ายอวกาศเพราะภารกิจอะพอลโลก้าวหน้าขึ้น นักบินอวกาศได้รับภารกิจให้จัดทำเอกสารเกี่ยวกับการทำแผนที่และอธิบายภูมิประเทศ รวมถึงสภาพของยานอวกาศของตนเอง แต่ภารกิจในอวกาศต้องการกล้องและเลนส์ชนิดที่ต่างออกไป

นายวอลเตอร์ เชอร์รา ช่างภาพสมัครเล่นและหนึ่งในนักบินของโครงการสำรวจดาวพุธแนะนำกล้องฮาสเซลบลาด 500 ซี ว่าดูเหมือนตรงกับความต้องการของนาซ่า

กล้องประยุกต์ของนายวอลเตอร์นำภาพที่น่าตื่นตะลึงมาหลายรูปจากภารกิจในปี 2505 และนำไปสู่การร่วมมือระหว่างนาซ่าและบริษัทฮาสเซลบลาดร่วมหลายสิบปี เกิดกล้องฮาสเซลบลาดรุ่น Super Wide Camera ที่จับภาพในขอบเขตภาพกว้าง ขนาดใหญ่ได้ ยังมีกล้องนิคอนรุ่น 35mm Photomic FTn ที่ปรับแต่งให้ทนต่อแรงโน้มถ่วงสุดขั้ว หรือร่วมกันพัฒนาเลนส์กับบริษัท คาร์ล ไซส์ (Carl Zeiss) ของเยอรมนีจนเกิดเลนส์กล้องที่มีความเร็วสูงสุดของโลก

ถ่ายภาพโลกจากอวกาศ

ด้วยสภาพที่ยากลำบาก เช่น การปฏิบัติภารกิจในสภาพความโน้มถ่วงต่ำในชุดอวกาศเทอะทะที่นักบินต้องถ่ายรูป และเมฆทำให้การถ่ายภาพท้าทาย เพราะปกติแล้วเมฆปกคลุมผิวโลกกว่าครึ่งถึงร้อยละ 55

ภาพนี้จากภารกิจของอะพอลโล 8 /Credit: Courtesy of The National Aeronautics and Space Administration (NASA) photographic archives

ขณะที่คันนิ่งแฮมโคจรอยู่รอบโลกทุกๆ 90 นาที ยานอะพอลโล 7 ใช้เวลาเคลื่อนจากกลางคืนจรดกลางวันทุกๆ 45 นาที คันนิ่งแฮมมีจังหวะโผล่ออกมาจากหน้าต่างยานเพื่อถ่ายภาพได้จำกัด

“มีข้อจำกัดอยู่ข้อหนึ่งในภารกิจของเราที่เราทำตามได้อย่างสมบูรณ์แบบ นั่นคือข้อห้ามถ่ายภาพลงไปที่ประเทศจีน เป็นกฎที่ปฏิบัติตามได้ง่ายมาก เพราะในช่วง 11 วันที่ผ่านประเทศจีนหลายรอบนั้น เราไม่เคยเห็นพื้นผิวประเทศจีนเลย เนื่องจากมีเมฆปกคลุมและหมอกควันในชั้นบรรยากาศอยู่แล้ว” คันนิ่งแฮมระลึกถึงความหลังอย่างมีอารมณ์ขัน

++++++++++

อ่านข่าวอวกาศอื่นๆ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน