2561ปีฆ่าโหดนักข่าว พุ่ง80ศพ สหรัฐติดท็อปไฟว์-ผู้มีอำนาจยุให้เกลียดสื่อ

2561ปีฆ่าโหดนักข่าว – เมื่อ 18 ธ.ค. เอเอฟพี รายงานว่า องค์กรนักข่าวไร้พรมแดน หรือ RSF อาร์แอสแอฟ ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เปิดรายงานสถิติความรุนแรงต่อผู้สื่อข่าวประจำปี 2561 พบว่า มีนักข่าวถูกฆาตกรรมอย่างน่าตกตะลึงถึง 80 ราย หลายกรณี รวมถึง นายจามาล คาช็อกกี ผู้ถูกสังหารในสถานกงสุลซาอุดีอาระเบีย ประจำนครอิสตันบูล ประเทศตุรกี เกี่ยวข้องจากบุคคลที่มีอำนาจทางการเมืองไร้จิตใจที่เป็นธรรม

นอกจากถูกสังหารด้วยสถิติที่สูงขึ้นกว่าปีก่อนถึงร้อยละ 15 และพลิกผันตัวเลขที่ลดลงติดต่อกันมา 3 ปี นักข่าวถูกคุมขังจำคุก 348 คน และ 60 คนถูกจับเป็นตัวประกัน

“ความรุนแรงต่อผู้สื่อข่าวพุ่งไปถึงระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน และสถานการณ์ขณะนี้เข้าขั้นวิกฤต ความเกลียดชังผู้สื่อข่าว บางครั้งมาจากนักการเมือง ผู้นำทางศาสนา นักธุรกิจที่ไร้คุณธรรม จนส่งผลกระทบให้เกิดเหตุอันน่าวิตกสูงขึ้นเช่นนี้” คริสตอฟ เดอลัวร์ ประธานองค์กรนักข่าวไร้พรมแดน กล่าว

อ่านข่าว : ถอดคลิปเสียง “คาช็อกกี” ประโยคสุดท้ายร้องทุรนทุราย “ผมหายใจไม่ออก”

องค์กร RSF ไม่ได้เอ่ยชื่อชี้ชัดไปถึง ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐอเมริกา ผู้ที่ชอบพูดและเขียนโจมตีนักข่าว ทั้งตราหน้าว่าเป็น “ศัตรูของประชาชน” แต่คำแถลงระบุว่า การแสดงออกถึงความเกลียดชัง เปรียบเหมือนการเปิดไฟเขียวให้เกิดความรุนแรง บั่นทอนวิชาชีพสื่อมวลชนและประชาธิปไตย

ทรัมป์ตะโกนต่อว่านักข่าวซีเอ็นเอ็น ขณะเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวจะเข้าไปแย่งไมโครโฟน เมื่อ 7 พ.ย. 2561 REUTERS/Jonathan Ernst

สหรัฐอเมริกา ขยับขึ้นมาอันดับ 5 ประเทศที่มีความเสี่ยงต่อผู้สื่อข่าวมากที่สุดในโลก หลังเกิดเหตุคนร้ายบุกยิงคนทำงานในห้องข่าว แคปิทอล กาแซ็ตต์ รัฐแมรีแลนด์ เมื่อเดือนมิถุนายน เสียชีวิต 5 ราย

อ่านข่าว : สหรัฐช็อกบุกยิงในห้องข่าว ตายทันที5 อีกหลายชีวิตเจ็บสาหัส

ส่วน อัฟกานิสถานเป็นประเทศที่มีนักข่าวถูกฆ่าอันดับหนึ่ง หลังเกิดเหตุการณ์วางระเบิดสังหารหมู่นักข่าว 15 ราย ขณะนักข่าวรายงานเหตุวางระเบิดกลางกรุงคาบูล เมื่อ 30 เม.ย. รองลงมาเป็น ซีเรีย สมรภูมิเดือดที่สงครามยื้อเข้าสู่ปีที่ 8 มีนักข่าวถูกฆ่า 11 ราย และเม็กซิโก มีนักข่าวถูกสังหาร 9 ราย

อ่านข่าว : ไอเอสระเบิดโหดคาบูล พอนักข่าวมาถึงกดซ้ำอีกลูก-หัวหน้าช่างภาพเอเอฟพีดับด้วย

2561ปีฆ่าโหดนักข่าว

Afghan journalists are seen after a second blast in Kabul, Afghanistan April 30, 2018. REUTERS/Omar Sobhani TEMPLATE OUT

สำหรับประเทศที่จำคุกนักข่าวสูงสุดยังคงเป็นจีน มีผู้ต้องขัง 60 คน ในจำนวนนี้ 46 คนเป็นบล็อกเกอร์ที่ไม่ใช่นักข่าวอาชีพ บางคนถูกขังอย่างไร้มนุษยธรรม เพียงเพราะการโพสต์ทางโซเชียลเน็ตเวิร์ก ส่วนตุรกีมีสถานการณ์เลวร้ายคล้ายกัน ใช้วิธีจับกุมนักข่าวด้วยข้อหาก่อการร้าย มี 33 คนถูกกักขัง เป็นนักข่าวอาชีพที่ถูกขังมากกว่าประเทศใดๆ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน