หนังเฟมินิสต์เกาหลี ที่ทำให้คู่รักทะเลาะ-เลิกกัน Kim Ji-Young, Born 1982

หนังเฟมินิสต์เกาหลี – เซาท์ไชนา มอร์นิ่ง โพสต์ รายงานกระแสทางสังคมของเกาหลีใต้ และข้อถกเถียงถึงความเท่าเทียมชายหญิงในสังคมชายเป็นใหญ่ของเกาหลีใต้ หลังจากภาพยนตร์เรื่อง Kim Ji-Young, Born 1982 (คิม จียอง เกิดปี 1982) หนังแนวเฟมินิสต์ที่โด่งดังเกรียวกราว ออกฉาย คู่รักหลายคู่ถึงกับเลิกกัน

อย่างคู่ ฮัน อาห์อุม พนักงานออฟฟิศ อายุ 27 ปี กับแฟนหนุ่มไปชมภาพยนตร์เรื่องคิม จียอง บอร์น 1982” เมื่อดูจบและออกจากโรงภาพยนตร์ ทั้ง 2 คนถกเถียงกัน โดยแฟนหนุ่มตั้งข้อสงสัยว่าแม่และป้าๆ ของเขาต้องเผชิญกับภาระสารพัดอย่างเหมือนในภาพยนตร์หรือไม่ ส่วนสามีในภาพยนตร์ไม่น่ามีอยู่จริงเพราะทั้งช่วยเลี้ยงลูกและทำงานบ้าน แต่ฮันเป็นว่า มันก็ควรต้องเป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว

ภาพยนตร์เรื่องนี้จัดอยู่ในประเภทหนังรักและสะเทือนใจที่สร้างจากนวนิยายขายดีตีพิมพ์ในปี 2559 ผลงานประพันธ์ของ โช นัมจู เป็นเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างสามี รับบทโดยกง ยู และภรรยา รับบทโดย จอง ยูมี

ตั้งแต่ภาพยนตร์เข้าฉายเมื่อเดือนตุลาคม กวาดรายได้ไปแล้วกว่า 19 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 570 ล้านบาทและก่อให้เกิดกระแสวิจารณ์อย่างกว้างขวาง

โดยเฉพาะตัวละคร คิม จียอง ภรรยายุคมิลเลนเนียลและแม่ที่ต้องรับภาระมากมายท่ามกลางกระแสกดดันจากสังคมที่ถือผู้ชายเป็นใหญ่และอนุรักษนิยมในเกาหลีใต้ จุดกระแสถกเถียงอย่างเข้มข้นระหว่างคู่รักจนบางคู่ตัดสินใจเลกคบกัน

ผู้ใช้ทวิตเตอร์ Monrami07_22 ทวีตว่า เธอจะไปดูภาพยนตร์ หากเถียงกับแฟนไม่จบ ก็อาจจะเลิกกัน

ส่วน WooYCo โพสต์ว่าขณะกอนข้าวเที่ยง ได้ยินผู้ชาย 2 คนโต๊ะข้างๆ คุยกันว่าภาพยนตร์เรื่องนี้มีอคติต่อผู้ชาย คนหนึ่งบอกว่าอาจจะต้องเลิกกับแฟนถ้าเธอชวนไปดูเรื่องนี้

โอห์ ซันยอง วัย 31 ปี บอกว่าอ่านคำวิจารณ์ในสื่อสังคมออนไลน์ก่อนไปชมภาพยนตร์ ดูเหมือนว่าผู้ชายเห็นว่าเป็นเรื่องที่ไม่จริงและยกย่องเฟมินิสต์หรือสตรีนิยม แต่หลังจากที่เธอไปชมเองก็คิดว่าเป็นภาพยนตร์ที่สะท้อนให้เห็นถึงการเหยียดผู้หญิงในสังคมเกาหลีใต้ เพราะไม่ได้มองถึงพรสวรรค์หรือความสามารถของผู้หญิง แต่วัดคุณค่าของผู้หญิงจากบทบาทการเป็นแม่บ้านต้องเลี้ยงลูกและทำงานบ้านโดยไม่ได้คำนึงถึงตัวตนของผู้หญิงแต่ละคน

หนังเฟมินิสต์เกาหลี

กงยู และ จองยูมี

กระแสวิพากษ์วิจารณ์โด่งดังตั้งแต่นวนิยายตีพิมพ์ออกมา เมื่อปี 2560 โรห์ โฮชาน แกนนำพรรคจัสติส มอบหนังสือนวนิยายเรื่องนี้ให้ประธานนาธิบดีมูน แจอิน อ่านด้วย

ขณะที่การจัดอันดับภาพยนตร์โดยผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ให้คะแนน 6.6 จาก 10 โดยผู้หญิงให้คะแนนสูงเฉลี่ย 9.51 ส่วนผู้ชายให้คะแนนเพียง 2.72

ซีดาร์โบห์ เซจิ อาจารย์ด้านเพศศึกษาและเคพอพเกาหลี อธิบายว่าเหตุที่ความเห็นของผู้ชายต่างกับผู้หญิงมากเนื่องจากภาพยนตร์เรื่องนี้มีความท้าทายและชูความสำคัญของผู้หญิง

พร้อมกับบอกว่าสังคมเกาหลีและระบบการศึกษาเกาหลีสั่งสอนให้นับถือทัศนคติของผู้ชายเป็นใหญ่ เห็นได้จากปูชนียบุคคลในประวัติศาสตร์เกาหลีล้วนเป็นเพศชาย หนังสือและงานศิลปะก็สร้างสรรค์จากผู้ชาย

รวมทั้ง ยังมีรายการโทรทัศน์ประเภททอล์กโชว์ที่ยกย่องผู้ชายด้วยการเชิญแต่ผู้เชี่ยวชาญชายมาออกรายการ ขณะที่หนังสือนิยายและภาพยนตร์เรื่อง คิม จียอง ยกย่องผู้หญิงและฉายภาพให้เห็นถึงความยากลำบากของผู้หญิงเกาหลีใต้ที่เกิดจากสังคมที่สร้างโดยผู้ชายตีกรอบเอาไว้

ทั้งนี้ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็นดีดี จัดอันดับความเท่าเทียมกันทางเพศของเกาหลีใต้ให้อยู่ที่อันดับ 118 จาก 144 ประเทศ ซึ่งถือว่ารั้งท้ายมาก

/////////////////

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน