ทากสีชมพูสด ชนิดใกล้สูญพันธุ์ รอดพ้นไฟป่าออสเตรเลีย อย่างเหลือเชื่อ

วันที่ 30 ม.ค. ซีเอ็นเอ็น รายงานว่า ทากกินใบไม้สีชมพูสด ที่พบได้เฉพาะถิ่นออสเตรเลียเท่านั้น ยังคงมีชีวิตรอด หลังจากไฟป่าเผาทำลายป่ารวมถึง ป่าบนภูเขาคาพูตาร์ ภูเขาไฟที่ดับแล้วในรัฐนิวเซาท์เวลส์

หลังจากสายฝนโปรยปรายลงมา เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติและสัตว์ป่านิวเซาท์เวลส์พบทากภูเขาคาพูตาร์ ประมาณ 60 ตัว

ทากสีชมพูสด / NSW National Parks and Wildlife Service

ขณะที่นักนิเวศวิทยาจากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ ประเมินว่าอาจมีสัตว์ป่าหลายร้อยล้านชนิดในรัฐนิวเซาท์เวลส์ได้รับผลกระทบจากไฟป่า

เพจเฟซบุ๊ก อุทยานแห่งชาตินิวเซาท์เวลส์ โพสต์รูปทากสีชมพูสะดุดตา พร้อมกับข้อความว่าเกรงว่าสปีชีที่ไม่ธรรมดานี้จะถูกผลกระทบจากการสูญเสียที่อยู่อาศัย แม้มันจะไม่ได้ดูน่ารักเหมือนโคอาลา หรือ วอลลาบี แต่มีบทบาทสำคัญต่อระบบนิเวศ

ทากภูเขาคาพูตาร์ มีความยาวได้ถึง 20 ซ.ม. จัดเป็นทากสปีชีส์ใหม่ ก่อนหน้านี้นักวิจัยคิดว่าอาจเกิดจากความเปลี่ยนแปลงของทากสามเหลี่ยมแดงที่พบได้ในรัฐนิวเซาท์เวลส์ แต่ทากสีชมพูพบได้บนยอดเขาของภูเขาคาพูตาร์เท่านั้น

ภูเขาไฟลูกนี้เคยปะทุเมื่อ 17 ล้านปีก่อน เหลือพื้นที่บนยอดเขาที่มีความชุ่มชื้นและเขียวชอุ่มแบบป่าอัลไพน์ แต่ส่วนอื่นของภูเขาแห้งแล้งคล้ายทะเลทราย ทำให้สิ่งมีชีวิตที่เหลือรอดจากอดีตกาลยังคงสืบเผ่าพันธุ์ในปัจจุบัน และไม่พบสิ่งมีชีวิตชนิดนี้ที่ไหนในโลก

สัตว์เหล่านี้กำลังถูกคุกคาม รวมทั้ง ทากสีชมพู ซึ่งสหภาพระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ หรือ ไอยูซีเอ็น ขึ้นบัญชีให้อยู่ในหมวด “สิ่งมีชีวิตที่ใกล้สุญพันธุ์” เนื่องจากถิ่นที่อยู่ได้รับผลกระทบจากสภาวะโลกร้อนและอุณหภูมิที่สูงขึ้น

แฟรงก์ โคห์เลอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสังขวิทยา ศึกษาเรื่องหอย แห่งพิพิธภัณฑ์ออสเตรเลียกล่าวว่าอุทยานแห่งชาติ กล่าวว่าอุทยานแห่งชาติเขาคาพูตาร์เป็นถิ่นที่อยู่ของทากและหอยทากสปีชีที่เสี่ยงสูญพันธ์ประมาณ 20 ชนิด นับว่าเป็นข่าวดีอย่างยิ่ง ทำให้มีความหวังว่าไฟป่าไม่ได้ส่งผลกระทบมากเท่าที่คิดไว้

Giant pink slug on tree bark (Triboniophorus aff. graeffei)

อาจเพราะอุทยานแห่งชาติดังกล่าวไม่ได้เป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากไฟป่า ทำให้ยังมีพืชพรรณที่รอดพ้นจากเปลวไฟ เช่น สนโวลเลมิ ซึ่งเป็นต้นไม้ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ทากเหล่านี้คงหลบเปลวไฟอยู่ตามซอกหิน แม้ว่าแหล่งอาหาร อย่าง ราและไลเคนถูกไฟเผา แต่พืชพวกนี้ กลับมาเติบโตใหม่อย่างรวดเร็ว

ขณะนี้ อุทยานแห่งชาติเขาคาพูตาร์ปิดทำการ เพราะเสียหายจากไฟป่า ตั้งแต่ไฟป่าเริ่มลุกลามเมื่อปลายเดือน ก.ค. 2562 พื้นที่มหาศาลในออสเตรเลียถูกไฟเผาไหม้อย่างหนักและถือว่าเป็นไฟป่าครั้งรุนแรงที่สุดในรอบหลายสิบปี

Mount Kaputar / NSW National Parks and Wildlife Service

วันเดียวกัน ทางการรัฐนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย แถลงว่าคณะกรรมการอิสระ นำโดย นายเดฟ โอเวนส์ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจรัฐนิวเซาท์เวลส์ และศาสตราจารย์แมรี โอเคน จะเดินหน้าสอบสวนข้อเท็จจริงเหตุไฟป่ารุนแรงในภาคตะวันออก ซึ่งยังลุกลามต่อเนื่อง เผาวอดพื้นที่ไปแล้วกว่า 116 ล้านไร่ และมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 34 ราย

คณะกรรมการจะใช้เวลา 6 เดือนในการตรวจสอบว่าสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง กิจกรรมของมนุษย์ และปัจจัยอื่นๆ ส่งผลต่อไฟป่าครั้งนี้มากน้อยแค่ไหน

+++++

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน