ผู้เชี่ยวชาญWHOแย้งหมออิตาลี ตั้งข้อสังเกตโควิด-19หมดฤทธิ์แล้ว

ผู้เชี่ยวชาญWHOแย้งหมออิตาลีรอยเตอร์ รายงานว่า ดร.มาเรีย ฟาน เคิร์กโฮฟ ผู้เชี่ยวชาญโรคระบาดขององค์การอนามัยโลก หรือ WHO ร่วมด้วยผู้เชี่ยวชาญไวรัสคนอื่นๆ ต่างโต้แย้งข้อมูลและความเห็นของหมออิตาลีคนดังที่ว่า โรคโควิด-19 สิ้นฤทธิ์แล้ว เพราะเห็นว่าไม่มีหลักฐานใดสนับสนุนข้อสังเกตนี้

คณะผู้เชี่ยวชาญของ WHO กล่าวว่า ไม่มีตัวเลขหลักฐานใดๆ ตามที่ศาสตราจารย์ อัลแบร์โต ซานกรีโญ หัวหน้าแผนกฉุกเฉิน โรงพยาบาล ซาน ราฟฟาเอเล แคว้นลอมบาร์ดี กล่าวว่า ในทางการแพทย์ถือว่า ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในอิตาลีตายไปแล้ว

ผู้เชี่ยวชาญWHOแย้งหมออิตาลี

ขวา ดร.มาเรีย

“ถ้ามองในส่วนของศักยภาพในการติดต่อเชื้อยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ถ้ามองถึงความร้ายแรงของเชื้อก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเช่นกัน” ผู้เชี่ยวชาญหญิงของ WHO กล่าว

ด้าน มาร์ติน ฮิบเบิร์ด ประจำมหาวิทยาลัย London School of Hygiene & Tropical Medicine ประเทศอังกฤษ กล่าวว่า ผลการศึกษาหลักๆ เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของยีนในเชื้อไวรัส Sars-CoV-2 ที่ทำให้ป่วยโรคโควิด ไม่พบว่ามันอ่อนฤทธิ์ หรืออ่อนแอลงแต่อย่างใด

ผู้เชี่ยวชาญWHOแย้งหมออิตาลี

ทีมหมอเคลื่อนย้ายคนไข้โควิด-19 ที่โรงพยาบาลซาน ราฟฟาเอเล ในมิลาน เมื่อ 27 มี.ค. REUTERS/Flavio Lo Scalzo

“ด้วยฐานข้อมูลจีโนมไวรัส 35,000 ชุด ยังไม่มีหลักฐานใดแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างที่บ่งบอกถึงความร้ายแรงของเชื้อ ว่าเปลี่ยนไป” ฮิบเบิร์ดกล่าว

ด้าน ศ.ซานกรีโญ ผู้มีชื่อเสียงจากการเป็นแพทย์ประจำตัวของ นายซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี อดีตนายกรัฐมนตรีอิตาลีผู้โด่งดังและอื้อฉาว กล่าวว่า ข้อมูลที่ตนเผยกับสื่อ มีผลการศึกษาจากเพื่อนนักวิทยาศาสตร์ชื่อ มาสซิโม เคลเมนติ สนับสนุนอยู่ และผลการศึกษานี้จะตีพิมพ์ในสัปดาห์หน้า

ผู้เชี่ยวชาญWHOแย้งหมออิตาลี

ดร.ซานกรีโญ

“เราไม่เคยพูดนะครับว่าไวรัสเปลี่ยนไป แต่เราพูดว่าปฏิกิริยาระหว่างไวรัสกับโฮสต์ (ผู้มีเชื้อในร่างกาย) เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง” ศ.ซานกรีโญให้สัมภาษณ์รอยเตอร์ พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า กรณีนี้อาจเป็นเพราะลักษณะแตกต่างของไวรัส ซึ่งยังระบุไม่ได้ว่าคืออะไร หรือไม่ก็เพราะลักษณะที่แตกต่างของผู้ที่ติดเชื้อ

ผลศึกษาของหมอเคลเมนติ ผู้อำนวยการห้องทดลองจุลชีววิทยาและไวรัสวิทยา ของโรงพยาบาลซาน ราฟฟาเอเล เปรียบเทียบตัวอย่างไวรัสจากผู้ป่วยโควิด-19 ที่โรงพยาบาลเมืองมิลาน เมื่อเดือนมีนาคม กับตัวอย่างของคนไข้เมื่อเดือนพฤษภาคม พบว่าแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด

+++

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :

งานวิจัยอังกฤษ ชี้โควิดระบาดพรึ่บทั่วโลกตั้งแต่เริ่ม หาผู้ป่วยรายแรกไม่พบ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน