โลมาสีชมพู – วันที่ 16 ก.ย. เดลี่เมล์ รายงานการพบ โลมาสีชมพู สัตว์ทะเลหายากยิ่ง ในน่านน้ำฮ่องกงเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 หลังว่ายน้ำกลับมาในหลายพื้นที่ของสามเหลี่ยมลุ่มแม่น้ำจูเจียง หรือ เพิร์ล รีเวอร์ เดลตา นอกชายฝั่งฮ่องกง

 

นับตั้งแต่หยุดบริการเดินเรือข้ามฟากเนื่องจากฮ่องกงล็อกดาวน์โควิด-19 นับตั้งแต่เดือนมีนาคม เนื่องจากที่ผ่านมาโลมาสีชมพู หรือรู้จักในชื่อ โลมาขาวจีน หรือชื่อทางการ โลมาหลังโหนกอินโดแปซิฟิก หลีกเลี่ยงพื้นที่ดังกล่าวจากเรือสัญจรไปมาระหว่างฮ่องกงและมาเก๊า

ลินด์เซย์ พอร์ตเทอร์ นักวิทยาศาสตร์ทะเล ผู้ศึกษาโลมาที่อยู่ใกล้ฮ่องกงมา 30 ปี กล่าวว่า สิ่งที่เราสังเกตตั้งแต่เรือข้ามฟากหยุดบริการในบริเวณนี้คือว่า โลมาที่เราไม่ได้เห็นมา 4-5-6 ปี กลับมาในถิ่นที่อยู่ในร่องน้ำของฮ่องกง ถือเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมาก

ปกติแล้วบริเวณนี้จะเต็มไปด้วยเรือข้ามฟากความเร็วสูงที่โดยสารผู้คนไปกลับระหว่างฮ่องกง-มาเก๊า แต่นับตั้งแต่เริ่มการระบาดของโควิด-19 ในมาเก๊า และหลายพื้นที่คุมเข้มการเดินทาง เรือข้ามฟากความเร็วสูงจึงหยุดบริการ และน่านน้ำเหล่านี้กลับมาเงียบสงบมาก

กลายเป็นโอกาสหายากยิ่งของเหล่านักวิทยาศาสตร์ที่จะศึกษาว่า เสียงใต้น้ำมีผลกระทบอต่อพฤติกรรมของโลมาอย่างไรบ้าง พอร์ตเทอร์พร้อมทีมงานโดยสารเรือยางขนาดเล็ก จากนั้น ทิ้งไมโครโฟนลงในน้ำ และใช้โดรนเพื่อเฝ้าติดตามโลมา

ผลการวิจัยชี้ว่า โลมาปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมเงียบสงบได้เร็วกว่าที่คาดคิด และ ประชากรโลมามีแนวโน้มจะฟื้นตัวเมื่อมีการขจัดความเครียดจากเสียงรบกวนออกไป

นักวิทยาศาสตร์คาดว่า โลมาราว 2,000 ตัว อยู่ในทั้งพื้นที่สามเหลี่ยมลุ่มแม่น้ำจูเจียง ขณะที่การสำรวจโดยรัฐบาลฮ่องกงจากปี 2562 พบว่า โลมา 52 ตัว ว่ายน้ำเข้าน่านน้ำรอบเกาะฮ่องกง แต่พอร์ตเทอร์เชื่อว่า จำนวนโลมาอาจสูงกว่าเล็กน้อย

Marine scientist Lindsay Porter operates a boat during a research trip to observe Indo-Pacific Humpback dolphins, known locally as the Chinese White Dolphins, in Hong Kong, China August 31, 2020. Picture taken August 31, 2020. REUTERS/Aleksander Solum

“บางครั้งดิฉันรู้สึกว่าเรากำลังศึกษาประชากรโลมากลุ่มนี้ที่กำลังตายอย่างช้าๆ เป็นเรื่องน่าเศร้าจริงๆ” พอร์ตเทอร์กล่าวและว่า ต่อให้เราไม่สามารถหยุดยั้งการลดลงของประชากรโลมากลุ่มนี้ในฮ่องกงได้ แต่ผลการวิจัยของเราสามารถช่วยเหลือประชากรโลมาที่อื่นในโลกได้

ทั้งนี้ ฮ่องกงวางแผนอนุรักษ์โลมาด้วยการเปิดอุทยานทะเล ในจำนวนนี้ 3 พื้นที่ จะเป็นแหล่งที่โลมาแวะเวียนมาเป็นประจำ และจะจำกัดการเดินเรือแต่ไม่ได้ห้ามเดินเรือถาวร

อย่างไรก็ตาม พอร์ตเทอร์และกลุ่มอนุรักษ์ องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ประจำฮ่องกง เตือนว่า มาตรการดังกล่าวยังไม่เพียงพอ เพราะโลมายังเสี่ยงถูกเรือข้ามฟากชนเนื่องจากเคลื่อนที่ไปมาระหว่างพื้นที่คุ้มครอง

“หากมีแผนการจัดการอย่างครอบคลุมในฮ่องกง พร้อมมาตรการอนุรักษ์มีประสิทธิภาพขึ้น อาจสามารถหยุดยั้งการลดลงอย่างรวดเร็วของประชากรโลมาได้” พอร์ตเทอร์กล่าว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ตื่นตา พบโลมาสีชมพู ที่เกาะห้อง อุทยานฯอ่าวพังงา เล่นน้ำอวดโฉมนักท่องเที่ยว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน