อียูเสนอข้อตกลงใหม่ – วันที่ 23 ก.ย. บีบีซี รายงานว่า สหภาพยุโรป หรืออียู ต้องการข้อตกลงบังคับใช้ทั่วทั้งอียู เพื่อจัดการการโยกย้ายถิ่นฐานเข้ามา แทนการบังคับให้ชาติสมาชิกรับผู้อพยพตามโควตา ภายหลังที่ชาติสมาชิกอียูมีเสียงแตกกันมาหลายปีถึงวิธีการรับมือการโยกย้ายถิ่นฐานเข้ามา ตั้งแต่การทะลักเข้ามาของผู้อพยพและผู้ลี้ภัยกว่าล้านคนเมื่อปี 2558 และส่วนใหญ่ผ่านเข้ามา อิตาลี และ กรีซ

BBC

ข้อตกลงฉบับใหม่ที่มี อังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี เป็นหัวหอกผลักดัน จะบังคับให้ 27 ชาติสมาชิกอียูเข้าร่วม เป็นเสนอการแบ่งปันความรับผิดชอบและความเป็นหนึ่งเดียวกันอย่างยุติธรรมระหว่างชาติสมาชิกอียู ซึ่งเลือกได้จะรับผู้ขอลี้ภัยเข้าประเทศ หรือรับผิดชอบส่งกลับผู้ขอลี้ภัยที่ถูกปฏิเสธ พร้อมกับสร้างความมั่นใจแก่ผู้สมัครขอลี้ภัย ประกอบด้วย

  • การคัดกรองก่อนเข้าเมืองภาคบังคับแบบใหม่ ได้แก่ ตรวจสุขภาพ อัตลักษณ์ และความปลอดภัย
  • กระบวนการชายแดนเพื่อตัดสินใจรับคำขอลี้ภัยรวดเร็วขึ้นภายใน 12 สัปดาห์ และส่งกลับทันทีสำหรับผู้สมัครขอลี้ภัยแต่ไม่ผ่านเกณฑ์

สมาชิกอียู 27 ชาติ จะมีตัวเลือกยืดหยุ่นถึงการเข้าร่วมข้อตกลงฉบับใหม่ ฉะนั้น ประเทศที่ปฏิเสธรับผู้อพยพในอดีตที่ผ่านมา เช่น ฮังการี และ โปแลนด์ จะได้รับการร้องขอความช่วยเหลือในรูปแบบอื่นๆ เช่น

  • รับผู้อพยพที่เพิ่งเข้ามาถึง
  • สนับสนุนการส่งกลับ – บรรดาชาติสมาชิกอียูจะเข้ามาช่วยสนับสนุนชาติสมาชิกที่ต้องรีบส่งกลับผู้ถูกปฏิเสธขอลี้ภัยเนื่องจากไม่ผ่านเกณฑ์ ในกรณีไม่ได้ดำเนินการส่งกลับภายในระยะเวลาที่กำหนด
  • ให้การสนับสนุนการปฏิบัติงานทันที
  • แต่ละชาติสมาชิกจะถูกกำหนด “ส่วนแบ่งรับผู้อพยพอย่างยุติธรรม” ตามกฎหมาย อ้างอิงจากตัวเลขครึ่งหนึ่งของ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ และ จำนวนประชากร ของชาติสมาชิกนั้นๆ

อัวร์ซูลา ฟ็อน แดร์ ไลเอิน / BBC

ข้อตกลงฉบับใหม่ยังออกแบบมาแทน กฎดับลิน (Dublin rule) ที่บังคับใช้มาหลายปีและกำหนดให้ชาติสมาชิกอียูที่ผู้สมัครขอลี้ภัยเข้าสู่ระบบครั้งแรกเป็นผู้จัดการคำขอลี้ภัยของผู้สมัครคนนั้น

มาร์การีติส ชีนัส รองประธานคณะกรรมการยุโรปจากกรีซ อธิบายว่า กฎดับลินออกแบบมาเพื่อรองรับเฉพาะผู้ขอลี้ภัยการเมืองจากประเทศเผด็จการ ซึ่งไม่ใช่สถานการณ์จริงในปัจจุบัน

อัวร์ซูลา ฟ็อน แดร์ ไลเอิน หัวหน้าคณะกรรมาธิการยุโรป ระบุว่า ข้อตกลงฉบับใหม่เป็น ทางแก้ปัญหาของยุโรปเพื่อเรียกคืนความเชื่อมั่นของพลเมืองและระหว่างชาติสมาชิกกลับมา และหยิบยกเหตุการณ์ไฟไหม้ค่ายโมเรีย ที่มีผู้อพยพและผู้ลี้ภัยมากกว่า 12,500 คน บนเกาะเลสบอสของกรีซ เมื่อต้นเดือนเดียวกันนี้ เป็นเครื่องเตือนใจว่า อียูต้องหาทางแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างยั่งยืน

ด้าน อิลวา ยูวันซอน คณะกรรมธิการกิจการภายในสหภาพยุโรป คาดไม่มีชาติใดคนพอใจกับข้อตกลงนี้ แต่คิดว่าชาติสมาชิกและรัฐสภา 27 ประเทศ จะเห็นเป็นความคุ้มค่าที่จะทำเช่นนี้

ค่ายโมเรียถูกไฟไหม้บนเกาะลอสบอสของกรีซ STR/AFP

อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงฉบับใหม่ดังกล่าวเรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์แล้ว เช่น เซบัสเทียน คูร์ซ นายกรัฐมนตรีออสเตรีย ให้สัมภาษณ์เอเอฟพี ตั้งข้อสงสัยถึงแนวคิดกระจายผู้ขอลี้ภัยไปทั่วยุโรปจะไม่เป็นไปตามนี้

ขณะที่รัฐบาลอิตาลีและกรีซต่างกล่าวโทษชาติร่ำรวยยุโรปเหนือลงมือทำไม่เพียงพอ ส่วนบรรดาชาติยุโรปกลางและตะวันออกต่างต่อต้านแสดงจุดยืนอย่างเปิดเผยต่อต้านแนวคิดรับผู้อพยพตามโควตา

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

เยอรมันพร้อมอ้าแขนรับ ผู้อพยพ 1,500 ชีวิตจากกรีซ ซับน้ำตาไฟไหม้ค่ายผู้ลี้ภัย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน