เมื่อวันที่ 3 ต.ค. เอเอฟพีรายงานความคืบหน้าวิกฤตชาวโรฮิงยาอพยพหนีภัยเข้าไปในประเทศบังกลาเทศมากกว่า 507,000 คนและยังไม่ยุติ มีอีก 10,000 คนมารอข้ามแดน ว่ามีชาวโรฮิงยาบางส่วนถูกกลุ่มผู้ฉกฉวยโอกาสจับตัวไปกักขังและเรียกเงิน ทำให้เจ้าหน้าที่บังกลาเทศต้องนำกำลังเข้าช่วยเหลือได้อีก 20 คน หลังจากสัปดาห์ก่อนช่วยไว้ได้ถึง 2,000 คน

พันตรีรุฮุล อามิน ผู้บัญชาการหน่วยปฏิบัติการพิเศษเคลื่อนที่เร็วของกองทัพบังกลาเทศกล่าวว่า ทางหน่วยนำกำลังเข้าจู่โจมและให้ความช่วยเหลือชาวโรฮิงยาจำนวน 20 คน ในจำนวนนี้มีสตรี 7 และเด็ก 8 คน ตกเป็นเหยื่อกลุ่มฉกฉวยโอกาสในเมืองค็อกซ์บาซาร์ ที่กักขังชาวโรฮิงยาไว้ เนื่องจากไม่มีเงินจ่ายค่าเรือข้ามฟากจากพม่ามายังบังกลาเทศ เจ้าหน้าที่จับกุมผู้ก่อเหตุไว้ได้ 3 คน รวมกับผู้ก่อเหตุก่อนหน้านี้ที่จับได้แล้ว 20 คน

(AP Photo/Dar Yasin, File)

วิธีการของแก๊งรีดไถนี้จะเรียกเงินหัวละ 250 ดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 8,300 บาทหลังพาชาวโรฮิงยามาถึงฝั่ง เหยื่อระบุว่าถูกกลุ่มผู้ขับเรือข้ามฟากบีบบังคับและปล้นทรัพย์สินมีค่าที่พอจะมีเหลือติดตัวไปทั้งหมด หากไม่ยินยอมก็ขู่ว่าจะโยนพวกตนลงจากเรือ แต่เมื่อมาถึงฝั่งก็ขังพวกตนไว้แล้วเรียกเก็บเงินค่าจ้างอีก

Rohingya Muslim refugees who had just arrived wait for a place to stay at Bangladesh’s Balukhali refugee camp on October 2, 2017. AFP PHOTO / FRED DUFOUR

นอกจากนี้ บังกลาเทศยังพบปัญหาการลักลอบเกณฑ์ชาวโรฮิงยาในค่ายอพยพกลับไปสู้รบกับกองทัพพม่า จากการที่กลุ่มติดอาวุธอาร์ซาพยายามใช้สถานที่ดังกล่าวเพื่อหาแนวร่วมเพิ่มเติม ฉวยโอกาสจากความโกรธแค้นของชาวโรฮิงยาที่มีต่อกองทัพพม่า สถานการณ์นี้ทำให้บังกลาเทศต้องส่งตำรวจนอกเครื่องแบบลงพื้นที่ในค่ายด้วย

AFP PHOTO / FRED DUFOUR

วันเดียวกัน เจ้าหน้าที่บังกลาเทศเปิดเผยผลการเจรจากับเจ้าหน้าที่ทางการพม่าเรื่องรับผู้อพยพกลับรัฐยะไข่ ทางพม่าที่มีนายจอ ทินต์ฉ่วย เป็นหัวหน้าคณะ แจ้งว่าจะรับเฉพาะคนที่หนีภัยออกจากประเทศตอนวิกฤตในปี 2559 เท่านั้น จาก 6 แสนคนที่อพยพตั้งแต่เดือนต.ค.ปีก่อน แต่ 5 แสนคนที่อพยพในช่วง 5 สัปดาห์มานี้ยังไม่รับกลับ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน