ผงะโรติเฟอร์ซอมบี้ทุ่งไซบีเรีย คืนชีพหลังถูกแช่แข็งมานานกว่า2.4หมื่นปี
ผงะโรติเฟอร์ซอมบี้ทุ่งไซบีเรีย – วันที่ 8 มิ.ย. ซีเอ็นเอ็นรายงานว่า แพลงก์ตอนสัตว์ หรือโรติเฟอร์ (rotifer) ชนิด เดลลอยด์ (Bdelloid) ที่นักวิทยาศาสตร์รัสเซียพบจากการศึกษาชั้นน้ำแข็งที่ทุ่งน้ำแข็งแถบไซบีเรีย ฟื้นกลับมามีชีวิตอีกครั้ง หลังถูกแช่แข็งมานานกว่า 24,000 ปี
นายสตาส มาลาวิน นักวิทยาศาสตร์จากห้องปฏิบัติการธรณีน้ำแข็งวิทยา ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์ทางด้านชีววิทยาปุชชิโน ประเทศรัสเซีย กล่าวว่า รายงานนี้เป็นสิ่งพิสูจน์ว่าสัตว์หลายเซลล์สามารถปรับตัวเพื่ออยู่รอดในสภาวะถูกแช่แข็งได้นานหลายหมื่นปี ด้วยสภาพการหยุดเจริญเติบโต (cryptobiosis) ทำให้กระบวนการเผาผลาญพลังงาน (metabolism) แทบเป็นศูนย์
รายงานการค้นพบนี้สอดคล้องกับผลการทดลองของคณะนักวิจัยอีกกลุ่มหนึ่งที่พบว่า โรติเฟอร์ สามารถมีชีวิติอยู่รอดได้ในสภาพถูกแช่แข็งนานถึง 10 ปี ขณะที่กรณีล่าสุดนั้นเมื่อนักวิจัยตรวจสอบอายุของดินในชั้นน้ำแข็งที่ขุดเจาะขึ้นมาได้กลับมาว่ามีอายุกว่า 24,000 ปี
อย่างไรก็ดี รายงานดังกล่าวไม่ใช่การค้นพบสิ่งมีชีวิตโบราณคืนชีพครั้งแรกของนักวิทยาศาสตร์ โดยที่ผ่านมาเคยมีกรณีของหญ้ามอสคืนชีพ พบในชั้นดินอายุ 1 พันปี และถูกปกคลุมด้วยน้ำแข็งมานานถึง 400 ปี
นอกจากนี้ ยังมีกรณีของดอกแคมเปียนที่งอกขึ้นมาจากเมล็ดที่กระรอกโบราณตุนไว้ในแก้มถูกแช่แข็งมานานกว่า 32,000 ปี กรณีหนอนตัวกลม หรือนีมาโทด ที่ตื่นขึ้นมาจากการหลับใหลในแหล่งน้ำ 2 แห่ง ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของแคว้นไซบีเรีย อายุกว่า 3 หมื่นปี
ไม่เฉพาะกับสัตว์เล็กๆ เท่านั้น นักวิจัยยังพบซากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น ช้างแมมมอธ และหมีถ้ำ แม้ตายไปแล้วแต่ร่างของพวกมันถูกเก็บไว้อย่างสมบูรณ์ในสภาพถูกแช่แข็ง เนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
นายมาลาวิน กล่าวว่า ความเป็นไปได้ของการที่สิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่จะสามารถเอาชีวิตรอดผ่านการถูกแช่แข็งแบบนี้นั้นน้อยมาก ส่วนกรณีล่าสุดนี้ คือ ข้อสรุปว่าสิ่งมีชีวิตหลายเซลล์สามารถถูกแช่แข็งเป็นระยะเวลาหลายพันปีและฟื้นคืนชีพกลับมาได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจ
“แน่นอนครับว่า สิ่งมีชีวิตเนี่ยยิ่งซับซ้อน ก็ยิ่งรอดยากในสภาพถูกแช่แข็ง โดยเฉพาะสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมนี่เป็นไปไม่ได้เลย แต่การวิวัฒนาการจากสัตว์เซลล์เดียวมาเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีมันสมองและระบบย่อยอาหารที่ซับซ้อนในขณะที่ตัวยังเล็กจิ๋วต้องส่องผ่านกล้องจุลทรรศน์ที่ก็ยอดเยี่ยมแล้ว”
การศึกษายังพบอีกว่า หลังจากโรติเฟอร์ฟื้นคืนชีพขึ้นมาแล้วก็สามารถกินอาหารและขยายพันธุ์ได้ตามปกติ ส่งผลให้นักวิจัยนำพวกมันไปทดลองแช่แข็ง และละลายพวกมันกลับออกมาเพื่อศึกษากลไกการเอาชีวิตรอดในสภาวะถูกแช่แข็งของพวกมัน
นักวิจัยพบว่า โรติเฟอร์เหล่านี้มีกลไกพิเศษที่สามารถทนต่อการก่อตัวของโมเลกุลคริสตัลน้ำในสภาวะเยือกแข็งได้ระหว่างที่พวกมันถุกแช่แข็งอย่างช้าๆ แม้ไม่ใช่โรติเฟอร์ทุกตัวที่จะมีชีวิตรอดจากสภาวะสุดขั้วเช่นนี้
การทดลองบ่งชี้ว่า พวกโรติเฟอร์นั้นมีกลไกบางอย่างที่ทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกันเซลล์และอวัยวะของพวกมันไม่ให้เสียหายจากอุณหภูมิเยือกแข็ง