อัชกาบัต – วันที่ 23 มิ.ย. บีบีซี รายงานผลการสำรวจค่าครองชีพประจำปี 2564 โดยเมอร์เซอร์ (Mercer) บริษัทจัดการสินทรัพย์อเมริกัน จัดอันดับ 209 เมืองทั่วโลก พิจารณาจากค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น ที่อยู่อาศัย การขนส่ง และอาหาร

REUTERS

เมอร์เซอร์ ประเมินสินค้าและบริการมากกว่า 200 รายการสำหรับรายงานดังกล่าวที่ออกแบบมาเพื่อช่วยให้บริษัทและรัฐบาลทั่วโลกพิจารณาว่า ควรจ่ายเงินแก่ลูกจ้างต่างชาติเป็นจำนวนเท่าใด

ปรากฏว่า อัชกาบัต เมืองหลวงที่มีประชากรราว 1 ล้านคน ของ เติร์กเมนิสถาน ประเทศในเอเชียกลาง ถูกจัดอันดับเป็นเมืองที่มีค่าครองชีพแพงที่สุดในโลกสำหรับชาวต่างชาติที่ไปอยู่อาศัยหรือทำงานนอกประเทศบ้านเกิด

 

อัชกาบัตโค่นแชมป์เก่าปีที่แล้วอย่าง ฮ่องกง ซึ่งปีนี้ลงมาอยู่ที่อันดับสอง ตามด้วยอันดับสาม เบรุต เมืองหลวงของ เลบานอน อันดับสี่ โตเกียว เมืองหลวงของ ญี่ปุ่น อันดับห้า ซูริก ของ สวิตเซอร์แลนด์

อันดับหก เซียงไฮ้ ของ จีน อันดับเจ็ด สิงคโปร์ อันดับแปด เจนีวา ของ สวิตเซอร์แลนด์ อันดับเก้า ปักกิ่ง เมืองหลวงของ จีน อันดับสิบ กรุงแบร์น ของ สวิตเซอร์แลนด์

ส่วนเมืองที่แพงน้อยสุดของการจัดอันดับดังกล่าวคือ บิชเคค เมืองหลวงของ คีร์กีสถาน

TDH

เมืองแพง 10 อันดับแรกของโลกตามการจัดอันดับของเมอร์เซอร์ ส่วนใหญ่ล้วนเป็นศูนย์กลางธุรกิจที่มีการเติบโตเศรษฐกิจ ส่งผลให้ราคาที่อยู่อาศัยและค่าครองชีพอื่นๆ ปรับตัวสูงขึ้นอยู่แล้ว แต่อัชกาบัตเป็นเมืองแพงที่สุดในโลก เนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจมากกว่าเศรษฐกิจเฟื่องฟู

ฌอง-ฟีลิป ซาร์รา แห่งเมอร์เซอร์ บอกเอเอฟพีว่า อัตราเงินเฟ้อในท้องถิ่นสูง เป็นปัจจัยที่ทำให้อัชกาบัตขึ้นแท่นเป็นเมืองแพงที่สูงสุดในโลก ขึ้นมาจากอันดับสองในการสำรวจของปีที่แล้ว

 

เติร์กเมนิสถาน อดีตรัฐบริวารสหภาพโซเวียต ต่อสู้กับวิกฤตเศรษฐกิจมายาวนาน ส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากตกอยู่ในความยากจน เป็นที่รู้จักในฐานะประเทศที่มีรัฐบาลเผด็จการและแหล่งก๊าซสำรองขนาดใหญ่ จึงต้องพึ่งพารายได้จากการส่งออกก๊าซธรรมไปรัสเซียอย่างมาก

ด้วยเหตุนี้ วิกฤตเศรษฐกิจของเติร์กเมนิสถานส่วนหนึ่งเกิดจากราคาก๊าซหดตัวลง จากราคาพลังงานตกต่ำทั่วโลกในปี 2557 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อและราคาอาหารสูงขึ้น

 

องค์การสิทธิมนุษยชน ฮิวแมนไรต์สวอตช์ เคยออกรายงานเมื่อเดือนก.ย.ปีที่แล้วว่า การระบาดใหญ่ของโควิด-19 ทำให้วิกฤตอาหารที่มีอยู่แล้วของเติร์กเมนิสถานรุนแรงขึ้นอีก “ปัญหาการขาดแคลนอาหารที่เร่งตัวมาตั้งแต่ปี 2559 เลวร้ายลง ผู้คนรอต่อแถวหลายชั่วโมงเพื่อซื้ออาหารไม่แพงมากขึ้น บ่อยครั้งมักกลับบ้านมือเปล่า”

แต่ถึงอย่างนั้น รัฐบาลเติร์กเมนิสถานเริ่มโครงการขยายกรุงอาชกาบัตครั้งใหญ่ในเดือนพฤษภาคม โดยประธานาธิบดีกูร์บันกูลี เบอร์ดีมูฮาเมดอฟ ผู้ครองอำนาจมายาวนาน ให้คำมั่นที่จะเปลี่ยนเมืองหลวงเป็น “เมืองหลวงเฟื่องฟูที่สุดแห่งหนึ่งของโลก”

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

เติร์กเมนิสถานคึกคัก “วันตูบ-ม้าประจำชาติ” เชิดชูสุนัขอาลาไบเป็นมรดกสำคัญ

เติร์กเมนิสถาน เปิดตัวรูปปั้นทองคำ “อาลาไบ” สุนัขพันธุ์โปรด “ท่านผู้นำ”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน