เนชั่นแนล จีโอกราฟิก – วันที่ 23 มิ.ย. ซีเอ็นเอ็น รายงานว่า เนชั่นแนล จีโอกราฟิก หนึ่งในกลุ่มผู้ทำแผนที่โดดเด่นและดีเลิศเจ้าหนึ่งของโลก ประกาศการมีอยู่ของมหาสมุทรที่ห้าของโลกอย่างเป็นทางการ เรียกว่า มหาสมุทรใต้ (Southern Ocean) เป็นแหล่งน้ำล้อมรอบทวีปแอนตาร์กติกา

ก่อนหน้านี้ เป็นที่รู้จักกันว่า ช่องแคบเกอร์ลาช (Gerlache Strait) ซึ่งเป็นการบรรจบกันบริเวณใต้สุดของมหาสมุทรแปซิฟิก มหาสมุทรแอตแลนติก และมหาสมุทรอาร์กติก มักเป็นจุดที่น่าสนใจและบางครั้งเป็นที่ถกเถียงกันสำหรับนักสมุทรศาสตร์

การตัดสินใจประกาศการมีอยู่ของมหาสมุทรแห่งใหม่เกิดขึ้นพร้อมกับการเปิดตัวโครงการแพลเน็ต พอสซิเบิล (Planet Possible) ความริเริ่มใหม่ของเนชั่นแนล จีโอกราฟิก ที่จะให้ข้อมูล สร้างแรงบันดาลใจ และเพิ่มพลังให้ผู้คน ใช้ชีวิตบนโลกใบนี้ได้ง่ายขึ้น

 

ที่มาของชื่อ

ปกติแล้ว การเปลี่ยนแปลงแผนที่โลกเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เช่น เชโกสโลวาเกีย ประเทศที่แยกออกเป็น เช็ก และ สโลวาเกีย หรือ สวาซีแลนด์ ที่ลงมติเปลี่ยนชื่อประเทศเป็น เอสวาตีนี แต่มหาสมุทรที่ห้าเป็นกรณีหายากที่ผู้ทำแผนที่พยายามเปลี่ยนแปลงโลก

อเล็กซ์ เทต นักภูมิศาสตร์แห่งเนชั่นแนล จีโอกราฟิก อธิบายว่า ทำไมแบบแผนการตั้งชื่อมีความสำคัญมาก

“ส่วนหนึ่งของการทำแผนที่โลกเป็นการใช้ชื่อสถานที่และลักษณะที่ใช้กันทั่วไปในหมู่คนที่อธิบายโลก นำไปสู่สิ่งอื่นๆ นอกจากการตั้งชื่อทางภูมิรัฐศาสตร์” และว่า “มหาสมุทรเป็นสิ่งหนึ่งในนั้น เราจึงต้องการติดตามว่า บรรดานักวิทยาศาสตร์ นักเดินทาง นักเขียน และผู้คนใช้ชื่อสถานที่อย่างไรบ้าง”

นายเทตเสริมว่า แม้ว่าความโดดเด่นของเนชั่นแนล จีโอกราฟิก ในการทำแผนที่โลกจะทำให้การประกาศอย่างเป็นทางการมีน้ำหนักมากขึ้น แต่คนอื่นๆ ใช้คำว่า มหาสมุทรใต้ มาก่อนหน้านี้แล้ว

แองเจลา ฟริตซ์ บรรณาธิการข่าวอากาศของซีเอ็นเอ็น กล่าวว่า “นักสมุทรศาสตร์คงจะดีใจที่มหาสมุทรใต้จะอยู่บนแผนที่ของเนชั่นแนลจีโอกราฟิก ฉันคิดไม่ออกว่านักวิทยาศาสตร์โลกคนไหนจะไม่เห็นด้วยกับการออกแบบแผนที่ใหม่

 

มหาสมุทรก่อตัวอย่างไร

เทตกล่าวว่า เมื่อพูดถึงการทำความเข้าใจมหาสมุทร จำเป็นต้องเริ่มด้วยพื้นฐานก่อนที่ว่า มีมหาสมุทรโลกผืนเดียวและเชื่อมต่อกันทั้งหมด

“เรากำลังพูดถึงภูมิภาคมหาสมุทรจริงๆ และตามแบบแผนมีสี่แห่ง ได้แก่ มหาสมุทรแอตแลนติก มหาสมุทรแปซิฟิก มหาสมุทรอินเดีย และมหาสมุทรอาร์กติก แต่นักวิทยาศาสตร์และคนอื่นๆ ใช้คำว่า มหาสมุทรใต้ มาหลายปีแล้ว เพื่ออธิบายพื้นที่ทางกายภาพของมหาสมุทรรอบๆ ทวีปแอนตาร์กติกา” เทตอธิบาย

แล้วมหาสมุทรใต้แตกต่างออกไปอย่างไร เทตอธิบายว่า “ออกจากน่านน้ำอุ่นกว่าในมหาสมุทรแอตแลนติก มหาสมุทรแปซิฟิก และมหาสมุทรอินเดีย ไปน่านน้ำเย็นจัดรอบๆ ทวีปแอนตาร์กติกา โดยความเค็มของน่านน้ำลดลง มีสัตว์ต่างๆ เช่น วาฬมิงค์ แมวน้ำบางชนิด เพนกวิน ปลา และนก อุดมสมบูรณ์ในมหาสมุทรใต้ตามปัจจัยแวดล้อมเหล่านั้น”

 

แรงจูงใจส่วนหนึ่งที่อยู่เบื้องหลังการตัดสินใจของเนชั่นแนล จีโอกราฟิก ในการตั้งชื่อมหาสมุทรแห่งที่ ห้า ซึ่งประกาศไปเมื่อวันที่ 8 มิ.ย. วันมหาสมุทรโลก คือการให้ชื่อสถานที่สามารถให้สถานะของชื่อได้เช่นกัน

การพูดคุยเกี่ยวกับมหาสมุทรเป็นโครงการขนาดใหญ่ และการสร้างความตระหนักเกี่ยวกับมหาสมุทรใต้ง่ายกว่าการทำเช่นเดียวกับ “พื้นที่น่านน้ำนั้น”

แม้ว่าหลายประเทศและหลายองค์กรทั่วโลกจะรับรองมหาสมุทรใต้ แต่ไม่ใช่ทุกประเทศจะเห็นด้วย โดยเนชั่นแนล จีโอกราฟิก ใช้ละติจูด 60 องศาใต้ วาดเส้นขอบน้ำมหาสมุทรใต้อย่างเป็นทางการ

อย่างไรก็ตาม ออสเตรเลียถือว่าทุกอย่างทางตอนใต้ของประเทศเป็นมหาสมุทรใต้ นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศยังมีบทบาทในการพยายามกำหนดว่า พรมแดนควรอยู่ที่ใดด้วย

 

ไปที่นั่น

ฌอง-ลูอิส เอทีแยน นักสำรวจและนักสิ่งแวดล้อมชาวฝรั่งเศส ประกาศไม่นานนี้ว่า ประดิษฐ์ห้องปฏิบัติการลอยน้ำที่ออกแบบเพื่อการศึกษามหาสมุทรใต้โดยเฉพาะ มีชื่อเล่นว่า โพลาร์พอด (Polar Pod) ไม่มีเครื่องยนต์ และจะลอยในน่านน้ำที่ความเร็วต่ำเพื่อโคจรทวีปแอนตาร์กติกาและรวบรวมข้อมูล ตามเป้าหมายของเอทีแยนที่จะทำให้เสร็จสมบูรณ์และนำไปใช้ภายในปี 2567 ทว่าน่านน้ำของมหาสมุทรใต้ยังไม่ว่างในเวลานี้

ส่วนโครงการสังเกตการณ์และจำลองคาร์บอนและภูมิอากาศมหาสมุทรใต้ (Southern Ocean Carbon and Climate Observations and Modeling: SOCCOM) โดยมหาวิทยาลัยปรินซ์ตัน ส่งหุ่นยนต์ลอยน้ำ 200 ตัว ไปในมหาสมุทรใต้ ทั้งหมดติดตั้งเซ็นเซอร์ที่วัดความเค็ม ระดับออกซิเจน คลอโรฟิลล์ และข้อมูลสิ่งแวดล้อมอื่นๆ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน